xs
xsm
sm
md
lg

“ก็ต้องยอมลำบากบ้าง...เพื่อปลาทู” / บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง  นะแส
 
“ผมเคยเป็นชาวประมงในเขตห้ามจับ การปิดอ่าว ห้ามจับปลาด้วยเครื่องมือบางประเภทเท่านั้นครับ อีกหลายประเภทยังทำมาหากินได้ตามปกติ และการปิดอ่าวไทยก็จำกัดบริเวณแค่บางจังหวัดคือ ประจวบฯ ชุมพร และสุราษฎร์ฯ ผมเคยเป็นชาวประมงในเขตห้ามจับ แก้โดยการออกไปประกอบอาชีพนอกเขตหวงห้าม ..“ ก็ต้องยอมลำบากบ้างเพื่อปลาทู” นี่เป็นประโยคสั้นๆ ที่นายแพทย์ท่านหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่กับอาชีพทำการประมง และเติบโตมาจากครอบครัวของชาวประมงแห่งทะเลชุมพร เป็นประโยคสั้นๆ ของท่านแต่ก็กินใจผู้คนผู้คนจำนวนมาก ที่ต่างเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งอาหารโปรตีนจากธรรมชาติ โดยเฉพาะอาหารโปรตีนจากทะเล อันประกอบไปด้วย กุ้ง หอย ปู ปลานานาชนิด ที่กำลังถูกกลบเกลื่อนด้วยวาทกรรมว่า ทะเลไทยเสื่อมโทรม ไม่มีกุ้ง หอย ปู ปลามากพอให้แก่สังคมอีกต่อไปแล้ว

การประกาศปิดอ่าวทะเลฝั่งอ่าวไทยเป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์-15 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งห้ามไม่ให้ชาวประมงใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดทำการประมง เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว อยู่ในช่วงฤดูที่ปลามีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัววัยอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนจากงานศึกษาวิจัยพบว่า พื้นที่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ทางกรมประมงจึงได้ประกาศใช้มาตรการห้ามจับปลาโดยเครื่องมือทำการประมงบางชนิดที่จะทำลายแม่พันธุ์ปลา โดยเฉพาะปลาทูในพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 นับมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 60 ปี ซึ่งที่ผ่านมา ก็ประสบผลสำเร็จในการรักษาประชากรสัตว์น้ำให้คงความสมดุล มีปริมาณมากพอที่จะทำให้ชาวประมงได้มีอาชีพที่มั่นคง และผู้บริโภคปลาทูได้มีปลาทูบริโภคตลอดมา การบริหารการจัดการทะเลไทยน่าจะมีมาตรการนี้มาตรการเดียวที่พอจะส่งผลต่อการดูแลทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำอย่างเป็นรูปธรรม

ปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะต่อๆ มาก็มีการพบว่า ชาวประมงได้พัฒนาดัดแปลงเครื่องมือทำประมงบางชนิด/ประเภท ให้มีประสิทธิภาพในการจับพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ และสัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหา และป้องกันมิให้สัตว์น้ำถูกจับมากเกินควร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 (1) (2) (4) และ(5) แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 ออกประกาศกระทรวงฯ เรื่อง กำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดทำการประมงในฤดูปลามีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายในระยะเวลาที่กำหนด ลงวันที่ 24 มกราคม 2550 และให้กรมประมงยึดหลักปฏิบัติตามประกาศกระทรวงฯ อย่างเคร่งครัด และเข้มงวดกวดขันในการใช้มาตรการดังกล่าว

สำหรับเครื่องมือทำการประมงต้องห้ามตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่ (1) เครื่องมืออวนลากทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกล ยกเว้นเครื่องมืออวนลากที่ใช้ประกอบกับเรือกลลำเดียวที่ความยาวเรือไม่เกิน 16 เมตร ให้ทำการประมงได้เฉพาะในเวลากลางคืน (ตั้งแต่เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตก และพระอาทิตย์ขึ้น) (2) เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมงด้วยวิธีล้อมติดปลาทู หรือด้วยวิธีอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน (3) เครื่องมืออวนติดตาทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมง ยกเว้น ก. เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือกลที่วางเครื่องกลางลำไม่มีเก๋ง (หลังคา) ขนาดความยาวเรือไม่เกิน 14 เมตร หรือการใช้เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์เพลาใบจักรยาว ข. เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือกล และเครื่องมือกว๊านช่วยในการทำการประมงโดยใช้อวนที่มีขนาดความลึกอวนไม่เกิน 70 ช่องตาอวน ความยาวอวนตั้งแต่ 4,000 เมตรลงมาในขณะทำการประมงแต่ละครั้ง

กรณีใช้อวนตามข้อ ข.วรรคแรกซึ่งมีความยาวอวนเกินกว่า 4,000 เมตรขึ้นไป ในขณะทำการประมงในแต่ละครั้ง ห้ามใช้เครื่องมือกว๊านช่วยในการทำการประมง และต้องทำการประมง เครื่องมืออวนล้อมจับทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมง (5) เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ทำการประมงปลากะตัก (6) เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ประกอบกับเรือกลที่มีขนาดความยาวเรือเกินกว่า 14 เมตรขึ้นไป ในการวัดขนาดความยาวของเรือกลที่ใช้ประกอบกับเครื่องมือทำการประมง ตามความในประกาศนี้ให้ใช้วิธีการวัดขนาดความยาวเรือตลอดลำ (Length Over All) หรือ (L.O.A.) คือ วัดความยาวเรือทั้งหมด

หากมีการฝ่าฝืนตามประกาศดังกล่าวได้มีการกำหนดโทษไว้ว่า หากมีชาวประมงรายใดฝ่าฝืนใช้เครื่องมือต้องห้ามดังที่กล่าวมาทำการประมงในพื้นที่ที่ได้ประกาศปิดอ่าวฯ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ จากการศึกษาผลจากใช้มาตรการปิดอ่าวที่ผ่านมาของกรมประมง ผลการศึกษา ของกรมประมงระบุว่า ในช่วงหลังฤดูกาลปิดอ่าวปี 2555 พบมีความชุกชุมของสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นถึง 2.34 เท่าตัว โดยเฉพาะปลาทู ซึ่งแต่ละปีหลังจากปิดอ่าว พื้นที่ของจังหวัดประจวบฯ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ได้ผลผลิตปีละไม่ต่ำกว่า 65,000 ตันต่อปี มูลค่าประมาณ 2,925 ล้านบาท และในปี 2554 สามารถรักษาระดับผลผลิตปลาทูทุกพื้นที่ในอ่าวไทยระดับเฉลี่ย 100,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท  มาตรการปิดอ่าวของกรมประมงจึงควรได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจากชาวประมง หรือผู้บริโภค

การดูแลปลาทู การหามาตรการที่จะทำให้สังคมไทยมีปลาทูบริโภคตลอดไปจึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญ การนำลูกปลาทูตัวเล็กๆ มาต้มตากขายเกลื่อนเมืองแสดงให้เห็นว่า มาตรการทางกฎหมายยังมีไม่มากพอที่จะดูแลลูกปลาทู การที่ยังอนุญาตให้มีการทำการประมงด้วยเรืออวนลาก/อวนรุน/เรือปั่นไฟ เพื่อตอบสนองธุรกิจปลาป่น ล้วนเป็นการทำการประมงแบบล้างผลาญ ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน และแหล่งเพาะพันธุ์ ทำลายแหล่งอาหารโปรตีนตามธรรมชาติของสังคม
 
ถึงเวลาแล้วยังที่เราจะต้องหาทางดูแลรักษาทะเลไทยกันอย่างจริงๆ จังๆ เสียที อาจจะเริ่มจากการช่วยกันรณรงค์ไม่กินลูกปลาทูทอดกรอบ รณรงค์ให้มีการยกเลิกเครื่องมือทำการประมงแบบล้างผลาญ การทำการประมงแบบทำลายล้างอย่างการทำการประมงด้วยเรืออวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ ให้หมดไปจากท้องทะเลไทย

กำลังโหลดความคิดเห็น