xs
xsm
sm
md
lg

วิชามารของ กฟผ.ต่อกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน / บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง  นะแส
 
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2512 โดยที่รัฐบาลในยุคนั้นได้รวมรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบในการจัดหาไฟฟ้าใน ประเทศ ซึ่งได้แก่ การลิกไนต์ (กลน.) การไฟฟ้ายันฮี (กฟย.) และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ (กฟ.อน.) มาจัดตั้งเป็น “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” มีชื่อย่อว่า “กฟผ.” โดยมีนายเกษม จาติกวณิช เป็นผู้ว่าการฯ คนแรก โดยมีหน้าที่ในการผลิตและส่งไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อจัดจำหน่ายให้แก่ประชาชน มีการพัฒนาแหล่งผลิต ขยายหน่วยผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ฯลฯ

ในยุคแรกๆ การดำเนินงานของ กฟผ.ไม่มีกระแสต่อต้านจากชุมชนมากนัก จนเมื่อเกิดกรณีผลกระทบจากการดำเนินการที่แม่เมาะ ทำให้มีกระแสตรวจสอบการดำเนินงานในพื้นที่ต่างๆ ของ กฟผ.มากขึ้น และ กฟผ.ต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่าปีละ 300 ล้านบาท ในการทำงานมวลชนสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ยอมรับการดำเนินการของ กฟผ.ในพื้นที่ งบประมาณปีละ 300 ล้านบาท/ปี ทำให้ กฟผ.ผลิตวิชามารมาใช้กับประชาชน และส่งผลให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในประเด็นที่จะนำถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงในการดำเนินการผลิตไฟฟ้า

ตั้งแต่ปี 2514-2525 เป็นช่วงที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงใน กฟผ.เพราะราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัว คือ จากลิตรละ 40 สตางค์ เป็น 4 บาท ส่งผลกระทบอย่างมากต่อกิจการผลิตไฟฟ้า เพราะในยุคนั้นมีสัดส่วนในการใช้น้ำมันเตาในการผลิตถึงร้อยละ 70 วิกฤตการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัว และวางแผนการใช้เชื้อเพลิงในการ ผลิตไฟฟ้าเพื่อลดการใช้น้ำมันลงให้มากที่สุด และหนึ่งในการปรับตัวของ กฟผ.คือ การหันมาให้ความสำคัญต่อการใช้วัตถุดิบในการผลิตมาเป็นถ่านลิกไนต์ในการผลิตเพื่อลดการใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้า จึงเป็นที่มาของการพัฒนาถ่านลิกไนต์ที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาต่ำ กฟผ.จึงได้ขยายกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าแม่เมาะจากเดิม 2 เครื่อง มาเป็น 13 เครื่อง และพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันลง กฟผ.ยังได้สำรวจและก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำมาอย่างต่อเนื่อง คือ เขื่อนเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี เขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น

และเมื่อมีการพัฒนาก๊าซธรรมชาติที่อ่าวไทย ก็ได้นำก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และดัดแปลงเครื่องผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ให้ใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า แต่ด้วยก๊าซธรรมชาติถูกผูกขาดด้วย ปตท.ทำให้ กฟผ.ต้องถูกผูกมัดให้ขึ้นต่อ ปตท.ที่ซึ่งในวันนี้ ได้มีการขายหุ้นทำให้มุ่งผลกำไร และ ปตท.มอง กฟผ.ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำกำไรมหาศาลให้แก่ ปตท.เพราะ ปตท.ผูกขาดก๊าซไว้ในมือ กฟผ.ไม่มีทางเลือกอื่น ความพยายามที่จะเอาตัวให้รอดจากการควบคุมจาก ปตท.ของ กฟผ.คือ การหาวัตถุดิบชนิดอื่นที่จะนำมาใช้ ซึ่งก็มาลงที่ถ่านหิน

ความพยายามที่จะนำถ่านหินเข้ามาใช้ในการผลิตของ กฟผ.เพื่อจะหาทางปลดแอกจาก ปตท.จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะบาดแผลที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทยในกรณีของการใช้ถ่านหินลิกไนต์ที่แม่ เมาะ ยังเป็นสิ่งที่ทาง กฟผ.ยังไม่สามารถลบรอยแผลให้หายไปได้ แม้จะใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาในด้านวิศวกรรม และเทคโนโลยีหรือการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ มามากมายแล้วก็ตาม ในขณะเดียวกัน สังคมไทยก็มองทะลุว่า ปัญหาในเรื่องไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้า ความเป็นธรรมในการใช้ไฟฟ้าระหว่างภาคธุรกิจกับภาคครัวเรือน ตลอดจนผลประโยชน์จากการใช้พลังงานชนิดใหม่คือ ถ่านหิน ก็ยังล้วนตกอยู่ในเงื้อมมือของกลุ่มผลประโยชน์ เช่นนักการเมืองที่ไปสัมปทานเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ถึงที่สุดแล้วความพยายามของ กฟผ.ที่จะปลดแอกจาก ปตท.ก็เป็นเพียงการปลดแอกจากกลุ่มผลประโยชน์จากกลุ่มหนึ่งแล้วไปอยู่ในอุ้ง มือของกลุ่มผลประโยชน์อีกกลุ่ม หรือในกลุ่มเดียวกัน ที่ขยายหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวเองในอีกด้านที่นอกจากก๊าซแล้วก็จะเอาจากถ่านหินด้วย

ถึงวันนี้สังคมไทยตื่นรู้ และรู้เท่าทันกลไกในการหาผลประโยชน์ของบรรดานักธุรกิจการเมืองพอสมควร แม้จะยังไม่มากนักก็ตาม ดังนั้น การใช้วิชามารของ กฟผ.ที่จะผลักดันให้มีการนำถ่านหินไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ต่างๆ จึงได้รับการต่อต้านมากบ้างน้อยบ้าง ตามเงื่อนไขในแต่ละพื้นที่

การออกมาให้สัมภาษณ์ของนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานถึงนโยบายการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินว่า “การตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินจะทำให้ยุทธศาสตร์ความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าเกิดขึ้น ง่ายที่สุด เพราะราคาถูก และไทยอยู่ใกล้ทะเลสามารถขนส่งถ่านหินนำเข้ามาได้ จากนี้กระทรวงจะให้แต่ละพื้นที่ ภาคประชาชนระดับท้องถิ่น แสดงความต้องการมาเองว่าที่ใดต้องการให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อให้มีหลักฐานประกอบไปทำแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) เนื่องจากที่ผ่านมา เสียเวลาและงบประมาณกับการลงพื้นที่ แต่ไม่สามารถพัฒนาต่อได้ เพราะถูกคัดค้านภายหลัง”

“ให้นโยบาย กฟผ.ทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) 2013 ใหม่ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 จะหารือกรอบสัดส่วนเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า โดยต้องลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลง และเพิ่มถ่านหินเข้าไป แต่ยังติดปัญหาเรื่องพื้นที่จึงต้องพิจารณาว่าจะเพิ่มได้หรือไม่ อย่างที่ จ.กระบี่ สามารถพัฒนาได้ แต่ต้องฟังเสียงประชาชนถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่ดำเนินการ การปรับภาพลักษณ์โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นสิ่งสำคัญต้องดำเนินการในปีนี้ ที่ผ่านมา กฟผ.ทุ่มงบประมาณเพื่อกิจกรรมทางสังคม (ซีเอสอาร์) ประมาณ 300 ล้านบาททุกปี แต่ประชาชนไม่เข้าใจ จึงให้ กฟผ.ดึงงบซีเอสอาร์กลับมาทำเอง เช่น สร้างพิพิธภัณฑ์โรงไฟฟ้า การเปิดพื้นที่ดูงานโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนรู้สึกผูกพันกับองค์กร โดยไม่ต้องว่าจ้างบริษัทใดมาช่วย”

“ล่าสุด องค์กรปกครองท้องถิ่น จ.ระยอง และองค์กรปกครองท้องถิ่น อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เสนอตัวให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน” วิชามารของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบและการส่งลูกให้ กฟผ.ที่ชาวบ้านร้านตลาดรู้เท่าทันก็คือ หนึ่ง การดึงงบ 300 ล้านมาให้เป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรใน กฟผ.ในการเดินหน้าโครงการดังกล่าว และ สอง อ้างความชอบธรรมว่าชุมชนเห็นด้วยและต้องการให้ลงไปดำเนินการในพื้นที่นั้นๆ ว่าประชาชนหรือตัวแทนประชาชนในพื้นที่ร้องขอ

พลันที่ข่าวนี้ปรากฏแก่สาธารณะ กลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนำถ่านหินมาใช้และการลงมาตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ ก็ออกมาตอบโต้รัฐมนตรีอย่างทันท่วงที... “ผมขอตอบแทนคน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราชนะครับ ว่าทำไมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ถึงบอกว่าคนหัวไทรต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เรื่องมีอยู่ว่า กฟผ.ได้ให้เงินมาสนับสนุน 2 ล้านบาท โดยมีกำนัน 2 คน และอดีตนายก อบต. เป็นตัวตั้งตัวตีเรื่องนี้ นำรายชื่อ 123 รายชื่อ (ส่วนมากจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิก อบต.) แล้วได้เดินทางไปยังกระทรวงพลังงานทางเครื่องบิน 38 คน (แต่จองตั๋วไว้ 40 ที่นั่ง อีก 2 คน ชาวบ้านบล็อกตัวไว้ได้) เพื่อไปยื่นหนังสือให้ รมต.พลังงาน เนื้อหาในหนังสือโดยสังเขป ระบุว่า

“คนหัวไทรต้องการให้ กฟผ.เร่งดำเนินการ ทำ EIA (ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม) และ HIA (ศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพ) และดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ในทันที ทำไม กฟผ.ต้องลงทุนทำแบบนี้ ก็เพราะผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สื่อตลอดมาว่า ถ้าพื้นที่ไหนประชาชนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ.จะไม่สร้าง แต่.....ถ้าพื้นที่ไหนมีประชาชนต้องการ แล้วเสนอขึ้นมา กฟผ.ก็จะรับดำเนินการตามคำเรียกร้อง เห็นมั้ยครับว่า กฟผ. ลงทุนเงิน 2 ล้าน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่องค์กรของตัวเอง ให้คนทั้งประเทศยอมรับ..” วิชามารของรัฐบาล และ กฟผ.ถูกมองทะลุปรุโปร่งพร้อมกับถูกชุมชนแฉพฤติกรรมอันฉ้อฉลอย่างล่อนจ้อน

แต่สิ่งที่ กฟผ.ควรจะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมากลับไม่ทำ เช่น มีคำถามที่ กฟผ.จะต้องอธิบายต่อชุมชนอย่างตรงไปตรงมาอย่างกรณีที่ ผศ.ประสาท มีแต้ม เคยตั้งคำถามแทนประชาชนไว้ว่า สิ่งที่ กฟผ.จะต้องอธิบายให้ชุมชนเข้าใจเช่น “การก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 700 เมกะวัตต์ ชาวหัวไทรที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้อาจเกิดความสงสัยหลายอย่าง เป็นต้นว่า 1.โรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์นั้น มันใหญ่เท่าใด ไฟฟ้าที่ผลิตมาได้จะใช้ได้สักกี่ครอบครัว หรือกี่จังหวัด 2.ถ่านหินนั้นมันคืออะไร เหมือนถ่านหุงข้าวหรือไม่ มีสารพิษปนมาบ้างหรือไม่ 3.ถ้ามีโรงไฟฟ้าที่ว่านี้จริง ผลดีผลเสียอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเรา 4.เรามีทางเลือกอย่างอื่นบ้างหรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบพบว่า โดยปกติโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์ จะใช้ถ่านหินวันละประมาณ 5,370  ตัน ประมาณ 250 รถสิบล้อใช้น้ำปีละ 12 ล้านลิตร (พอสำหรับคนเมือง 3.5 แสนคน) น้ำที่สูบเข้าจะติดลูกปลา กุ้ง 29 ล้านชีวิต ชาวประมงจะเดือดร้อนเกิดหมอกควัน ฝนกรด น้ำฝนใช้ไม่ได้ ผักที่ปลูกจะเสียหาย หน้าดินในแหล่งน้ำใกล้ลานกองถ่านหินจะปนเปื้อน จนปลาอยู่ไม่ได้ปล่อยน้ำร้อนไปทำลายปลาในแหล่งน้ำปล่อยขี้เถ้า จำนวน 175,000 ตัน และ 270,000 ตันของขี้โคลน (sludge) สารพิษจากของเสียเหล่านี้ประกอบด้วย สารหนู สารปรอท โครเมียม และแคดเมียม ซึ่งจะปนเปื้อนเข้าไปกับน้ำดื่ม แล้วจะไปทำลายอวัยวะที่สำคัญ รวมทั้งระบบประสาทของคน จากการศึกษาพบว่า ทุกๆ 100 คนที่ดื่มน้ำบ่อที่ปนเปื้อนสารหนูจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเป็นมะเร็ง 1 คน”

การตอบคำถาม การอธิบายคำถามเหล่านี้ต่างหากที่ กฟผ.ควรจะทำ และนำงบประมาณปีละกว่า 300 ล้านบาท มาดำเนินการเพื่อให้สังคมและชุมชนได้รับรู้ และเข้าใจอย่างถ่องแท้ อันจะนำไปสู่ความเข้าใจ ลดความขัดแย้ง ลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ การใช้วิชามารด้วยพาแกนนำผู้นำในพื้นที่ไปดูงานต่างประเทศ เลี้ยงดูปูเสื่อ ใช้วิธีการติดสินบนเหล่าข้าราชการ แจกเงินให้วัด มัสยิด โรงเรียน หรือบรรดานักการเมืองทั้งในระดับชาติ และท้องถิ่นเพื่อให้ไปกำราบฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือลุกขึ้นมาตรวจสอบโครงการ วิชามารพวกนี้ควรจะยกเลิกได้แล้วครับ ชาวบ้านเขารู้ทันกันหมดแล้วล่ะ

กำลังโหลดความคิดเห็น