กอ.รมน.ภาค 4 สรุปผลดับไฟใต้ 6 เดือน ตรวจยึดอาวุธปืน เครื่องกระสุน อุปกรณ์ประกอบระเบิด ยาเสพติดจำนวนมาก รักษาความปลอดภัยเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ เพิ่มกล้องซีซีทีวี ระบบด่านตรวจ พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิต อำนวยความยุติธรรม ประชาชนออกมาต่อต้านการใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น สกัดกั้นการบ่มเพาะในสถานศึกษาทำทัศนคติที่ดีขึ้น คาดจำกัดการจัดตั้งหรือผลิตสมาชิกรุ่นใหม่ได้
วันนี้ (11 เม.ย.) พล.ท.ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวสรุปผลการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาว่า การแก้ไขปัญหาได้ดำเนินการงานด้านความมั่นคง งานพัฒนา และงานยุติธรรมควบคู่กันไป โดยการรักษาความปลอดภัย ชีวิตและทรัพย์สินและภัยแทรกซ้อนได้มีการบูรณาการงานการข่าว รวบรวมหลักฐานและเก็บสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) จำนวน 478 ครั้ง สามารถนำประกอบสำนวนคดี 603 คดี และสามารถตรวจยึดอาวุธปืน 68 กระบอก ยึดเครื่องกระสุน อุปกรณ์ประกอบระเบิด ยาเสพติดได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังรักษาความปลอดภัยเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ เช่น ชุมชนเมือง รถไฟ เส้นทางหลัก วัด พระ ครู โรงเรียนและชุมชนไทยพุทธ นอกจากนี้ยังได้เพิ่มกล้องซีซีทีวี และระบบด่านตรวจในพื้นที่ ลาดตระเวนตรวจสอบจุดล่อแหลม ตลอดจนประชาสัมพันธ์ไม่ให้มีการจอดรถทุกชนิดบนไหล่ทาง และฝึกอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง
พล.ท.ดิฏฐพร กล่าวต่อว่า สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ดำเนินการในด้านสุขภาพด้วยการจัดแพทย์และชุดทันตกรรมเคลื่อนที่ หมอเดินเท้า ด้านการส่งเสริมรายได้นั้นได้จัดตั้งร้านค้าประจำอำเภอสามารถสร้างรายได้ในพื้นที่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ของรายได้เฉลี่ยต่อคน และยังมีการดำเนินการตามโครงการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มประจำตำบล ส่วนการอำนวยความยุติธรรมสามารถขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ได้เรียบร้อยแล้ว 2 ราย โดยผู้ผ่านกระบวนการนี้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ปัจจุบันมีผู้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ 1 ราย และอยู่ในขั้นการสอบสวน 1 ราย ด้านสิทธิมนุษยชนและสร้างความเข้าใจได้จัดชุดวิทยากรการเมืองเคลื่อนที่เข้าให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ด้วยการเปิดเวทีชาวบ้าน 26 ครั้ง ใน 26 ชุมชน ส่งผลให้ประชาชนออกมาต่อต้านการใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 แจ้งข่าวสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 และจำนวนเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐลดลงร้อยละ 20 ส่วนการสกัดกั้นการบ่มเพาะในสถานศึกษา 48 โรงเรียน ได้จัด 4 กิจกรรมหลักและ 9 กิจกรรมเสริม
“สรุปผลการดำเนินการในภาพรวม บุคลากร และเยาวชนในสถานศึกษามีทัศนคติที่ดีขึ้น ความหวาดระแวงลดลง และเข้าใจการดำเนินงานของหน่วย ซึ่งน่าจะสามารถจำกัดการจัดตั้งหรือผลิตสมาชิกรุ่นใหม่ ทั้งนี้เรายังมีโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ร่วมเสริมสร้างสันติภาพ โดยการนำผู้ที่เข้ารายงานตัวตามโครงการพาคนกลับบ้าน จำนวน 257 คน มาดำเนินกรรมวิธีและอบรม เพื่อจัดตั้งเป็นแกนนำในการชักจูงผู้ที่ยังหลบหนีให้กลับเข้ามารายงานตัว ทั้งนี้กอ.รมน.ขอย้ำว่าการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในด้านต่างๆ ดังกล่าวจะต้องดำเนินการควบคู่กันไป โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชน” โฆษก กอ.รมน.กล่าว