ปัตตานี - จุฬาราชมนตรี ร่วมกับประธานคณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชิญชวนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับทางราชการในการแก้ปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา (สำนักงานจุฬาราชมนตรีส่วนหน้า) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี พร้อมด้วยประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมบันทึกเทปโทรทัศน์ภาษามลายูของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชิญชวนพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับทางราชการในการช่วยกันแก้ปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้กล่าวเป็นภาษามลายู และภาษาไทยว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสูง ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนา รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่อย่างจริงจัง ได้ทุ่มเททรัพยากร และงบประมาณในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
โดยยึดหลักทางศาสนา และวัฒนธรรมของท้องถิ่นเป็นหลักในการดำเนินการในด้านต่างๆ เช่น ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน มุ่งเน้นคนพิการ เด็กกำพร้า สตรีที่ขาดคู่สมรสจากปัญหาความไม่สงบ ด้านการศึกษามุ่งพัฒนาสถาบันปอเนาะ ตาดีกา และโรงเรียนระดับประถมศึกษาให้มีคุณภาพ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียนเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยที่ผ่านมา ได้เปิดเวทีพูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียนทุกกลุ่ม ทุกประเภท เพื่อให้มองเห็นสภาพปัญหาที่แท้จริง และแก้ไขได้อย่างถูกจุด ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมการศึกษาภาษามลายู ซึ่งเป็นหนึ่งในภาษาอาเซียน
จุฬาราชมนตรี ได้กล่าวอีกว่า ส่วนในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลพยายามผลักดันให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ เช่น นักธุรกิจรายใด หรือสถานประกอบการใดช่วยอุดหนุนด้านการศึกษา การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ หรือจ้างงานคนในพื้นที่ก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ด้านสังคม สนับสนุนการแก้ไขปัญหายาเสพติด และอบายมุขต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่อยากให้ชายแดนภาคใต้เป็น “เขตพิเศษทางวัฒนธรรม” ปลอดจากอบายมุข และยาเสพติดทุกชนิด
ด้านการปกครอง ส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเปิดกว้างให้ภาคประชาสังคมทุกกลุ่มร่วมกันคิดหารูปแบบการปกครองท้องถิ่นภายใต้รัฐธรรมนูญที่สนองตอบต่อการพัฒนาภาคใต้ อัตลักษณ์ และวิถีวัฒนธรรมของพื้นที่ ด้านความเป็นธรรม เร่งรัดให้เกิดระบบคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การรักษาความปลอดภัยโดยชุมชน ร่วมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
“การแก้ไขปัญหา และพัฒนาของรัฐบาลประสบผลสำเร็จเป็นที่พอใจในระดับหนึ่ง ความร่วมมือของทุกฝ่ายถือเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงาน ที่ผ่านมา รัฐบาลได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งใน และประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขและพัฒนา จึงขอให้พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือในการแก้ไข และการพัฒนาพื้นที่อย่างจริงจัง เพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่น่าอยู่ น่าอาศัย เป็นดินแดนแห่งสันติสุขถาวรสืบไป” นายอาศิสกล่าว