กรมวิทย์-จุฬาฯ วิจัยพบยุงลายถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก โดยไม่จำเป็นต้องไปนำเชื้อจากผู้ป่วย แนะป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัดดีที่สุด
กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยพบว่าทุกภาคของประเทศไทย ยุงที่ติดเชื้อไข้เลือดออกมีทั้งยุงลายบ้านและยุงลายสวน โดยเฉพาะภาคใต้ยุงติดเชื้อสูงสุด พบทุกซีโรทัยป์ และแหล่งเพาะพันธุ์สำคัญ คือวัสดุเหลือทิ้งที่ขังน้ำฝน อยู่นอกชายคาบ้าน ยากที่จะควบคุม และยังพบอีกว่ายุงลายมีการถ่ายทอดเชื้อจากแม่ยุงไปสู่ลูกได้ในสภาพธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องไปนำเชื้อจากผู้ป่วย แนะป้องกันตัวเองและคนในครอบครัวไม่ให้ยุงกัดโดยใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงที่มีประสิทธิภาพดี หรือใช้สมุนไพรไทยที่มีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีสารออกฤทธิ์ป้องกันยุงกัด
นายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้แม้ยังไม่เข้าสู่ฤดูฝน แต่จากข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในปีนี้จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าทุกปี ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข โดย นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเด็กเล็กและให้ทุกหน่วยงานในสังกัดบูรณาการ ความร่วมมือกัน เน้นย้ำให้ลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิต เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับ เรื่องการดูแลป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัด เพื่อห่างไกลจากโรคไข้เลือดออก รวมถึงชุมชนจะต้องมีส่วนร่วม จัดการสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนและบ้านเรือนที่พักอาศัยของตนเองให้ดีจะได้ไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก อย่างไรก็ตาม ยุงที่เป็นพาหะสำคัญไม่เฉพาะยุงลายบ้าน แต่พบยุงลายสวนด้วย แหล่งเพาะพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่นอกบ้านและในภาชนะที่มีน้ำขัง และจากผลงานวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าทุกภาคของประเทศไทย ยุงที่ติดเชื้อไข้เลือดออก มีทั้งยุงลายบ้านและยุงลายสวน โดยเฉพาะภาคใต้ยุงติดเชื้อสูงสุดพบทุกซีโรทัยป์ อัตราการติดเชื้อในยุงลายบ้านร้อยละ 38 และยุงลายสวนร้อยละ 24 แหล่งเพาะพันธุ์สำคัญคือวัสดุเหลือทิ้งที่ขังน้ำฝน อยู่นอกชายคาบ้าน ยากที่จะควบคุม และผลงานวิจัยยังพบอีกว่ายุงลายมีการถ่ายทอดเชื้อจากแม่ยุงไปสู่ลูกได้ในสภาพธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องไปนำเชื้อจากผู้ป่วย
นายแพทย์นิพนธ์ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่จำเป็นที่สุดขณะนี้ คือการป้องกันตัวเองและคนในครอบครัว ไม่ให้ยุงกัดโดยใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงที่มีประสิทธิภาพดี ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ISO 17025 สำหรับตรวจประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ป้องกันการกัดของยุง พบว่า สารออกฤทธิ์ที่ดีที่สุดในช่วงการระบาดคือ ดีท (deet) หรือไดเอททิล ทูลูอาไมล์ (diethyl toluamide) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้ป้องกันโรคที่นำโดยแมลง โดยใช้ได้ในเด็กที่อายุเกิน 4 ขวบ เพราะเด็กเล็กทาแล้วจะรู้สึกร้อนที่ผิว สำหรับเด็กเล็กให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารออกฤทธิ์ชนิดไออาร์หรือ IR-3535 ซึ่งป้องกันยุงได้ดีเช่นกันแต่ให้ระวังอย่าใช้ผลิตภัณฑ์ที่เก็บไว้เป็นเวลานานหลังจากผลิต เพราะความคงทนสู้ดีทไม่ได้ เนื่องจากเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบสารจากธรรมชาติที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (Environmental Protection Agency) หรือ อีพีเอ อนุญาตให้ใช้ในเด็กตั้งแต่ 6 เดือนได้
นายแพทย์สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถ นำสมุนไพรไทยมาใช้ทาป้องกันยุงกัดได้ สำหรับสารออกฤทธิ์ที่เป็นสมุนไพร หากเป็นสารชนิดเดียว เช่น น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอมต้องทาซ้ำทุกครึ่งชั่วโมงเนื่องจากป้องกันยุงลายได้น้อยกว่ายุงรำคาญ ซึ่งเป็นยุงกลางคืน และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรต้องมีสารเสริมฤทธิ์และสารที่ช่วยให้ติดทนนาน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ศึกษาวิจัยพบว่าการใช้สมุนไพรหลายชนิดรวมกันจะให้ผลในการป้องกันยุง ได้ดีกว่าชนิดเดียว สมุนไพรส่วนที่ออกฤทธิ์เป็นน้ำมันหอมระเหยจึงหมดฤทธิ์เร็วกว่าสูตรที่เป็นดีทหรือ ไออาร์และต้องให้ความรู้กับประชาชนว่าการขยี้ ตี ตำ หรือปลูกตะไคร้หอมรอบบ้านป้องกันยุงกัดไม่ได้ ต้องนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยและทำเป็นสูตรตำรับเฉพาะจึงจะป้องกันไข้เลือดออกได้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดพิมพ์ข้อมูลจากงานวิจัยสมุนไพรป้องกันกำจัดแมลงทางการแพทย์เป็นเล่ม ประชาชนหรือผู้ที่สนใจสามารถขอรับได้ที่ ดร.อุษาวดี ถาวระ ฝ่ายชีววิทยาและนิเวศวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0 2951 0000 ต่อ 99244-5