xs
xsm
sm
md
lg

ไทยร่วมจัดงานวันมาลาเรียโลกแนะใช้ตะไคร้หอมกันยุงกัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงสาธารณสุข ชักชวนภาครัฐและเอกชนร่วมลงทุนป้องกันควบคุมโรคมาลาเรีย เนื่องในวันมาลาเรียโลก แนะนำประชาชนป้องกันตนเองจากการถูกยุงก้นปล่องกัด ด้วยการใช้ตะไคร้หอม ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ ที่หาวัสดุได้ในท้องถิ่น เพื่อลดการป่วยและตายจากโรคมาลาเรีย

วันนี้ (21 เม.ย.) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันที่ 25 เมษายน 2556 เป็นวันมาลาเรียโลก สำหรับในปีนี้มีคำขวัญว่า “Invest in the future : Defeat Malaria” ถอดความเป็นภาษาไทยว่า “ร่วมลงทุนเพื่ออนาคตที่สดใส ร่วมใจเอาชนะมาลาเรีย” ขณะนี้ทั่วโลกมีความก้าวหน้าในการต่อสู้กับโรคมาลาเรีย ไม่ว่าเป็นการพัฒนาเครื่องมือและวิธีการใหม่ๆ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนลงทุนด้านการเงินจากภาคส่วนต่างๆ ในการป้องกันควบคุมโรคมาลาเรีย ซึ่งส่งผลให้การป่วยและการตายจากโรคมาลาเรียลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยใช้กลยุทธสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.ควบคุมโรคมาลาเรียในประเทศที่มีภาระโรคสูง เพื่อลดการป่วยและตาย 2.กำจัดโรคมาลาเรียในประเทศที่มีภาระโรคน้อย เพื่อลดการแพร่โรคมาลาเรีย และ 3.ลงทุนให้งบประมาณแก่งานวิจัยและพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยต่อสู้กับโรคมาลาเรีย เพื่อก้าวไปข้างหน้าก่อนเชื้อมาลาเรียดื้อยาและยุงพาหะจะดื้อสารเคมีจนควบคุมได้ยาก
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์มาลาเรียทั่วโลก ขณะนี้มีการแพร่เชื้อมาลาเรียใน 104 ประเทศ แต่ละปีมีผู้ป่วยประมาณ 300 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนประเทศไทย จากรายงานของระบบเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-5 เมษายน 2556 พบผู้ป่วยชาวไทย 2,444 ราย (ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว) ผู้ป่วยต่างชาติ 2,169 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว) การแพร่เชื้อมาลาเรียส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ไทย-กัมพูชา และไทย-ลาว ส่วนจังหวัดที่พบผู้ป่วยมาลาเรียจำนวนมากมี 22 จังหวัด ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี สระแก้ว จันทบุรี ตราด ชลบุรี ระยอง ชุมพร เพชรบุรี ราชบุรี ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ พังงา สุราษฎร์ธานี และสงขลา

ด้าน ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในโอกาสวันมาลาเรียโลก 25 เมษายน ที่จะมาถึงนี้ ประเทศไทยได้ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนรู้จักวิธีการป้องกันและควบคุมโรคมาลาเรีย โดยเน้นลดการสัมผัสระหว่างคนและยุง สำหรับโรคมาลาเรียนี้ จะมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค และยุงชนิดนี้สามารถบินได้ไกลประมาณ 1 กิโลเมตร แหล่งเพาะพันธุ์ของยุงก้นปล่อง ส่วนมากพบในจังหวัดชายแดนประเทศไทยที่มีบริเวณเป็นภูเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติหรือเขาชันลาดเอียงมีลำธาร โดยยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรีย กัดและปล่อยเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดคน หลังจากนั้นประมาณ 10-14 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก รู้สึกสบายแล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง ให้คิดว่าอาจเป็นโรคมาลาเรีย ขอให้รีบไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้าน เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็ว เพราะหากช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะสีดำ ไตล้มเหลว ปอดบวมน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้

ขอแนะนำประชาชนให้นอนกางมุ้งและป้องกันไม่ให้ยุงกัด เช่น การสวมเสื้อปกปิดร่างกายให้มิดชิด การใช้ยาทากันยุง หรือยาจุดกันยุง เป็นต้น หากเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง หรืออยู่ในป่าเขา ให้ใช้มุ้งชุบสารเคมี ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ยุงเป็นอัมพาตและตายในระยะเวลาอันสั้น แต่มุ้งนี้ไม่เป็นอันตรายต่อคน อีกวิธีที่ทำได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง คือ การใช้ต้นตะไคร้หอม โดยนำต้นที่มีขนาดยาวพอเหมาะ 2 ต้น มาพันรอบเอวคล้ายเข็มขัด ก่อนจะออกไปทำงานหรือไปกรีดยางในสวนยางพารา ซึ่งตะไคร้หอมนี้มีฤทธิ์สามารถกันยุงได้ ที่สำคัญเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และเมื่อป่วยต้องรีบมาเจาะเลือดตรวจหาเชื้อและขอให้กินยาหรือฉีดยาจนครบ เพื่อให้หายขาดและป้องกันเชื้อดื้อยาด้วย หากสงสัยอาการของโรคมาลาเรีย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร.0 2590 3333” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น