xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ฟุ้ง! ทุ่มงบส่งเสริมเรื่องฟันได้ผล ยอดเด็กฟันไม่ผุสูงขึ้น 10%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช.พบเด็กไทยฟันผุลดลง จำนวนเด็กที่มีสุขภาพฟันดีไม่มีฟันผุพุ่งสูงขึ้นกว่า 10% ส่งผลประหยัดค่ารักษาได้กว่า 300 ล้านบาท หลังปี 54 บอร์ด สปสช.จัดงบส่งเสริมทันตกรรม ส่งผลดีสามารถจัดการทำได้ง่ายขึ้น จังหวัดมีความคล่องในการกำหนดทิศทางนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ชัดเจน มีความคล่องตัวในการจัดงบประมาณ

นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีมติแยกการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายตั้งเป็นกองทุนทันตกรรมส่งเสริมป้องกันในเด็กและฟันเทียมสำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ซึ่งจากการตั้งกองทุนทันตกรรมฯส่งผลให้เกิดความสำเร็จที่ทำให้เด็กไทยฟันผุลดน้อยลง เนื่องจากได้จัดงบประมาณส่งเสริมป้องกันตามแนวทางของสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัยส่งผลให้เด็กไทยมีคุณภาพฟันดีขึ้น ทั้งนี้ โรคฟันผุเป็นภาระสำคัญของประเทศมานานหลายสิบปี ซึ่งตามแนวทางสำคัญคือ การส่งเสริมป้องกันโดยเฉพาะกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กวัยเรียน โดยในปี 2556 ได้จัดสรรงบประมาณทางดำเนินการทางด้านทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน 16.60 บาทต่อประชากร หรือประมาณ 796 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม งานของกองทุนทันตกรรมมี 2 ส่วนหลัก คือ ทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน กลุ่มเป้าหมายหลักคือ เด็กประถมศึกษา กลุ่มเด็กปฐมวัย และกลุ่มหญิงมีครรภ์ และอีกส่วนคือ ทันตกรรมประดิษฐ์หรือฟันเทียมให้ความสำคัญกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาในช่องปากรวมอยู่ในงบบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลได้รับอยู่แล้ว ซึ่งการดำเนินงานมีเป้าหมายเพื่อควบคุมสภาวะสุขภาพช่องปากในกลุ่มเด็กปฐมวัย เด็กประถมศึกษา โดยบูรณาการสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก ป้องกันโรค และรักษาทางทันตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพช่องปากในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และให้ผู้สูงอายุได้รับฟันเทียมอย่างทั่วถึง
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
เลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมที่ดำเนินการ คือ งานเชิงรุกในโรงเรียนและชุมชน ดำเนินการโดย รพ.สต.กองทุนสุขภาพตำบล โรงพยาบาล เช่น การเคลือบหลุมร่องฟันเด็ก ป.1 การให้ทันตสุขศึกษาการทาฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ การตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง เป็นต้น ที่ผ่านมาผลการดำเนินงานในปี 2555 ที่ผ่านมาพบว่า จากผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากเด็กปราศจากฟันผุในกลุ่มอายุ 3 ขวบ มีข้อมูลยืนยันได้ว่าในกลุ่มเด็กในวัยดังกล่าว มีสุขภาพฟันดีเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับผลการสำรวจก่อนหน้านั้นมีข้อมูลที่สำรวจในปี 2532 เป็นต้นมา พบว่า เด็กอายุ 3 ปี จะมีฟันผุประมาณร้อยละ 33-38 แต่ล่าสุด ผลการสำรวจปี 2555 หลังจากที่เริ่มต้นกองทุนทันตกรรมในปี 2554 พบว่ามีเด็กในกลุ่มอายุ 3 ขวบที่ปราศจากฟันผุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.3

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานเมื่อปี 2555 พบว่า สามารถตรวจฟันในกลุ่มเด็ก ป.1 ได้ถึง 456,181 คน คิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนเด็ก ป.1 และในจำนวนนี้ให้การรักษาและป้องกัน 102,709 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 22.51 จากจำนวนผู้ได้รับการตรวจ ซึ่งช่วยส่งเสริพัฒนาการสมวัยและกิจกรรมเคลือบหลุมร่องฟันส่งผลให้เด็ก ป.6 มีฟันผุลดลง และคาดว่าภายใน 6 ปี เด็กประถมศึกษาทั่วประเทศจะฟันผุลดลงกว่า 1.6 ล้านซี่ โดยผลจากการส่งเสริมป้องกันโรคและรณรงค์ให้เด็กไทยฟันผุน้อยลงส่งผลให้รัฐบาลประหยัดค่ารักษาไปได้กว่า 300 ล้านบาท ขณะที่การให้บริการฟันเทียม ในกลุ่มอายุไม่เกิน 59 ปี มีผู้เข้ารับบริการ 26,251 ราย และในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 36,619 ราย

“จากผลสำเร็จนี้สะท้อนว่า การแยกงบทันตกรรมจัดการเฉพาะ ส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้นทำให้ประหยัดงบการรักษาในอนาคต สอดคล้องกับการวิเคราะห์ข้อดีการมีกองทุนทันตกรรม โดยสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ความชัดเจนของงบประมาณทำให้จังหวัดมีความคล่องในการกำหนดทิศทางนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ชัดเจน เกิดระบบข้อมูลทันตสาธารณสุขระดับจังหวัด เกิดการทำงานเป็นภาคีเครือข่ายในจังหวัด และเกิดพื้นที่นำร่อง เช่น ตำบลสุขภาพฟันดี และการสร้างนักส่งเสริมทันตสุขภาพพันธุ์ใหม่ เป็นต้น ทั้งหมดบ่งชี้ว่า การบริหารงานทันตกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็น คุ้มค่า และได้ประโยชน์ในระยะยาว” เลขาธิการ สปสช.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น