xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกระบี่เตือนเกษตรกรระวังด้วงแรดระบาดทำลายต้นปาล์ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระบี่ - เกษตรจังหวัดกระบี่ เตือนเกษตรกรโค่นปาล์มเก่าปลูกปาล์มใหม่ทดแทน ระวังด้วงแรดระบาด ทำลายต้นปาล์ม

นายวีระศักดิ์ เกิดแสง เกษตรจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า ทางเกษตรจังหวัดกระบี่ ได้ประกาศเตือนพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันที่โค่นล้มปาล์มน้ำมันเก่าเพื่อปลูกปาล์มใหม่ทดแทน ให้เฝ้าระวังการระบาดของด้วงแรด โดยต้นปาล์มน้ำมันที่โค่นล้มจะเป็นแหล่งสำหรับขยายพันธุ์ของด้วงแรดได้ หากมีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง และเหมาะสม โดยด้วงแรดจะผสมพันธุ์ และวางไข่ในซากต้นปาล์มน้ำมันที่โค่นล้ม และวางกองรวมกัน เมื่อถึงระยะตัวเต็มวัย ด้วงแรดก็จะออกไปกัดกินปาล์มน้ำมันของเกษตรกรทำให้เกิดความเสียหายแก่ต้นปาล์มน้ำมันได้

เกษตรจังหวัดกระบี่ กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการระบาดของด้วงแรดขอให้เกษตรกรออกสำรวจแปลงปลูกปาล์มน้ำมันอย่างสม่ำเสมอ และหากพบการระบาดให้รีบกำจัดทันที โดยที่ลักษณะการทำลายของด้วงแรด ตัวเต็มวัยจะบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบ ทำให้ทางใบหักง่าย และหากกัดเจาะทำลายยอดอ่อน ทำให้ทางใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดเป็นริ้วๆ คล้ายรูปสามเหลี่ยม ถ้าโดนทำลายมากจะทำให้ใบที่เกิดใหม่แคระแกร็น และรอยแผลที่ถูกด้วงแรดกัดจะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ ซึ่งจะทำให้เกิดโรคยอดเน่าจนตายได้ในที่สุด

สำหรับแนวทางการป้องกันกำจัดด้วงแรด ขอให้เกษตรกรกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ลงทุนน้อย สะดวกในการทำเพราะอยู่บนพื้นดิน สามารถกำจัดไข่หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัยไม่ให้เพิ่มปริมาณได้ โดยยึดหลักว่าไม่ควรปล่อยให้แหล่งขยายพันธุ์เหล่านี้ทิ้งไว้นานเกิน 3 เดือน โดยให้ทำลายซากลำต้น หรือตอของต้นปาล์มน้ำมันโดยการฝัง หากไม่สามารถทำลายซากต้นปาล์มได้ก็ให้เกลี่ยกองซากต้นปาล์มรวมทั้งซากพืชอื่นๆ และกองมูลสัตว์ในบริเวณใกล้เคียงให้กระจายออกโดยมีความสูงไม่เกิน 15 ซม.ถ้าในกรณีที่มีความจำเป็นต้องกองซากต้นปาล์มนานเกินกว่า 2-3 เดือน ควรพลิกกลับกองเพื่อตรวจหาไข่หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัยเพื่อกำจัด และก่อนที่จะปลูกปาล์มต้องไถพรวนเสียก่อนเพื่อกำจัดหนอนที่อยู่ใต้ซากกองต้นปาล์มน้ำมัน

นอกจากนี้ ก็ยังมีการใช้เชื้อราเขียวควบคุมด้วงแรด โดยทำกองปุ๋ยหมักล่อซึ่งอาจใช้ปุ๋ยหมัก เศษพืช อินทรียวัตถุ หรือมูลสัตว์ มากองไว้ล่อให้ตัวเต็มวัยของด้วงแรดมาวางไข่ ให้มีขนาดกว้าง 1-2 เมตร ยาว 1-2 เมตร ลึกประมาณ 1 ศอก จำนวน 4-5 กอง ต่อเนื้อที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 10 ไร่ ใส่เชื้อราเขียวประมาณ 500-1,000 กรัมต่อกอง ใส่ให้ลึกจากผิวหน้าด้านบนประมาณ 1 คืบ โดยโรยเชื้อราให้ทั่วหน้า หรือบริเวณแถวก็ได้ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม หรือใช้เชื้อรามาละลายน้ำแล้วใช้บัวรด ปิดด้วยใบ หรือทางปาล์มน้ำมัน เพื่อเก็บความชื้นในกองปุ๋ยหมัก เชื้อราจะเจริญเติบโตอยู่ในกองปุ๋ยหมัก เมื่อด้วงแรดลงมาวางไข่ในกองปุ๋ยหมักก็จะถูกเชื้อราเขียวเข้าทำลายหนอน ดักแด้ โดยตัวหนอนอด้วงแรดจะมีลำตัวสีเขียวคล้ำ และตายในที่สุด

หากพบการระบาดทำลายของด้วงแรดดังกล่าวแจ้งการระบาดได้ที่อาสาเกษตรหมู่บ้าน ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ เพื่อให้คำแนะนำและช่วยเหลือต่อไป
นายวีระศักดิ์ เกิดแสง เกษตรจังหวัดกระบี่
 
 




กำลังโหลดความคิดเห็น