เสื้อแดงเหิมเตรียมแถลงกระชับพื้นที่ศาลรัฐธรรมนูญ 2 ทุ่ม ยื่น ป.ป.ช.ตรวจสอบการทำงาน 9 ตุลาการแล้ว แต่ยังไม่ยื่นรายชื่อ ด้านศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารข่าวแจงร้องกองปราบฯ เอาผิดแกนนำ ชี้ปราศรัยไม่สุจริต-เกลียดชัง-ยั่วยุปลุกระดมมวลชน จี้ ผบ.ตร.ดำเนินการตามกฎหมาย
วันนี้ (26 เม.ย.) เมื่อเวลา 15.30 น. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารข่าวเรื่อง “การร้องทุกข์กล่าวโทษแก่กลุ่มบุคคล” ระบุว่า ตามที่ได้มีกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งมาชุมนุมที่บริเวณหน้าที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถ.แจ้งวัฒนะ ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.จนถึงปัจจุบัน โดยมีและใช้เครื่องเสียงกล่าวพาดพิงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดของกลุ่มบุคคลดังกล่าวมิได้อยู่บนพื้นฐานการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ทำให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และมีพฤติการณ์เป็นการยั่วยุปลุกระดมมวลชน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามแล้ว เพื่อดำเนินคดีแก่ผู้นำมวลชนดังกล่าว ทั้งนี้ได้แจ้งให้ ผบ.ตร.พิจารณาดำเนินการเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่สำนักงานฯ จะออกเอกสารข่าวดังกล่าว มีกระแสข่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีการแถลงข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้สื่อมวลชนจำนวนมากเดินทางมารอ แต่สุดท้ายก็มีการเผยแพร่เป็นเอกสารข่าวแทน
ขณะที่แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเสนอให้ปรับเปลี่ยนโครงระบบการทำงานภายในองค์กรสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีการปรับเปลี่ยนระบบให้ดีขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งดูได้จากสำนวนคดีที่เข้ามายังศาล ได้ดำเนินการพิจารณาให้เสร็จสิ้น ตามขั้นตอนของระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการบริหารจัดการงานคดี พ.ศ. 2555 จนปัจจุบันทำให้คดีที่ค้างในศาลนั้นน้อยลง อีกทั้งหากพบว่ากฎ ระเบียบในการทำงานส่วนใดไม่มี ก็จะยกร่างกฎร่างระเบียบขึ้นมาเพื่อให้สอดรับกับการทำงานให้เป็นระบบ ขณะที่เรื่องโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการกำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่อยากแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ เพราะถ้าจะแก้ ต้องแก้ที่กฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องของภายนอก ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับศาลรัฐธรรมนูญ จะว่าอย่างไรก็ปล่อยให้ว่ากันไป
สำหรับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในนามกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อกดดันให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันทียังคงมีอยู่ต่อเนื่องเป็นปกติ มีแกนนำสลับกันขึ้นเวทีปราศรัยปลุกระดมมวลชนให้มารวมตัวกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการส่งตัวแทนเดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน โดยยังไม่มีการยื่นเรื่องพร้อมรายชื่อประชาชน 2 หมื่นคนเพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
โดยนายมาลัยรักษ์ ทองชัย หรือศรรักษ์ มาลัยทอง โฆษกกลุ่มฯ กล่าวว่า ที่เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ก็เนื่องมาจากการทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมาองค์กรตุลาการกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย โดยองค์กรตุลาการ ไม่ได้ดำรงอยู่ในฐานะคนกลางที่สามารถทำให้ทุกฝ่ายยอมรับนับถือได้ เห็นได้จากที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกมายอมรับเรื่องการจัดทำคำวินิจฉัยกรณีชิมไปบ่นไปว่าเป็นไปแบบรวบรัด ดังนั้นจึงถือว่าการทำคำวินิจฉัยและวิธีการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีและการทำคำวินิจฉัย 2550 ข้อ 54 ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่ออำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ เป็นการกระทำที่ขัดต่อคุณธรรมจริยธรรมของตุลาการอีกด้วย
ทั้งนี้ หลังจากยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ทางกลุ่มสื่อวิทยุฯ ได้เดินทางกลับมาสบทบที่บริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ และในเวลา 20.00 น.แกนนำจะขึ้นเวทีประกาศจุดยืนพร้อมอ่านแถลงการณ์เพื่อนำมวลชนเข้ากระชับพื้นที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ทีกลุ่มผู้มาชุมนุมกดดันหน้าศาลนั้น คณะตุลาการก็ยังคงเดินทางมาทำงานตามปกติ ซึ่งไม่มีตุลาการคนใดแสดงอาการหวั่นไหวหรือหวาดกลัวผู้ชุมนุม ประกอบกับเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังคงทำงานตามปกติเช่นกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 2 กองร้อย คอยดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และมีการนำรถผู้ต้องขังมาเตรียมไว้
ต่อมาเวลา 16.30 น. นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือ เล็ก บ้านดอน เจ้าของสถานีวิทยุคนไทยหัวใจเดียวกัน ในฐานะประธานกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และแกนนำ ได้อ่านแถลงการณ์กรณีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีแกนนำ ว่า การดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นการกระทำที่เลวร้าย ไม่มีความเป็นธรรม เพราะการชุมนุมของกลุ่มฯ ก็เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญที่มีที่มาไม่ชอบธรรมได้พิจารณาตัวเอง ซึ่งจากนี้ไปทางกลุ่มยึดอารยะขัดขืนในการชุมนุมกดดัน 9 ตุลาการ และเตรียมจัดตั้ง สน.ประชาชน เพื่อเตรียบจับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน เนื่องจากทางกลุ่ม กวป. ไม่ยอมรับอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการแต่งตั้งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทางกลุ่ม กวป. จะขับเคลื่อนและสู้กันต่อไปจนกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมทั้ง 9 คน จะลาออก อย่างไรก็ตามในส่วนที่ศาล รธน.ต้องการให้แกนนำไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็เห็นว่า คณะตุลาการต้องไปรายงานตัวในคดีที่ประชาชนได้แจ้งความไปก่อนหน้านี้เสียก่อน
เมื่อเวลา 20.00 น. นายศรรักษ์ มาลัยทอง โฆษกกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) อ่านแถลงการณ์ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญแจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าคณะกรรมการ กวป. ไม่ยอมรับการใช้อำนาจของศาลที่ได้มาโดยไม่สุจริต จากนี้ไปทางกลุ่ม กวป. จะล่ารายชื่อประชาชนเพื่อเข้าชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ตามกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติ
นายศรรักษ์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้คณะกรรมการ กวป. จะใช้สิทธิ์แจ้งความดำเนินคดีกลับ และจะปักหลักชุมนุมยืดเยื้อไปจนกว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะยอมหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่หากยังไม่ยุติบทบาทก็จะปิดล้มพื้นที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้คณะตุลาการเข้าศาลรัฐธรรมนูญได้ รวมถึงจะยกระดับกดดันไปตามจุดทุกที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ ส่วนจะขยายพื้นที่การชุมนุมหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้เข้าร่วมชุมนุมว่ามากน้อยเพียงใด หากจำนวนผู้ชุมนุมมีมากก็อาจจะต้องขยายเข้าไปบริเวณพื้นที่ของศาลรัฐธรรมนูญเรื่อย ๆ