xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศปิดอ่าว 3 เดือน พร้อมปล่อยเรือตรวจประมงทะเลควบคุมพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - กรมประมง ประกาศปิดอ่าวในพื้นที่บางส่วนของประจวบฯ-ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.-15 พ.ค.56 พร้อมปล่อยเรือตรวจประมงทะเล 16 ลำ ออกควบคุมพื้นที่ปิดอ่าว 3 จังหวัด ผลการศึกษาของกรมประมงระบุ ในช่วงหลังฤดูกาลปิดอ่าวปี 55 พบมีความชุกชุมของสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นถึง 2.34 เท่าตัว โดยเฉพาะปลาทู แต่ละปีหลังจากปิดอ่าวจะได้ผลผลิตปีละไม่ต่ำกว่า 65,000 ตันต่อปี มูลค่าประมาณ 2,925 ล้านบาทต่อปี

วันนี้ (15 ก.พ.) ที่บริเวณชายทะเลอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง นายปฐม สาธิตานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานในการประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัววัยอ่อน ประจำปี 2556 ณ ชายทะเลอำเภอหลังสวน อำเภอชุมพร

พร้อมทั้งทำพิธีปล่อยเรือตรวจประมงทะเล ออกปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดที่ประกาศปิดอ่าว ทั้งนี้ มีนักเรียน นักศึกษา ยุวประมง อาสาสมัครอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ กลุ่มสมาชิกชุมชนประมงต้นแบบ ชาวประมงในพื้นที่ จ.ประจวบฯ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี พร้อมนายมานพ แจ้งกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการด้านการประมง นายแสน ศรีงาม ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการประมงทะเล นายปรีชา บริเพ็ชร หัวหน้าศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลภาคใต้ตอนบน ชุมพร ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากกรประมง จากส่วนต่างๆ พร้อมส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ศักยภาพการทำประมงในปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการจับสัตว์น้ำและการบริโภคในแต่ละปีก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน จึงทำให้ประชากรสัตว์น้ำนับวันเริ่มลดลง เนื่องจากธรรมชาติไม่สามารถผลิตได้ทัน ดังนั้น การดูแลรักษาฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำจึงถือเป็นนโยบายของกรมประมง และต้องดำเนินการทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลามีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัววัยอ่อน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันเคยชินว่า “ปิดอ่าว” มีขึ้นระหว่างวันที่ 15 ก.พ.-15 พ.ค.ของทุกปี ในพื้นที่ 26,400 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบฯ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีการกำหนดห้ามเครื่องมือทำการประมงบางชนิด

เช่น เครื่องมืออวนลากทุกชนิด ที่ใช้ประกอบเรือกล เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบเรือกลทำการประมงด้วยวิธีการล้อมติดปลาทู หรือด้วยวิธีอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน เครื่องมืออวนล้อมจับทุกชนิด เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน อวนยก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเครื่องมืออวนรุน ที่อาจส่งผลต่อการแพร่พันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์ และสัตว์น้ำวัยอ่อนในท้องทะเลอ่าวไทยโดยเฉพาะ “ปลาทู” ซึ่งนับเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่า และความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ

ด้านนายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากการประเมินทางวิชาการตามมาตรการปิดอ่าว ปี 2554-2555 กรมประมงพบว่า ปลาทูได้รับการฟื้นฟูอย่างเห็นได้ชัด มีปริมาณการจับสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนปิดอ่าวมากถึง 2 เท่าทั้ง 2 ปี โดยในปี 2554 สามารถรักษาระดับผลผลิตปลาทูทุกพื้นที่ในอ่าวไทยให้ยั่งยืนที่ระดับเฉลี่ย 100,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาทต่อปี ส่วนพื้นที่ของจังหวัด ประจวบฯ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี มีผลผลิต 65,000 ตันต่อปี มูลค่าประมาณ 2,925 ล้านบาทต่อปี

ซึ่งในช่วงระยะเวลา 3 เดือนของการประกาศปิดอ่าว ทางกรมประมงเองมีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจ มีทั้งกลุ่มประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมง และประชาชนได้ตระหนักถึงผลดีของการปิดอ่าว กลุ่มการควบคุมและปราบปราม รับผิดชอบการควบคุมตรวจปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมาย กลุ่มติดตามผลการดำเนินคดี กลุ่มประเมินผลทางวิชาการ ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อให้เกิดการทำงานที่ได้ผลมีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยในช่วงปิดอ่าวเจ้าหน้าที่ศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลภาคใต้ตอนบน ชุมพร ได้นำเรือตรวจประมงทะเลที่มีอยู่ 16 ลำ ออกไปปฏิบัติหน้าที่ควบคุมพื้นที่จุดสำคัญในพื้นที่ 3 จังหวัด เพื่อป้องกันการลักลอบทำการประมงที่ใช้เครื่องมือที่มีการประกาศห้ามทำการประมง

นายอำพล ธานีครุฑ ชาวประมงบ้านเกาะพิทักษ์ อ.หลังสวน จ.ชุมพร กล่าวว่า การปิดอ่าวส่งผลดีต่อพี่น้องชาวประมงแน่นอน และสิ่งหนึ่งคือ การทำอย่างต่อเนื่องของกรมประมง วันนี้หากไม่มีการปิดอ่าว ปริมาณสัตว์น้ำย่อมต้องลดลงเพราะการจับสูงขึ้น การบริโภคก็สูงขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การปิดอ่าวก็เพื่อให้ท้องทะเลได้มีโอกาสพัก สัตว์น้ำได้มีโอกาสวางไข่เลี้ยงตัวในวัยอ่อน ไม่ใช่เป็นการจับเพียงอย่างเดียว เพราะวันนี้หากจับขึ้นมาบริโภคแต่ไม่มีการอนุรักษ์ สัตว์น้ำในท้องทะเลก็ย่อมต้อลดลง ดังนั้น ในช่วง 3 เดือนของการปิดอ่าวกรมประมงเองจึงอยากให้ทุกคนปฏิบัติตามข้อห้ามโดยเฉพาะเรื่องของเครื่องมือทำการประมง








กำลังโหลดความคิดเห็น