xs
xsm
sm
md
lg

กระบี่เตือนเฝ้าระวังด้วงแรดระบาดในสวนปาล์ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระบี่ - เกษตรจังหวัดกระบี่ เตือนเกษตรชาวสวนปาล์มเฝ้าระวังการระบาดของด้วงแรด หากตรวจพบรีบทำลาย
ด้วงแรด
นายวีระศักดิ์ เกิดแสง เกษตรจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ได้มีการระบาดของด้วงแรดในปาล์มน้ำมัน จึงขอประกาศเตือนให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยเฉพาะเกษตรกรที่โค่นล้มปาล์มเก่าเพื่อปลูกใหม่ ให้เฝ้าระวังการระบาดของด้วงแรด โดยการติดตามเพื่อตรวจสอบแปลงปลูกปาล์มน้ำมันอย่างสม่ำเสมอ และหากพบการระบาดให้รีบกำจัดทันที โดยลักษณะการทำลายของด้วงแรดตัวเต็มวัยบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบทำให้ทางใบหักง่าย และกัดเจาะทำลายยอดอ่อนทำให้ทางใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดเป็นริ้ว คล้ายรูปสามเหลี่ยม

ถ้าต้นปาล์มโดนทำลายมากๆ ทำให้ใบที่เกิดใหม่แคระแกร็น รอยแผลที่ถูกด้วงแรดกัดเป็นเนื้อเยื่ออ่อน ทำให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ หรือเป็นทางให้เกิดโรคยอดเน่า จนถึงตายได้ในที่สุด แหล่งขยายพันธุ์ของด้วงแรด จะพบในซากเน่าเปื่อยของลำต้น หรือตอของต้นปาล์มน้ำมัน ซากทะลายปาล์มน้ำมัน กองมูลสัตว์เก่า หรือกองปุ๋ยคอก แหล่งขยายพันธุ์เหล่านี้เป็นสถานที่ผสมพันธุ์ วางไข่ และเป็นแหล่งอาหารของหนอนวัยต่างๆ จนเข้าเป็นดักแด้ และตัวเต็มวัย
ต้นปาล์มที่ถูกกัดทำงาน
เกษตรจังหวัดกระบี่ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับแนวทางการป้องกันกำจัดด้วงแรด ขอให้เกษตรกรดำเนินการดังนี้ 1.กำจัดแหล่งขยายพันธุ์ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ลงทุนน้อย สะดวกในการทำเพราะอยู่บนพื้นดิน สามารถกำจัดไข่หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัยไม่ให้เพิ่มปริมาณได้ โดยยึดหลักว่าไม่ควรปล่อยให้แหล่งขยายพันธุ์เหล่านี้ทิ้งไว้นานเกิน 3 เดือน โดยปฏิบัติดังนี้ เผา หรือฝังซากลำต้น หรือตอของต้นปาล์มน้ำมัน เกลี่ยกองซากพืช กองมูลสัตว์ให้กระจายออกโดยมีความสูงไม่เกิน 15 ซม. ถ้ามีความจำเป็นต้องกองนานเกินกว่า 2-3 เดือน ควรพลิกกลับกองเพื่อตรวจหาไข่หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัยเพื่อกำจัด

ใช้เชื้อราเขียวควบคุมด้วงแรด โดยทำกองปุ๋ยหมักล่อซึ่งอาจใช้ปุ๋ยหมัก เศษพืช อินทรีย์วัตถุ หรือมูลสัตว์มากองไว้ล่อให้ตัวเต็มวัยของด้วงแรดมาวางไข่ ให้มีขนาดกว้าง 1-2 เมตร ยาว 1-2 เมตร ลึกประมาณ 1 ศอก จำนวน 4-5 กอง ต่อเนื้อที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 10 ไร่ ใส่เชื้อราเขียวประมาณ 500-1,000 กรัมต่อกอง ใส่ให้ลึกจากผิวหน้าด้านบนประมาณ 1 คืบ โดยโรยเชื้อราให้ทั่วหน้า หรือบริเวณแถวก็ได้ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม หรือใช้เชื้อรามาละลายน้ำแล้วใช้บัวรด ปิดด้วยใบ หรือทางปาล์มน้ำมัน เพื่อเก็บความชื้นในกองปุ๋ยหมัก เชื้อราจะเจริญเติบโตอยู่ในกองปุ๋ยหมักเมื่อด้วงแรดลงมาวางไข่จนถูกเชื้อราเข้าทำลายหนอน ดักแด้ โดยจะมีลำตัวสีเขียวคล้ำ และตายในที่สุด
นายวีระศักดิ์ เกิดแสง เกษตรจังหวัดกระบี่
ใช้สารคลอโรไพริฟอด อัตรา 80 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร ราดรอบยอดอ่อน และโคนทางถัดมา ต้นละ 1 ลิตร เดือนละ 1 ครั้ง หรือใช้สารคาร์บาริล ผสมขี้เลื่อยในอัตรา 1 ส่วน ต่อขี้เลื่อย 33 ส่วน ใส่รอบยอดอ่อน ซอกทางใบ เดือนละ 1 ครั้ง หรือใช้ลูกเหม็น อัตรา 6-8 ลูกต่อต้น โดยใส่ไว้ที่ซอกโคนทางใบ

ทั้งนี้ หากพบการระบาดทำลายของด้วงแรดดังกล่าวแจ้งการระบาดได้ที่อาสาเกษตรหมู่บ้านศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ เพื่อให้คำแนะนำ และช่วยเหลือต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น