xs
xsm
sm
md
lg

“คูเต่า” ชุมชนต้นแบบนำวิถีสองวัฒนธรรมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
โดย...ทีมงานมูลนิธิชุมชนสงขลา
 
เมื่อเร็วๆ นี้ชุมชนตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้ร่วมนำเสนอแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต และผังชุมชนเพื่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตำบลคูเต่า พ.ศ.2556-2559 เพื่อเป็นตัวอย่างระดับตำบลในการรับมือผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 
“เราเป็นชุมชนสองวัฒนธรรม พุทธกับมุสลิมอยู่ร่วมกันมายาวนาน” ผอ.สนิท จินดาวงศ์ ผู้นำชุมชนกล่าว
 
ชุมชนตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในปัจจุบัน มี 2,557 ครัวเรือน 12,990 คน นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มตอนปลายของคลองอู่ตะเภา และส่วนหนึ่งติดชายฝั่งทะเลสาบสงขลา มีที่ราบลุ่มผืนใหญ่เป็นพื้นที่ทำนาในอดีต และมีพื้นที่ทำสวนอยู่เล็กน้อย จากสภาพการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนดังกล่าว จึงทำให้คนส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร ทำนา ทำสวน และการประมงหาปลา แต่ในอดีตผู้คนจะทำมาหากินเพื่อการเลี้ยงชีพเป็นส่วนใหญ่ เช่น เลี้ยงวัวไว้ไถนา เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไว้กินเศษอาหารในครัวเรือน ทำนาเก็บข้าวไว้กิน ปลูกพืชผักไว้กินในครัวเรือน ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนจะอยู่แบบเรียบง่าย มีการพึ่งพาอาศัยกันสูง
 

 
ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกี เฟลเลอร์ ผ่านสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และมูลนิธิชุมชนสงขลา ได้ร่วมกันศึกษาเป็นเวลา 1 ปีเต็มๆ
 
นายอับดุลรอเฉด บินและ ทีมศึกษาชุมชนเล่าว่า “เราพบปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน  มีตั้งแต่อากาศร้อนมากขึ้น ร้อนต่อเนื่อง และยาวนานมากขึ้น  ส่งผลต่อสุขภาพกาย และใจ พบปัญหาสำคัญได้แก่ โรคหวัด โรคไข้เลือดออก ท้องร่วง ซึ่งชุมชนได้อาศัยอนามัย โรงพยาบาล และคลินิกเป็นสถานที่รักษา โดยสิทธิบัตรทอง และจ่ายเงินด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่”
 
นอกจากนั้น ยังประสบภัยแล้ง 1-2 ครั้ง/ปี มีปัญหาความสะอาด และน้ำประปาไหลไม่ต่อเนื่อง น้ำมีกลิ่น เป็นสนิม ตกตะกอน มีความต้องการน้ำทั้งภาคครัวเรือน และภาคการเกษตร ความต้องการในการใช้พลังงาน และผลกระทบต่อพืชเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบด้านอาหาร การประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ด้านสิ่งแวดล้อม
 

 
ด้วยลักษณะพื้นที่อยู่ในที่ต่ำ ที่นี่ยังรับน้ำเสียจากเขตเมืองน้ำเสียผ่านคลองแห หาดใหญ่ใน มาคูเต่า ทำให้กุ้งก้ามกราม ปลาตาย ระบบบำบัดน้ำเสียของหาดใหญ่ถูกดำเนินการจัดสร้างให้จากรัฐ ระบบท่อรวบรวมน้ำเสียไม่ครอบคลุมหาดใหญ่ทั้งหมด ทำให้น้ำเสียส่วนหนึ่งไหลลงคลอง รวมกับน้ำเสียในชุมชน  บ่อกุ้ง โรงงาน ครัวเรือน ชาวบ้านบางส่วนทิ้งขยะแล้วขยะมากับน้ำ
 
“กรณีครัวเรือนเทศบาลมีเทศบัญญัติบังคับใช้แล้ว ในพื้นที่ยังไม่มีครัวเรือนที่มีบ่อดักไขมัน แต่ด้วยข้อจำกัดทางการเมืองทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้” นายอับดุลรอเฉด บินและ เล่าและว่า น้ำเสียส่งผลกระทบด้านสุขภาพ การประกอบอาชีพ น้ำดื่ม ระบบนิเวศเสื่อมโทรม  
 
“ผลกระทบสำคัญที่สุดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝน ส่งผลต่อน้ำท่วม ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน สัตว์น้ำลดจำนวนลง สุขภาพ รวมถึงอาจเกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานกับประชาชน หรือระหว่างชุมชนหากการช่วยเหลือเกิดขึ้นช้า  โดยมีพื้นที่เสี่ยงครอบคลุมแทบทุกหมู่บ้านในตำบล”
 

 
ปัญหาสำคัญในช่วงก่อนเกิดเหตุ พบว่า ในระดับบุคคลนั้นชุมชนยังไม่เห็นความสำคัญ และไม่ตระหนักถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่เชื่อข่าวสารที่ได้รับมา มีความเชื่อว่าน้ำท่วมได้ก็ลดเองได้ เป็นเรื่องธรรมดา ชุมชนเองไม่ได้ดูแลเรื่องการวางท่อหน้าบ้าน การถมดินก่อนที่จะสร้างบ้าน ทำให้เกิดปัญหาการถ่ายเทน้ำ ในช่วงที่มีฝนตกหนัก และน้ำล้นตลิ่ง ในขณะที่ระบบการรับมือยังไม่มีสัญญาณเตือนภัย อุปกรณ์ต่างๆ ไม่พร้อม เทศบาลตั้งอยู่บนที่ราบต่ำ การให้ และรับข้อมูลข่าวสารมีน้อย และมีความล่าช้า
 
ขณะเกิดเหตุ ไม่มีอุปกรณ์สำรองไฟ ไม่มีการขุดลอกคูน้ำระบายน้ำ ต้นไม้หักโค่นลงมาขวางทางน้ำ ไม่มีพื้นที่สูงสำหรับพาสัตว์ไปอาศัย ต้องคอยเฝ้าระวังสัตว์ที่มากับน้ำ น้ำมาเร็วมาก ชาวบ้านไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อนหน้านี้ จึงเตรียมตัวไม่ทัน ทรัพย์สินเสียหายหลายอย่าง เช่น บ้านเรือน สัตว์เลี้ยง ตลอดจนพืชผักที่ปลูกไว้ ถนนชำรุด เดินทางไม่สะดวก จุดอพยพมีน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการ หน่วยงานต่างๆ ไม่มีการแบ่งหน้าที่ในการรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน ส่งผลให้ชาวบ้านมีความสับสนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นต้องติดต่อหน่วยงานใด
 

 
หลังเกิดเหตุ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลพบว่า เกิดการโจรกรรม ลักขโมยต่างๆ แต่ละครอบครัวแจ้งความเสียหายไม่ตรงกับความเป็นจริง อุปกรณ์เครื่องใช้เกิดความเสียหาย การช่วยเหลือ หรือชดเชยจากภาครัฐไม่มีความเสมอภาค ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมพบว่า มีน้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น เกิดโรคระบาด พื้นที่ทางการเกษตรเกิดความเสียหาย ในการซ่อมบำรุงถนน ไม่มีการเตรียมวางแผนเกี่ยวกับการวางท่อระบายน้ำ
 
ผลกระทบที่เกิดจากลมพายุ เกิดเฉลี่ย 1-2 ครั้ง/ปี จะส่งผลกระทบต่อทรัพย์สิน พื้นที่การเกษตร และผลผลิตเสียหาย บ้านพัง หลังคาบ้านโดนลมพัด อาชีพ และรายได้ของชาวประมง และผู้ที่อยู่ริมชายฝั่งลดลง
 
ผลกระทบที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ส่งผลกระทบต่อการลดลงของพื้นที่ริมทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง กระทบแหล่งท่องเที่ยว และยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำที่นำมาผลิตน้ำประปา และใช้ในการเกษตร รวมถึงส่งผลต่อการทำการเกษตร และเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงมากขึ้น  ในอดีตเคยมีการปลูกป่าชายเลนที่ ม.3 ได้พันธุ์จากสตูล แต่ปลูกแล้วตาย เนื่องจากน้ำเค็ม ชุมชนเคยปลูกต้นโกงกางปลูกในปล้อง ขึ้นมาเพียง 1 เมตรก็ตาย ไม่ได้ผล   
 
แผนผังภาพรวมของพื้นที่ ต.คูเต่า
 
อ.โสพล ชูศรี แกนนำชุมชนเล่าว่า ที่นี่มีทุนทางทรัพยากรที่สำคัญได้แก่ ปลาบอกบ้านควน กุ้ง กุ้งต้มน้ำผึ้ง ปลาท่องเที่ยว รสชาติดีเพราะเป็นพื้นที่ปลา 2 น้ำ ปลา มีหัตถกรรมจักสานจากเตยปาหนัน ส้มโอ อ้อยเหลืองหางช้างมีรสชาติดีหอมหวาน มีขนมข้าวพอง ทองม้วน ขนมคอเป็ด ขนมงา ขนมจีน อ้อย เส้นก๋วยเตี๋ยว มีเพลงเรือแหลมโพธิ์คู่กับการแข่งเรือ/เรือพระทางน้ำ มีผลิตภัณฑ์เชือกกล้วย เตย คุณภาพใบกล้วยพังลามีความหนา มัน แวว มีผักบ้านคูเต่า (ผักใบ ผักบุ้งจีน ผักบุ้งยอด ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง แตงกวา ถั่งฝักยาว พริก มะเขือทุกประเภท บวบ) มีท่าโอ เป็นที่มาของคลองอู่ตะเภา เป็นจุดรวมแข่งเรือยาว
 
จากสภาพปัญหา และทุนทางสังคมดังกล่าว คณะทำงานซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ชุมชน หน่วยงาน ได้ร่วมกันเสนอ วิสัยทัศน์ชุมชน “คูเต่าเมืองสองวัฒนธรรม  ก้าวนำภูมิปัญญา ล้ำหน้าด้านการจัดการ แหล่งอาหารหลากหลาย พัฒนาอาชีพเสริมรายได้  ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมรับมือภัยพิบัติ”
 

แผนผังของดีในพื้นที่ ต.คูเต่า
 
นายวัลลภ ธรรมรัตน์ แกนนำชุมชนเล่าว่า มาตรการในด้านการบริหารจัดการน้ำ ได้จัดทำแผนรับมืออุทกภัย ตำบลคูเต่าขึ้น โดยมีกลไกประเมินสถานการณ์ มีการพัฒนาระบบการเตือนภัย ด้วยการติดตั้งแถบสี (เหลือง/แดง) วัดระดับน้ำ 10 จุด ติดตั้งป้ายและธงสี (เขียว/เหลือง/แดง) เพื่อใช้ในการเตือนภัย 5 จุด มีการส่งข่าวผ่านเสียงตามสายในการเตือนภัยให้แก่ชุมชน และเสริมด้วยวิทยุเครื่องแดง 20 จุด
 
แก้ปัญหาภัยแล้งด้วยการจัดทำโรงน้ำชุมชนตำบลคูเต่าเพื่อผลิตน้ำดื่มโดยชุมชนมีส่วนร่วม 1 แห่ง แก้ไขปัญหาน้ำเสียด้วยการประสานจังหวัดเป็นเจ้าภาพเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนหาทางแก้ปัญหาระยะสั้น/ยาว ขยายผลความสำเร็จจากตัวอย่างการทำระบบบำบัดน้ำเสียระดับครัวเรือน/กลุ่มครัวเรือน ม.5, 7
 
แผนผังระบบเตือนภัยในพื้นที่ ต.คูเต่า
 
ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ร่วมกันสร้างหมู่บ้านต้นแบบ ม.4, 6 เป็นหมู่บ้านตัวอย่าง ที่มีการดูแลสุขภาพระดับครัวเรือน และชุมชน ร่วมกับกิจกรรมด้านการผลิตอาหาร การรักษาสภาพแวดล้อม การจัดการขยะ เทศบาลตำบลคูเต่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ร่วมกับมูลนิธิพระจันทร์เสี้ยว หาแพทย์มาประจำพื้นที่เดือนละครั้ง โดยชุมชนร่วมสมทบค่าใช้จ่ายตามสมควร
 
ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ชุมชนร่วมกันสร้างกติกาชุมชนในการจัดการขยะ กำหนดพื้นที่สะอาด และสกปรก สร้างครัวเรือนต้นแบบที่มีการบริหารขยะเป็นประโยชน์ มีการคัดแยกขยะ นำขยะที่เป็นประโยชน์มาทำปุ๋ย เพื่อใช้ในการผลิตอาหารอินทรีย์ นำขยะเปียกหมักจุลินทรีย์ทำน้ำหมัก และทำปุ๋ยใต้ต้นไม้  
 
ร่วมกันปลูกป่า 3 โซน เพื่อป้องกันลม กันการกัดเซาะชายฝั่ง ได้แก่ โซนชายฝั่ง ร่วมกันปลูกลำพู/โกงกาง ปักไม้ไผ่กันเขตอนุรักษ์ ปลูกตามสภาพพื้นที่หมู่บ้าน, โซนริมคลอง ปลูกไผ่/ราโพ/คล้า/คูระ/กก และโซนชุมชน เสริมทัศนียภาพทำให้บ้านสวยน่ามอง ปลูกขี้เหล็ก/ขาม/หัวครก/หว้า แล้วมีการยกร่างกติกาหมู่บ้าน (ฮูกุมกวากัด) ทำกติกาจากระดับชุมชนแล้วเสริมด้วยเทศบัญญัติดูแลการปลูกป่า/ดูแลสัตว์เลี้ยงที่ไปกิน แต่ละชุมชนมีนโยบายของตนในการปลูก และดูแล
 
ด้านการส่งเสริมอาชีพและวัฒนธรรมชุมชน ร่วมกับตำบลแม่ทอม สภาองค์กรชุมชนตำบล กศน.ตำบล เกษตรตำบล พัฒนาชุมชน ร่วมส่งเสริมการผลิตแบบอินทรีย์ (เกษตรอินทรีย์คูเต่า) เสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  มีการขุดหลุมขยะชีวภาพทำปุ๋ยหมักโดยใช้วัสดุที่ไม่ใช้แล้วทิ้งเป็นขยะ นำวัสดุในท้องถิ่นมาใช้ทำปุ๋ย (กุ้ง/ปลา/ไก่ ฯลฯ) เพื่อลดต้นทุนการผลิตปลูก โดยการวางแผนการผลิตร่วมกันของชุมชน แบ่งกันรับผิดชอบ แบ่งโซนการผลิต ส่วนเกินนำไปจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว หรือสร้างอาชีพโดยการปลูกเชิงพาณิชย์  จัดตั้งองค์กร ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานจากกระทรวงเกษตร/มีกรรมการตรวจสอบภายใน ภายนอก มีการอบรมสมาชิกก่อนรวมกลุ่ม มีฐานเครือข่ายเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ในการจัดซื้อหมุนเวียน ให้ผู้สูงอายุเพาะดินมาทำพันธุ์ไม้ขาย (มะขาม/มะละกอ ฯลฯ) แต่ละครัวเรือนมีการปลูกผัก/พืชพื้นฐานประจำครัวเรือน ให้ปลูกครัวเรือนละ 4-5 ต้น
 
แผนผังการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ ต.คูเต่า
 

สำรวจทุนแต่ละหมู่บ้าน/แผนที่ทุนทางสังคม กำหนดปฏิทินการท่องเที่ยวตามฤดูกาล  ต่อยอดผลิตภัณฑ์เชือกกล้วยพังลา (กระเป๋าเชือกกล้วย) ขนมพื้นบ้าน ม.6 ขนมทองม้วน (ม้วนใหญ่) ที่มีโอกาสถวายงานสมเด็จพระเทพฯ ออกสู่ตลาดวงกว้าง ส่งเสริมวัฒนธรรม 2 ฝั่งคลอง ระหว่างแม่ทอม/คูเต่า ด้วยเทศกาลอาหารสองน้ำ ร่วมกับการลากพระ ส่งเสริมการเล่นเพลงเรือในเรือ กรณีวัฒนธรรมของมุสลิม อดีตเคยเล่น มะโย่ง ร็องเง็ง ส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูเพื่อเชื่อมโยงคนพุทธ/มุสลิมในตำบล มีวันกินปลาท่องเที่ยว ประจำเทศกาล และมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วยโปรแกรมการท่องเที่ยวเสริมเทศกาล
 
ด้านการบริหารจัดการชุมชน จัดทำกติกา หรือธรรมนูญตำบลจากผังชุมชน โดยเริ่มต้นมาจากระดับหมู่บ้าน เสริมการท่องเที่ยวรองรับประชาคมอาเซียนสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน กองทุนกลางระดับตำบลมีการตั้งกรรมการระดับหมู่บ้านมาเป็นผู้ดูแล มีการระดมทุนร่วมกัน
 
อนึ่ง โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเครือข่ายเมืองในเอเชีย เพื่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมืองหาดใหญ่ (ACCCRN) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิร็อกกี เฟลเลอร์ ผ่านสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และมูลนิธิชุมชนสงขลา

 

กำลังโหลดความคิดเห็น