โดย...สมอุษา บัวพันธุ์ มาดีหะห์ วายูโซ๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) จับมือกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ อบรมอาสาสมัครในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการบันทึกข้อมูลการร้องเรียนการซ้อมทรมาน โดยนำหลักนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ เมื่อวันที่ 23-24 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีทักษะในการเก็บข้อมูลการร้องเรียนได้อย่างครบถ้วน การรวบรวมพยานหลักฐานที่ระบุได้ว่า มีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นจริง รวมถึงร่วมทราบถึงวิธีการประสานงาน การส่งต่อเรื่องร้องเรียน วิธีการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น
โครงการอบรมครั้งนี้ เพื่อเรียนรู้การบันทึกข้อมูลการร้องเรียนการถูกซ้อมทรมาน เนื่องจากเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิในชีวิต และร่างกายโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่กระทำละเมิดนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ และกระทำโดยเจตนา ทำให้บุคคลเกิดความเจ็บปวด หรือทุกข์ทรมานอย่างสาหัส โดยมุ่งประสงค์เพื่อให้ได้รับคำสารภาพ เพื่อการลงโทษ เพื่อการข่มขู่ หรือเพื่อเหตุผลใดๆ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติ
น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) กล่าวว่า เริ่มจากการที่เรารับทราบสภาพปัญหาของการทรมานที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จริงๆ สภาพปัญหานี้ก็เกิดขึ้นมานานแล้ว แล้วเราก็ดำเนินการรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น แล้วก็ดำเนินการแก้ไขเยียวยาไปแล้วบ้าง แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับปฏิบัติในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีการทรมาน คงมีเหตุการณ์ลักษณะเช่นนั้นเกิดขึ้นอยู่ หมายถึงการทำร้ายร่างกาย ทำให้เกิดบาดแผล ทางด้านจิตใจ จนกระทั่งสาหัส แล้วก็เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การซ้อมทรมานที่เกิดขึ้น กลับไม่ได้รับการรวบรวมอย่างเป็นระบบทั้งจากหน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคมมีเพียงเรื่องร้องเรียนที่กระจัดกระจายไปยังที่ต่างๆ จึงได้จัดทำโครงการการรวบรวมข้อมูลการร้องเรียนการทรมานขึ้น เพื่อรวบรวมข้อมูลการทรมานที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้
แม้ว่าขณะนี้ รัฐบาลได้ลงนามเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาที่ว่าด้วยเรื่องการต่อต้านการซ้อมทรมาน ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลต้องจัดทำรายงานต่อองค์การสหประชาชาติถึงความก้าวหน้า การแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง จนกระทั่งถึงห้ามไม่ให้มีการซ้อมทรมาน ไม่ว่าสถานการณ์ใดๆ และรัฐบาลได้เขียนรายงานในนามของรัฐเพื่อรายงานให้แก่สหประชาชาติไปแล้ว คณะรัฐมนตรีอนุมัติเห็นชอบการส่งรายงานฉบับนี้แล้ว
ประเด็นปัญหาคือ ข้อมูลในรายงานของรัฐบาลอาจจะไม่ทั่วถึง ไม่ครอบคลุมถึงทุกประเด็น รวมทั้งการเข้าถึงกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบโดยตรง มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงริเริ่มที่จะจัดทำรายงานนี้ที่เรียกว่ารายงานเงา หรือรายงานคู่ขนานจากประชาสังคมเพื่อจะส่งให้องค์การสหประชาชาติ
การทำบันทึกข้อมูลการร้องเรียนการซ้อมทรมานนี้จะมีประโยชน์คือ สามารถทำให้รัฐบาลเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า สถานการณ์การละเมิดในเรื่องของการซ้อมทรมานมีประเด็นรายละเอียดอะไรบ้าง ผู้ได้รับผลกระทบเป็นใครบ้าง ข้อจำกัดในเรื่องของการเยียวยา การช่วยเหลือ การนำคนผิดมาลงโทษ หรือขั้นตอนของการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุมีอะไรที่ขาดตกบกพร่องบ้าง
“เราก็เลยรวบรวมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นรูปเป็นร่างเป็นรายงานคู่ขนานขึ้นมา แต่หลายๆ กรณีอาจจะต้องเริ่มเก็บข้อมูลใหม่ เราจึงได้มีการจัดอบรมความเข้าใจเรื่องอนุสัญญาฉบับนี้กับเครือข่ายอาสาสมัครของเรา เพื่อให้เข้าใจกลไกการช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้น เพราะเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะผู้ได้รับผลกระทบต้องได้รับการเยียวยาเบื้องต้น เช่น ถ้าเขาถูกทำร้ายร่างกายอยู่ในระหว่างการควบคุม เราจะดำเนินการให้มีการตรวจเยี่ยม มันมีการตรวจสอบการใช้อำนาจ ว่าการควบคุมเป็นไปโดยพลการ ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า”
ส่วนหนึ่งการรายงานด้านการซ้อมทรมานจะส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสำคัญแล้วก็เห็นว่าประเด็นปัญหามีอยู่จริง ต้องการให้องค์กร หรือหน่วยงานอื่นๆ มามีส่วนช่วยในการช่วยเหลือเยียวยาแก้ไขด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ พยาบาล หน่วยงานด้านสาธารณสุข เพราะผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ไม่ถึงมือแพทย์ กว่าจะถึงมือแพทย์ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติก่อน คือ ไปที่เรือนจำ การรักษาบาดแผลก็ต้องรักษาไปตามธรรมชาติ บาดแผลทางด้านจิตใจก็ไม่ได้รับการรักษาอีกด้วย
ดร.พญ.ปานใจ โวหารดี จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นผู้มาให้ความรู้ในเรื่องวิธีและหลักของการเก็บพยานหลักฐาน หรือกับบุคคลที่ถูกทรมานตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงประโยชน์ของการนำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ว่า นิติเวช และนิติวิทยาศาสตร์เป็นการหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เอามาใช้ เหมือนเป็นการป้องกันไม่ให้มีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น เพราะเมื่อนำหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาใช้ เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่จำเป็นต้องไปซ้อมผู้ต้องสงสัย เพื่อให้ได้มาซึ่งคำสารภาพ ประการที่สอง นิติเวช หรือนิติวิทยาศาสตร์ เป็นเครื่องบันทึก หรือเป็นเครื่องตรวจสอบข้อมูล ในกรณีที่มีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น เช่น การบันทึกบาดแผล หรือว่าการตรวจหาผลข้างเคียงจากการซ้อมทรมาน หรือที่มีผลต่อจิตใจ
น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมในโครงการเก็บข้อมูลในเรื่องของคนที่ถูกซ้อมทรมานครั้งนี้ ได้แสดงความคิดเห็นว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า คนที่มองต่าง หรือคนที่ถูกกล่าวหาเป็นคนที่สมควรถูกทำร้าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักของความเป็นธรรม ก็เลยต้องมีกลไกเพื่อจะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีก
“คนที่ถูกซ้อมทรมานแม้ถูกยกฟ้องแล้ว แต่เขาจะมีบุคลิกภาพ หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เขาจะมีความรู้สึกต่อต้านรัฐ ต่อต้านกระบวนการยุติธรรม เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงตอบโต้ ซึ่งมันจะทำให้เหตุความรุนแรงจะขยายขึ้น ความขัดแย้งก็ยิ่งมากขึ้น”
ปัญหาการถูกซ้อมทรมานเป็นเรื่องยากที่จะได้ข้อมูล เช่น ครอบครัวไม่ได้รับรู้ในเรื่องของถูกซ้อมทรมานที่เกิดขึ้น จะรู้ก็ต่อเมื่อได้ไปฟังการพิจารณาคดีในชั้นศาล เพราะคนที่ถูกซ้อมทรมานกลัวว่าทางครอบครัวไม่ปลอดภัย กังวล เสียใจ จึงให้ข้อมูลได้ไม่มากพอ ส่วนตัวผู้ที่ถูกซ้อมทรมานเองจะสามารถให้ข้อมูลมากพอแต่ก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุย และความไว้เนื้อเชื่อใจ
จากที่ทีมงานได้ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านในการทำความเข้าใจเรื่องการถูกซ้อมทรมาน ส่วนใหญ่ชาวบ้านเข้าใจว่า การถูกทำร้ายร่างกายจากเจ้าหน้าที่นั้นสามารถทำได้ เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ อย่างเช่นมีกรณีที่ควบคุมตัวที่อิงคยุทธบริหาร ชาวบ้านบอกว่า ช่วยบอกเขาหน่อยว่าอย่าทำแรงๆ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการทำร้ายร่างกายเป็นการกระทำที่ผิดทางกฎหมาย
ในความเป็นจริง การซ้อมทรมานไม่ใช่เพียงการทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมการกระทำอื่นๆ เช่น การใช้คำพูดที่ข่มขู การปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรม การใช้คำไม่สุภาพในที่ที่ไม่เหมาะสม การไม่ได้รับการปฎิบัติตามหลักศาสนา หรือการที่ได้อยู่ในที่ไม่เหมาะสม เช่น มีเหล้า มีสุนัข อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นความรู้ที่ต้องขยายให้แก่ชาวบ้านให้เข้าใจมากขึ้น
ด้านนายธรรมรัตน์ อาลีลาเต๊ะ จากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ ได้เล่าประสบการณ์จากการถูกคดีความมั่นคงตั้งแต่ปี 2550 ว่า จากที่อยู่ในเรือนจำประมาณปีกว่าๆ แม้ไม่เคยโดนซ้อมทรมาน แต่ได้ฟังจากเพื่อนๆ ที่ถูกควบคุมตัว และที่ได้เห็นกับตาตัวเองของคนที่ถูกซ้อมทรมาน บางคนตาเขียว เดินไม่ได้ บอบช้ำ หลังจากการที่ได้สอบถามเรื่องการทรมานรู้สึกว่าตนเองโชคดีที่ไม่โดนทรมาน แค่ถูกข่มขู่เหมือนกับจะทำร้าย แต่เนื่องจากว่าเจ้าหน้าที่รู้ว่าทำงานเป็นครูจึงไม่ได้ลงมือทำร้าย
นายธรรมรัฐ กล่าวว่า การทรมานจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะสิ่งที่ภาครัฐได้ทำ เช่น การข่มขู่ทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ แต่พอขึ้นชั้นศาลจำเลยกลับปฏิเสธไม่ให้คำสารภาพในกระบวนการยุติธรรม การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำร้ายร่างกาย หรือกระทำการทรมานต่อประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อที่จะให้คำรับสารภาพถือว่าเป็นการล้มเหลว การอบรมเพื่อการเก็บข้อมูลครั้งนี้ถือว่าเป็นฐานข้อมูลในการที่จะได้ไปพูดคุย เพราะจะได้เห็นกระทำของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชนว่าเป็นอย่างไรบ้าง