xs
xsm
sm
md
lg

สสจ. ระดมสมองเตรียมผลักดันภูเก็ตเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพนานาชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สสจ.ภูเก็ต จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “ทิศทางและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพในระดับนานาชาติแบบบูรณาการ” ด้าน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เผยปัจจุบันต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความเหมาะสมด้านราคา และการบริการ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (26 เม.ย.) ที่สุโขสปา ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ทิศทางและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพในระดับนานาชาติแบบบูรณาการ” ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตจัดขึ้น โดยมี นพ.บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนผู้ประกอบการ หน่วยงานด้านสุขภาพ เข้าร่วม

นพ.บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการจัดประชุมดังกล่าวว่า ในยุคที่การเดินทางไปมาระหว่างประเทศสะดวก การติดต่อสื่อสารการรับรู้ข้อมูลข่าวสารรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้คนที่มีอำนาจการจ่ายสูงมีสิทธิในการเลือกผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานปลอดภัย และคุ้มค่ากับราคา ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่มีมาควบคู่กับการท่องเที่ยว ที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ และกำหนดเป็นนโยบายในการส่งเสริมพัฒนาให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเอเชีย และนานาชาติ โดยมุ่งพัฒนาใน 4 สาขาหลัก ได้แก่ 1.ด้านบริการด้านการรักษาพยาบาล หมายถึง บริการด้านการแพทย์และบริการทางทันตกรรม 2.บริการส่งเสริมสุขภาพ หมายถึง บริการสปาเพื่อสุขภาพและนวดเพื่อสุขภาพ 3.ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ได้แก่ ยา เครื่องสำอาง สมุนไพร และ 4.บริการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก

“จังหวัดภูเก็ต เป็นหนึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศ ที่ถูกกำหนดให้เป็นจังหวัดนำร่องดำเนินการตามนโยบายนี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2547 เนื่องจากภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2553 พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติมาท่องเที่ยวเฉลี่ย 9.12 วัน ค่าใช้จ่ายต่อคน 37,279.55 บาท จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2554 เฉพาะที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ต รวมประมาณ 2.5 ล้านคน โดยสัญชาติที่เข้ามามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน รัสเซีย ออสเตรเลีย เกาหลี และสวีเดน ตามลำดับ ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เดินทางมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการดูแลด้านสุขภาพของตนเองด้วย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น” นพ.บัญชา กล่าวและว่า

จากข้อมูลของกรมสนับสนุนการบริการสุขภาพพบว่า ในปี 2552 มีชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยถึง 1.39 ล้านคน ทำรายได้เข้าสู่ประเทศถึง 108,197 ล้านบาท โดยพบว่า ชาติที่เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย ตามลำดับ มีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า เหตุผลหลักในการเลือกไปใช้บริการรักษาพยาบาลนอกประเทศของตน เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลมีราคาเหมาะสมกว่า มีระยะเวลาการรอคอยสั้นกว่า และมีการบริการที่ดีกว่า ซึ่งส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญไปที่การบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ทำให้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งในประเทศไทย พัฒนาตนเองจนผ่านการรับรอง JCI (Joint Commisson International) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ

นายแพทย์บัญชา กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในระยะที่ผ่านมา ได้ให้ความสำคัญของคุณภาพมาตรฐานของบริการ และผลิตภัณฑ์เป็นหลัก เน้นการส่งเสริมพัฒนาให้สถานประกอบการมีการบริการที่มีมาตรฐานเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เน้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การผลิตบุคลากร ฝึกอบรมบุคลากรที่ทำงานในภาคของธุรกิจสุขภาพ ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการบริการให้แก่ลูกค้า นอกจากนี้ ยังมีการทำกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์หลายครั้งด้วยกัน เช่น งานมหกรรมอันดามันเฮลธ์ แอนด์ เวลเนส ในปี พ.ศ.2552 และ 2554 การจัดงาน “584 ดวงใจ นวดไทย เทิดไท้ องค์ราชันย์” เป็นต้น

ส่วนการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายเมดิคอล ฮับ ในระยะที่ผ่านมา ถือว่า ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในส่วนของบริการทางการแพทย์นั้น สถานบริการสาธารณสุขของรัฐมีบทบาทในการดูแลสุขภาพของคนในจังหวัดเป็นหลักในทำนองเดียวกัน ก็ไม่สามารถที่จะปฏิเสธในการดูแลรักษานักท่องเที่ยวต่างชาติได้ การขับเคลื่อนนโยบายเมดิคอล ฮับ ด้านการรักษาพยาบาล จึงต้องสร้างความสมดุลระหว่างการดูแลประชาชนในจังหวัด และการดูแลรักษานักท่องเที่ยวต่างชาติให้เหมาะสมที่สุด สำหรับบริการด้านทันตกรรม และสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพในจังหวัดภูเก็ต ก็ถือว่ามีศักยภาพสูง มีชมรม สมาคมที่ทำงานร่วมกับภาครัฐได้อย่างเข้มแข็ง

แต่อย่างไรก็ตาม จากการระดมสมองในเวทีการประชุมในครั้งที่ผ่านมา ก็ยังมีข้อเสนอหลายอย่างที่อาจต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในจังหวัดช่วยผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ จึงได้เกิดเวทีการประชุมในวันนี้ขึ้น โดยได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจากกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น