ตรัง - โรงพยาบาลห้วยยอด จังหวัดตรัง จัดตั้งโรงงานขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นแห่งแรกในเขตภาคใต้ฝั่งอันดามัน จนสามารถช่วยเหลือคนพิการไปแล้วถึง 60 ราย โดยเฉพาะผู้ที่มีฐานะยากจน
วันนี้ (13 มี.ค.) นายแพทย์ประวิทย์ เอี่ยมวิถีวนิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลห้วยยอด จังหวัดตรัง กล่าวว่า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา โรงพยาบาลชุมชนในเขตภาคใต้ฝั่งอันดามัน ยังไม่มีโรงงานผลิต เปลี่ยน และซ่อมแซมขาเทียมสำหรับให้บริการผู้พิการขาขาด ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช หรือโรงพยาบาลตรัง แต่การทำขาเทียมในแต่ละราย ผู้ป่วยต้องเดินทางไปมามากกว่า 1 ครั้ง เพราะต้องไปวัดขา ทำขา และทดลองเดิน จนทำให้เกิดความไม่สะดวก รอคิวนาน และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง
ดังนั้น มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดเชียงใหม่ จึงมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งโรงงานขาเทียมพระราชทานขึ้น ณ โรงพยาบาลห้วยยอด สำหรับให้บริการผู้พิการในเขตภาคใต้ฝั่งอันดามัน และพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ เป็นแห่งแรก พร้อมกับให้การสนับสนุนงบประมาณ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1 ล้าน 2 แสนบาท โดยเป็นครุภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับโรงงาน และวัสดุอุปกรณ์ 1 ล้านบาท และการปรับปรุงอาคารใช้เป็นโรงงานอีก 2 ล้านบาท รวมทั้งช่วยดำเนินการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทำขาเทียมด้วย
ทั้งนี้ โรงงานขาเทียมพระราชทาน ได้เริ่มเปิดมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 ให้บริการทำขาเทียม ซ่อมขาเทียม เปลี่ยนฝ่าเท้าเทียม ซ่อมครุภัณฑ์เครื่องใช้ผู้พิการ เช่น รถเข็น และให้บริการกายอุปกรณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้พิการขาขาด ทั้งชาย-หญิง รวม 2 คน มาทำหน้าที่ให้บริการ ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้ผู้พิการมีงานทำแล้ว เจ้าหน้าที่ทั้งคู่ยังมีความเข้าใจถึงความต้องการของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี เนื่องจากตนเองก็เป็นผู้พิการขาขาด และเป็นผู้ที่ใช้ขาเทียมซึ่งผลิตขึ้นจากโรงงานแห่งนี้ด้วย
สำหรับผลจากการดำเนินงานในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า สามารถให้บริการผู้พิการไปแล้ว 60 ราย หรือเฉลี่ยเดือนละ 3-4 ราย ทั้งๆ ที่มีศักยภาพในการรองรับผู้พิการได้วันละ 1 ราย หรือเดือนละ 30 ราย ซึ่งต่อไปจะต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์ออกนอกจังหวัดตรังให้มากขึ้น เพื่อเชิญชวนผู้พิการทั้งที่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ หรือผู้พิการที่มีฐานะยากจนให้เข้ามาใช้บริการที่โรงงานขาเทียมแห่งนี้ ซึ่งล่าสุด ก็ได้มีการจัดตั้งกองทุนผู้พิการยากไร้ชึ้นมาช่วยเหลือแล้ว
นอกจากนั้น ผู้พิการ และญาติต่างก็มีความพึงพอใจในบริการมาก โดยเฉพาะการเดินทางที่สะดวก และสถานบริการยังอยู่ใกล้บ้าน ถึงแม้บางรายจะมาจากต่างจังหวัด ในเขตภาคใต้ฝั่งอันดามันก็ตาม เนื่องจากเดินทางไม่ไกลจนเกินไป ส่วนคุณภาพของขาเทียมที่ได้รับก็มีความสวยงาม และสวมใส่นุ่มสบาย โดยในปีงบประมาณ 2556 นี้ โรงงานขาเทียมพระราชทานมีแผนจะขยายกิจกรรมเพิ่มหลายอย่าง เช่น การจัดตั้งศูนย์ซ่อมรถเข็นผู้พิการ และการจัดตั้งศูนย์ผลิตรองเท้าสำหรับผู้พิการ หรือผู้ป่วยเบาหวาน