ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรมเจ้าท่าใช้งบประมาณกว่า 15 ล้านบาท จัดทำโครงการระบบควบคุมการจราจรทางน้ำ ด้วยการติดตั้งเสารับสัญญาณจีพีเอสจากเรือยอชต์ที่เข้าภูเก็ตทุกลำ หวังตรวจสอบตำแหน่งที่อยู่ของเรือแต่ละลำขณะอยู่ในภูเก็ต ป้องกันทำผิดกฎหมายในน่านน้ำไทย
วันนี้ (8 พ.ค.) นายจำเริญ ทิพญพงษ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะทำงานจัดทำ และควบคุมการใช้งานระบบบริการจัดการจุดตรวจเข้าออกและควบคุมเรือยอชต์ท่าเทียบเรือฉลอง จังหวัดภูเก็ต โดย นาวาเอกกฤษฎา รัตนสุภา รอง กอ.รมน.จังหวัดภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายธำรงค์ ทองตัน ธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต นายสาคร ปู่คำ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต ตัวแทนจากตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ต ด่านศุลการภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
ทั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการควบคุมและการใช้งานระบบบริหารจัดการจุดตรวจเข้าออก และควบคุมเรือท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง จ.ภูเก็ต เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตกำหนดให้บริเวณท่าเรืออ่าวฉลองเป็นจุดในการให้บริการเรือยอชต์แบบ One Stop Service หรือบริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งเจ้าท่า ด่านศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เรือยอชต์ที่เข้ามาภูเก็ต ปีละกว่า 3,000 ลำ
โดยนายสาคร ปู่คำ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต ได้รายงานถึงความคืบหน้าโครงการระบบควบคุมการจราจรทางน้ำ ที่ทางกรมเจ้าท่าได้รับการจัดสรรงบประมาณจาก ครม.สัญจร จ.ภูเก็ต ปี 2555 มาดำเนินการโครงการ ว่า โครงการระบบควบคุมจราจรทางน้ำของจังหวัดภูเก็ตนั้น เป็นโครงการที่จะมีการติดตั้งเสารับสัญณาณจีพีเอสในเรือยอชต์ที่เข้ามาภูเก็ตทุกลำ ซึ่งจะติดตั้ง 3 จุดด้วยกัน คือ ที่อ่าวฉลอง พื้นที่ป่าตอง และพื้นที่ถลาง โดยมีศูนย์ควบคุมอยู่ที่ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณจีพีเอสที่อยู่ในเรือยอชต์ โดยหลักการทำงานนั้น เมื่อเรือยอชต์เข้ามาภูเก็ตก็จะต้องไปรายงานตัวที่จุดควบคุมเรือที่อ่าวฉลอง ทางหน่วยงานรับผิดชอบก็จะมอบจีพีเอสให้แก่เจ้าของเรือเพื่อนำไปติดตั้งในเรือยอชต์ โดยการวางเงินค้ำประกัน เมื่อเรือยอชต์จะออกจากภูเก็ตเจ้าของเรือก็จะต้องนำมาคืนพร้อมกับรับเงินประกันไป ระบบดังกล่าวจะทำให้ทราบว่าเรือยอชต์ที่เข้ามาภูเก็ตไปอยู่ ณ จุดใดบ้าง
โดยขณะนี้ ทางกรมเจ้าท่าได้ทำสัญญาการติดตั้งเสารับสัญญาณจีพีเอสกับทางบริษัท เอส ดี เอ กรุ๊ป ไปแล้ว โดยสัญญาจะสิ้นสุดในวันที่ 22 ตุลาคม 2556 นี้ ด้วยงบประมาณดำเนินการ 15,092,200 บาท
นอกจากนี้ ทางกรมเจ้าท่าได้มอบหมายให้ บริษัท โกลด์เด้นแพลน จำกัด ทำการศึกษาออกแบบรายละเอียดเขื่อนกันคลื่นที่บริเวณอ่าวฉลอง เพื่อไม่ให้คลื่นซัดกระแทกเรือยอชต์ที่จอดอยู่ในบริเวณทุ่นจอดเรือยอชต์ที่ทางกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว ที่สามารถจอดเรือยอชต์ขนาดไม่เกิน 60 ตันกรอส ได้ประมาณ 44 ลำ รวมทั้งในส่วนของทุ่นจอดเรือก็จะมีการซ่อมแซมอีกด้วย โดยคาดว่าทุ่นจอดเรือจะสามารถให้เรือยอชต์เข้ามาจอดได้ภายในกลางปี 2558 นี้
นายสาคร รายงานต่อว่า จำนวนเรือยอชต์ที่เข้ามาภูเก็ตเดือนละประมาณ 250-300 ลำ หรือประมาณปีละ 3,000 ลำ โดยเรือยอชต์เหล่านั้นเมื่อมารายงานตัวต่อนักท่องเที่ยวแล้วก็จะไปจอดตามมารีน่าของเอกชนในภูเก็ตที่ขณะนี้มีอยู่หลายแห่งด้วยกัน
ขณะที่ นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ทาง อบจ.ต้องการให้ทางเจ้าท่ารายงานจำนวนเรือยอชต์ที่เข้าออกภูเก็ตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ เพื่อที่จะได้เตรียมความพร้อมรองรับ อย่างกรณีของ อบจ.ภูเก็ตจะได้เตรียมพร้อมในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่บริเวณท่าเทียบเรืออ่าวฉลองที่ อบจ.บริหารจัดการอยู่ เพราะในแต่ละเดือน อบจ.สามารถจัดเก็บค่าใช้บริการเดือนละล้านกว่าบาท
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าการดำเนินการทุ่นจอดเรือ และเขื่อนกันคลื่นจะแล้วเสร็จอีก 2 ปีกว่า ในช่วงที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น อยากจะให้ทางกรมเจ้าท่าดำเนินการจัดทำทุ่นเพื่อให้เรือยอชต์สามารถเข้ามาจอดเทียบท่าได้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจค้นเรือได้สะดวกหากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น รวมทั้งให้ทางเจ้าท่าฯ ภูเก็ตจัดระเบียบเรือที่จอดบริเวณอ่าวฉลองให้แก่ทุ่นจอดเรือที่เจ้าท่าดำเนินการอยู่ในขณะนี้ด้วย