xs
xsm
sm
md
lg

ไข้เลือดออกภูเก็ตระบาดหนักตายแล้ว 1 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ว่าฯ ภูเก็ต สั่งเข้มลดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก หลังพบผู้ป่วยสูงขึ้นมากในช่วง 3 เดือน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย พบพื้นที่ ต.ไม้ขาว ต.ป่าคลอก อ.ถลาง ระบาดหนัก

วันนี้ (22 เม.ย.) ที่ห้องประชุมอาคารศูนย์ประชุมกลุ่มจังหวัด ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในการประชุมเร่งรัดมาตรการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีนายแพทย์บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหาร/ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุม โดยนายไมตรี กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกระดับประเทศ ปีนี้คาดว่ามีความรุนแรง ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-17 เมษายน 2556 พบผู้ป่วยทุกจังหวัด จำนวน 22,495 ราย อัตราป่วย 35.4 ต่อแสนประชากร เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1,000-1,500 ราย ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2555 ถึง 4 เท่าตัว เสียชีวิต 25 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.11 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน และวัยเรียน

สำหรับจังหวัดภูเก็ต ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรค ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต มีรายงานผู้ป่วยยืนยันไข้เลือดออก จำนวน 323 ราย ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2555 ถึง 6.4 เท่าตัว อัตราป่วย 93.6 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 1 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.31 ผู้ป่วยกระจายทุกอำเภอทุกตำบล อำเภอถลาง มีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาอำเภอกะทู้ และอำเภอเมือง ผลการสุ่มสำรวจลูกน้ำยุงลาย พบมีลูกน้ำยุงลายในภาชนะน้ำขังในบ้าน และบริเวณบ้านสูงเกินเกณฑ์ทุกพื้นที่ บ่งบอกว่าบ้านของคนภูเก็ตจำนวนมากเป็นที่พักอาศัยของยุงลาย ซึ่งเป็นพาหนะนำโรคไข้เลือดออกมาสู่คน

นายไมตรี กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ขอให้หน่วยงาน ชุมชน และทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเข้มแข็ง โดยใช้กลยุทธ์ “3 วัน 3 สัปดาห์ 3 เดือน” กล่าวคือ ให้ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก เพื่อสกัดการแพร่เชื้อภายใน 3 วัน เมื่อมีรายงานผู้ป่วยให้เร่งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และยุงตัวแก่ติดต่อกันภายใน 3 สัปดาห์ และให้ทุกภาคส่วนร่วมรณรงค์เข้มข้นต่อเนื่องจนครบ 3 เดือน

โดยกำหนดดีเดย์ 3 วันแรก ในวันที่ 24-26 เมษายน 2556 และการสร้างนิสัย “คุณ นะ ทำ” ด้วยมาตรการ “5 ป 1 ข” อย่างต่อเนื่อง จะสามารถลดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก และทำให้ชุมชนปลอดลูกน้ำยุงลาย และห่างไกลจากโรคไข้เลือดออกได้อย่างยั่งยืน สำหรับมาตรการ “5 ป 1 ข” ได้แก่ 1.ปิดภาชนะน้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่ 2.เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง 3.ปล่อยปลาหางนกยูง หรือปลากินลูกน้ำลงในอ่างบัวหรือที่กักเก็บน้ำไม่มีฝาปิด 4.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย 5.ปฏิบัติ เป็นประจำจนเป็นนิสัย และ 1 ข. ขัดล้างไข่ยุงที่ติดอยู่กับภาชนะใส่น้ำที่รอฟักตัวกลายเป็นลูกน้ำ

ด้านนายแพทย์บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับการป้องกันตัวเองนั้น ขอให้ประชาชนป้องกันตัวเองโดยการระวังไม่ให้ยุงลายกัดทั้งคนปกติและคนป่วย โดยการใช้ยาทากันยุง หรือใช้กลิ่นของสมุนไพรไล่ยุง เช่น ตะไคร้หอม และบ้านติดมุ้งลวด เป็นต้น หากสงสัยว่าบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก โดยมีไข้สูงลอยเกิน 38.5 องศาเซลเซียส นานเกิน 2 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร อาเจียน มีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ ให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแก้ไขสูง ยาแก้ปวดเมื่อย เพราะจะทำให้มีเลือดออกอยู่ภายในอวัยวะของร่างกายอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้

นายแพทย์บัญชา กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุด ในขณะนี้ ประกอบด้วย ต.ป่าคลอก ต.ไม้ขาว อ.ถลาง โดยทางสำนักงานธารณสุขได้มอบให้ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ลงไปรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน ในการป้องกัน และการจำกัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย พร้อมทั้งให้ฉีดพ่นยาเพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายต่อไปด้วย

 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น