xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์อนุรักษ์ฯ ภูเก็ตลงเคลียร์พื้นที่ฟื้นฟูแนวปะการังเกาะไข่ที่ถูกซีวอล์กเกอร์ทำลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลฯ ภูเก็ต พร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เกาะไข่ใน จ.พังงา เคลียร์พื้นที่กั้นแนวเขตเพื่อฟื้นฟูปะการังใหม่ หลังตรวจสอบพบพื้นที่ปะการังถูกทำลายกว่า 300 ตารางเมตร จากการเข้ามาจัดวางซีวอล์กเกอร์โดยผิดกฎหมาย

วันนี้ (8 พ.ค.) นายธเนศ มั่นน้อย ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ขวัญดี ประมงอำเภอเกาะยาว จ.พังงา ร.ต.ท.สิปปกร แก้วกาญจน์ พนักงานสอบสวน สภ.เกาะยาว จ.พังงา ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพังงา สำนักงานเทศบาลตำบลเกาะยาว เจ้าหน้าที่จากสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ สาขาภาคใต้ เขต 2 จังหวัดภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่เกาะไข่ ต.เกาะยาว อ.เกาะยาว จ.พังงา เพื่อตรวจสอบการเข้ามาดำเนินการจัดวางซีวอล์กเกอร์ของผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเล ในพื้นที่เขตรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำโดยผิดกฎหมาย

จากการตรวจสอบพบบริเวณดังกล่าวมีการทิ้งขยะจากการใช้ประโยชน์แล้ว ลงในทะเลจำนวนมาก และพบว่า มีแนวปะการังถูกทำลายจากการขุดลอกเพื่อปรับพื้นที่จัดวางซีวอล์กเกอร์ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการจะลงไปเดินดูปะการัง ประมาณ 300 ตารางเมตร และปะการังที่ถูกทำลายส่วนใหญ่จะเป็นปะการังสีน้ำเงิน

หลังจากการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ของศูนย์รักษ์ฯ ก็ได้เข้าทำการเคลียร์พื้นที่ โดยการรื้อซีวอล์กเกอร์ซึ่งเป็นราวไม้ไผ่ และเหล็กยึดออกจากพื้นที่ดังกล่าว และนำทุ่นมาวางกั้นแนวเขตที่จะเข้าทำการฟื้นฟูปะการังที่ถูกทำลายประมาณ 300 ตารางเมตร ซึ่งจะมีนักดำน้ำอาสาสมัคร นักวิชาการ จะลงมาช่วยกันฟื้นฟูปะการังในวันที่ 12 พ.ค.ที่จะถึงนี้

นายธเนศ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2556 ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน ได้เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ประกอบการ ตาม พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เกี่ยวกับเรื่องการทำลายปะการังซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครอง ไว้ที่ สภ.เกาะยาว หลังตรวจสอบพบว่า บริเวณเกาะไข่ใน อ.เกาะยาว จ.พังงา มีการบุกรุกทำลายปะการังจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้คดีก็อยู่ในระหว่างชั้นสอบสวน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ให้นโยบาย แล้วภายใต้การอำนวยการของศูนย์อนุรักษ์ฯ คือ การขอพื้นที่ที่ถูกทำลายคืน โดยเฉพาะปะการังที่ถูกทำลายไปเอามาฟื้นฟู ซึ่งวันนี้ก็มากระชับพื้นที่ในส่วนของพื้นที่ที่ถูกทำลาย และสำรวจปะการังที่ถูกทำลาย เพื่อที่จะมาดำเนินการในการฟื้นฟูทรัพยากรปะการังต่อไป ซึ่งจากการสำรวจ ทางนักวิชาการก็ได้ให้คำตอบมาว่า มีปะการังที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 800 กว่าชิ้น ก็น่าจะพอที่จะฟื้นฟูได้ เราก็จะเอาส่วนที่เสียหายที่ยังมีชีวิตอยู่กลับคืนมาให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ และหลังการฟื้นฟูจะต้องใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี ที่ปะการังเหล่านี้จะกลับมาอยู่ในสภาพเดิม เพราะว่าการเติบโตของปะการังนั้นจะช้ามาก

นอกจากนี้ นายธเนศ ยังได้กล่าวถึงปัญหาขยะด้วยว่า ปัญหาขยะตอนนี้เป็นปัญหาค่อนข้างใหญ่โตมากโดยเฉพาะการท่องเที่ยว เพราะขยะในทะเลซึ่งมีด้วยกัน 3 ประเภท คือขยะผิวน้ำ กลางน้ำ และท้องทะเล ซึ่งเป็นขยะจากการท่องเที่ยว และการทำประมง โดยในส่วนของขยะกลางน้ำเป็นขยะที่น่ากลัวมาก เพราะจะไปมีผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก ไม่ว่าจะเป็นโลมา พะยูน หรือเต่าทะเล เมื่อกินขยะเหล่านี้เข้าไปแล้วขยะไม่ย่อยก็ทำให้เกิดการเสียชีวิตในเวลาต่อมา

“ทุกเวทีที่เราจัดการประชุมเครือข่าย เราก็ปลุกจิตสำนึก จริงๆ แล้วเราให้องค์ความรู้เรื่องขยะ การท่องเที่ยวตอนนี้ที่รณรงค์ก็คือ แนะนำนักท่องเที่ยวผ่านทางมัคคุเทศก์ เมื่อไปท่องเที่ยว ขยะที่นำลงไปในทะเลหลังใช้แล้วขอให้นำกลับมาทิ้งบนฝั่ง เพราะการทิ้งในทะเลย่อมเกิดปัญหาหลายๆ อย่างตามมา ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทะเลหายากกินเข้าไป หรือว่าความสกปรกเสียภูมิทัศน์ในการท่องเที่ยว หรือทัศนะอุจาด รวมถึงในส่วนของผู้ประกอบการเรือนำเที่ยว หรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างๆ ก็ขอความร่วมมือเมื่อนำนักท่องเที่ยวไปแล้ว ขยะที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ก็ขอให้นำกลับมาทิ้งบนฝั่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องของการรณรงค์ ขณะที่เรื่องของการจัดการขยะ ถึงแม้จะเป็นปลายเหตุ แต่ทางกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ก็ตระหนักดีในเรื่องนี้ ก็ยังต้องมีการดำเนินการจัดการขยะในทะเลต่อไป” นายธเนศ กล่าว

ด้านนายวิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับพื้นที่ของเกาะไข่เป็นพื้นที่ของแนวเขตรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ ห้ามทำการประมงทุกชนิดโดยเด็ดขาด ในระยะห่างจากฝั่ง 1,000 เมตร และในส่วนของวันนี้ ที่เรามาดำเนินการร่วมกับหลายๆ หน่วยงาน ในส่วนของประมงก็จะมาร่วมในเรื่องของการใช้กฎหมายของประมง พ.ศ.2490 ถ้าเข้ามาทำความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เราก็จะดำเนินการตามข้อกฎหมายทุกเรื่อง และในส่วนของการฟื้นฟูก็จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

กำลังโหลดความคิดเห็น