xs
xsm
sm
md
lg

ไข้เลือดออกระบาดภูเก็ต! หลังยอดผู้ป่วยพุ่งสูงถึง 431 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - โรคไข้เลือดออกยังระบาด หลังยอดผู้ป่วยเพิ่มสูงถึง 431 ราย ขณะที่ผู้ว่าฯ ภูเก็ต ห่วงกลุ่มเสี่ยงเด็กประถม และมัธยม สั่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่คุมเข้ม เน้นช่วงเปิดเทอมเป็นพิเศษ พร้อมรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

วันนี้ (1 พ.ค.) นพ.กฤษณ์ สกุลแพทย์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการดำเนินการรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศยังน่าเป็นห่วง พบผู้ป่วยทุกจังหวัด ยอดป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-28 เม.ย.2556 จำนวน 26,067 ราย เสียชีวิต 33 ราย คิดเป็นร้อยละ 60 ประกอบไปด้วย นักเรียนระดับชั้นประถม และมัธยม ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตพบ 1 ใน 3 มารักษาล่าช้า และคาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงขึ้นอีกเมื่อเปิดเทอมเดือน พ.ค.-ส.ค.2556 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลระบาดของโรคไข้เลือดออก

“สำหรับจังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 เม.ย.2556 มีรายงานผู้ป่วยยืนยันไข้เลือดออกจากเดิม 300 กว่าราย เพิ่มเป็น 431 รายแล้ว โดยผู้ป่วยจะกระจายอยู่ทุกอำเภอ และทุกตำบล โดย อ.กะทู้ มีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมา อ.ถลาง และ อ.เมือง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ผู้ป่วยในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เรียกประชุมสั่งการให้ทุกหน่วยงาน ทุกพื้นที่เข้มข้นการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยใช้กลยุทธ์ “3 วัน รุกรบ 3 สัปดาห์ เร่งรัด 3 เดือน รณรงค์” เริ่มดีเดย์ 3 วันแรก ระหว่างวันที่ 24-26 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ค้นพบผู้ป่วยมีไข้ พบจำนวน 235 ราย ทุกรายได้รับยาทากันยุงป้องกันการแพร่ระบาด และเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2556 ผู้ว่าฯ ภูเก็ต ร่วมลงพื้นที่รณรงค์ให้ชุมชนถนนถลาง เขตเทศบาลนครภูเก็ต พร้อมด้วยนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข คณะกรรมการชุมชน” นพ.กฤษณ์ กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ ทางผู้ว่าฯ ภูเก็ตได้เน้นย้ำหน่วยงานสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุข โรงเรียน สถานประกอบการ และทุกภาคส่วนส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างจริงจัง โดยสร้าง “คุณ นะ ทำ” ให้เป็นกิจนิสัย ได้แก่ 1.ปิด ภาชนะน้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่ 2.เปลี่ยน น้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำยุงลายที่จะกลายเป็นยุง 3.ปล่อย ปลาหางนกยูง หรือปลากินลูกน้ำลงในอ่างบัว หรือที่กักเก็บน้ำไม่มีฝาปิด 4.ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย 5.ปฏิบัติ เป็นประจำจนเป็นนิสัย และ 1 ข. ขัดภาชนะที่ใช้กักเก็บน้ำ เพื่อทำลายไข่ยุงลายที่เกาะติดกับภาชนะน้ำขังต่างๆ ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ภูเก็ต ยังห่วงใยช่วงเปิดภาคเรียนอาจมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เน้นย้ำก่อนเปิดเรียน 7 วัน เร่งสำรวจทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในโรงเรียน

นอกจากนี้ นพ.กฤษณ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ ภูเก็ต กล่าวกำชับให้ทุกฝ่ายร่วมมือรณรงค์สร้างความตระหนักให้ประชาชนเห็นถึงภัยร้ายของโรคไข้เลือดออก ต้องร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน ชุมชน เพื่อตัดวงจรการแพร่โรคก่อนเข้าสู่ฤดูฝน รวมทั้งประชาชนต้องป้องกันตนเองไม่ให้ยุงลายกัด โดยการนอนในมุ้ง การใช้ยาทากันยุง เป็นต้น หากสงสัยว่าบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก โดยมีไข้สูงลอยเกิน 38.5 องศาเซลเซียส นานเกิน 2 วัน หรือหน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา เบื่ออาหาร อาเจียน มีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ ให้รีบไปพบแพทย์ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแก้ไข้ปวดเมื่อย เพราะจะทำให้มีเลือดออกในอวัยวะภายในอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น