xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ป้องกันยาเสพติดลงพื้นที่ภูเก็ตรับทราบปัญหา และแนวทางแก้ไข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ภูเก็ตติดตามปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ แนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติด

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (22 มี.ค.) ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร นำโดย พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 1 รับฟังบรรยายการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดในภาพรวมของจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานภูเก็ต กองบังคับการตำรวจน้ำ เจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต สรรพากรพื้นที่ภูเก็ต องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาภูเก็ต และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปผลการปฏิบัติงานในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการตอบข้อซักถามต่างๆ

ทั้งนี้ ได้มีการบรรยายสรุปว่า จังหวัดภูเก็ตได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามแผนปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืนในทุกด้าน ทั้งการป้องกัน ปราบปรามและบำบัดรักษา ในปี 2556 จำนวนกว่า 27 ล้านบาท คดียาเสพติดในห้วงระหว่าง เดือนตุลาคม 2555-กุมภาพันธ์ 2556 มีจำนวน 1,189 คดี เป็นคดีไอซ์ 538 คดี พืชกระท่อม 272 คดี ยาบ้า 215 คดี และกัญชาแห้ง 129 คดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันคดีเกี่ยวกับพืชกระท่อมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีกลุ่มวัยรุ่นนิยมหันมาเสพน้ำท่อมสูตร ด้วยการนำมาผสมกับยาแก้ไอ โค้ก หรืออื่นๆ ที่เรียกว่า 4x100 และกลุ่มผู้เสพก็จะเป็นเด็กและเยาวชน

ส่วนแนวโน้มของการแพร่ระบาดนั้นยังคงมีอยู่ เนื่องจากภูเก็ตมีความหลากหลายของผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัย และประกอบอาชีพ จุดที่ต้องระวัง คือ กลุ่มผู้ค้ารายย่อยที่มีการกระจายตัวมากขึ้น การนำเข้ามาทางสนามบินทั้งจากภายในประเทศ และต่างประเทศ ส่วนการแพร่ระบาดของไอซ์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา จะต้องหามาตรการให้ความรู้แก่เยาวชนในสถานศึกษา รวมทั้งการเข้มงวดตรวจสอบตามแหล่งมั่วสุมต่างๆ เช่น สวนสาธารณะ หอพัก บ้านเช่า โรงแรม เป็นต้น โดยกลุ่มผู้เสพจะมีช่วงอายุ 15-25 ปี มากที่สุด และอายุก็จะลดลง

ส่วนของหน่วยงานอื่นๆ ภาพรวมการทำงานจะเน้นการบูรณาการร่วมกัน ที่พบปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของกำลัง และงบประมาณที่มีจำกัด กรณีการตรวจสอบทางน้ำจะมีปัญหาในเรื่องของการตรวจสอบเรือที่เข้ามา แม้จะมีการกำหนดจุดให้เรือแจ้งเข้าออกไว้เพียงจุดเดียวที่อ่าวฉลอง แต่ในทางปฏิบัติพบว่า ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ประกอบกับไม่มีระบบติดตามที่ดีพอ นอกจากนี้ ยังพบปัญหาชาวต่างชาติที่เข้ามาแย่งอาชีพคนไทยทำ แต่ยังไม่พบการเชื่อมโยงเครือข่ายของยาเสพติดขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 1 กล่าวภายหลังการรับฟังข้อมูล และการตอบข้อวักถามของหน่วยงานต่างๆ ว่า ได้รับความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการนำเสนอข้อมูลเป็นอย่างดี ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ จะได้นำข้อมูลที่ได้รับไปประมวลและสรุปผลนำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาของการตรวจสอบการเข้ามาของชาวต่างชาติทางเรือยอชต์ ซึ่งพบว่ายังมีปัญหาการตรวจสอบค่อนข้างมาก รวมทั้งเรื่องของงบประมาณ และข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลที่ได้จากทางสรรพพากรพื้นที่ เพราะถือว่าสำคัญอย่างมาก ด้วยรัฐบาลหวังใช้มาตรการด้านภาษีช่วยจัดการ และปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องมีการพูดคุยกันในระดับประเทศ

ขณะที่นายชาญชัย ประเสริฐสุวรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 4 กล่าวเสริมว่า จากข้อมูลของเขตพื้นที่การศึกษาพบว่า ได้รับงบประมาณที่นำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะเรื่องการบำบัดรักษาน้อยมาก ปีละประมาณ 400,000 บาท ซึ่งจะได้นำไปหารือกับรัฐบาลเพื่อหาแนวทางในการจัดสรรงบประมาณให้ได้เพิ่มขึ้น เพราะทางคณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของเยาวชนเป็นอย่างมาก และจากข้อมูลที่ได้รับก็พบว่า แนวโน้มผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดนั้นจะเป็นเด็กและเยาวชนมากขึ้น รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับการเข้ามาประกอบอาชีพของคนต่างด้าวที่เข้ามาแย่งงานคนไทยซึ่งถือเป็นข้อมูลใหม่ของคณะกรรมาธิการฯ โดยจะมีการขอข้อมูลเพิ่มเติมจากทางจังหวัด และจะได้นำเรียนรัฐบาลเพื่อหาแนวทางการแก้ไขต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น