xs
xsm
sm
md
lg

ว.วันศุกร์เปิดวงถก “โรฮิงญา บทบาทของไทยภายใต้หลักมนุษยชน” ร่วมหาทางออกของปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีวิทยาลัยวันศุกร์ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ห้อง E105 คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “โรฮิงญา บทบาทของไทยภายใต้หลักมนุษยชน” โดยมี ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน สำนักจุฬาราชมนตรีภาคใต้ และกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดสงขลา พร้อม นพ.อนันต์ชัย ไทยประสาน เครือข่ายกลุ่มการเมืองภาคพลเมือง ร่วมเสวนา
นพ.อนันต์ชัย ไทยประทาน
 
นพ.อนันต์ชัย ไทยประทาน เครือข่ายกลุ่มการเมืองภาคพลเมือง กล่าวว่า สถานการณ์ชาวโรฮิงญาอพยพเข้ามาในไทยมีขึ้นมาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว แต่ตอนนั้นยังมีผู้อพยพไม่เยอะ จนถึงเดือน ม.ค. 2556 ที่ผ่านมา สถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ความขัดแย้งระหว่างมุสลิมโรฮิงญาและชาวพม่าเกิดขึ้นมาแล้วช้านาน ในสมัยที่อังกฤษทำสงครามกับพม่า ชาวโรฮิงญามากับกองทัพอังกฤษ แล้วมาอาศัยอยู่ที่รัฐยะไข่ ประเทศพม่า เป็นสาเหตุให้ชาวพม่าเกลียดชังมุสลิมโรฮิงญา เพราะมองว่าร่วมมือกับกองทัพอังกฤษมายึดบ้านเมือง

“ส่วนประเด็นที่ชาวโรฮิงญาอพยพมาอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งประเทศมาเลเซียนั้น มาจากเหตุผลหลายประการ เช่น อาจจะเป็นเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จึงทำให้พวกเขาอยู่ในประเทศพม่าไม่ได้ จึงต้องอพยพหนี หรือเป็นการจลาจลระหว่างไทยพุทธกับอิสลามในรัฐอารกัน ก็ยังไม่แน่ใจว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้พวกเขาอพยพมา

ชาวโรฮิงญามีทั้งหมด 3 ล้านคน ซึ่งอพยพอยู่ทั่วโลกแยกย้ายไปตามประเทศต่างๆ เช่น บังกลาเทศ มาเลเซีย แต่ตอนนี้เหลือไม่ถึงล้านคนแล้ว สาเหตุที่ชาวโรฮิงญาอพยพมาอยู่ที่ประเทศไทย หรือประเทศมาเลเซียนั้น เพราะประเทศเหล่านี้เป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำ และเป็นประเทศประชาธิปไตย” นพ.อนันต์ชัย กล่าว

 
ส่วนเรื่องค้ามนุษย์นั้นมีมานานแล้ว ตอนที่ชาวโรฮิงญาอพยพมาเมืองไทยจะมีนายหน้า ค่านายหน้าในประเทศไทยอยู่ที่ 30,000 - 40,000 บาท และในมาเลเซียคนละ 60,000 บาท ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าเรื่องค้ามนุษย์เป็นเรื่องจริงไหม แต่จับกุมผู้เกี่ยวข้อวได้แล้ว 8 คน และตอนนี้ชาวโรฮิงญาที่อพยพมาจากรัฐยะไข่ ประเทศพม่า มีทั้งหมด 3,000 คน อาศัยอยู่ในประเทศไทย 2,000 คน และประเทศมาเลเซีย 1,000 คน

วันนี้เราจะแสดงความเห็นว่าจะดูแลพวกเขาอย่างไร มองปัญหานี้อย่างไร จริงๆ แล้ว ที่ชาวโรฮิงญาอพยพมาถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เราต้องจับตัวและส่งตัวกลับประเทศต้นทาง แต่เราก็ยังทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะพวกเขาหนีร้อนมาพึ่งเย็น แล้วเราจะผลักไสพวกเขาไปอีกหรือ เรื่องนี้เป็นเรื่องของมนุษยชน ขณะนี้ประเทศไทยเราก็ไม่ต้องการจะให้พวกเขาอยู่ถาวร แต่เราให้อยู่เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อให้การช่วยเหลือ ดูแล และหาทางแก้ปัญหาต่อไป นพ.อนันต์ชัย ระบุและกล่าวต่อว่า

แนวทางที่ได้หารือกันนั้นคือ ให้พวกเขากลับไปอยู่ประเทศต้นทาง และจะกดดันประเทศพม่าในเรื่องของมนุษยชน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะให้มาอยู่ในประเทศไทยอย่างถาวร เพราะประเทศไทยเราก็มีประชาชนอีกเป็นล้าน ทั้งนี้ ยังมีข้อสรุปจากกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าประเทศไทยควรจะปรับทัศนคติ แก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และแก้กฎหมายการเข้าเมืองใหม่ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีความเป็นชาติในการดูแลผู้ลี้ภัย ผู้อพยพที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น และการส่งตัวพวกเขากลับไปอาจจะเจออันตรายที่ยิ่งกว่า เราต้องมองถึงความเป็นมนุษย์มากกว่าความมั่นคงในประเทศ และอยากให้องค์กรที่เกี่ยวข้องหาทางใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญในการแก้ไขปัญหา และสุดท้ายเราควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

อย่างไรก็ตาม น.พ.อนันต์ชัย ไทยประสาน กล่าวว่า ตนเองก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้มากนัก แต่เป็นห่วงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของทางกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย และสำนักจุฬาราชมนตรี แห่งประเทศไทย ว่าจะทำอย่างไรให้พม่าแก้ปัญหาที่ต้นตอ ไม่ต้องมาเป็นปัญหาของประเทศเพื่อนบ้านต่อไป
ผู้เข้าร่วมฟังสัมมนา
 
ด้านนายอิสมาแอล หมัดอาดัม เครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงญา จ.สงขลา กล่าวว่า สถานการณ์ชาวโรฮิงญาเริ่มต้นที่ทหารได้จับโรฮิงญาที่ลักลอบเข้าเมือง ในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจับได้ 834 คน หลังจากนั้นก็เจอตัวชาวโรฮิงญาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้ยอดรวมชาวโรฮิงญาอยู่ที่ 1,698 คน ยังไม่รวมชาวโรฮิงญาที่กระจายอยู่ตามหมู่บ้านอีก และคาดว่าที่ปาดังเบซาร์ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่ง รวมทั้งตามแหล่งป่าเขาที่ได้กักตัวไว้อีก และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีชาวโรฮิงญาเสียชีวิตไป 2 คน ซึ่งได้แจ้งตำรวจเพื่อให้การช่วยเหลือแล้ว

ทั้งนี้ เครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงญา จ.สงขลา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้สโลแกนที่ว่า “เครือข่ายแห่งน้ำใจ สายใยแห่งความเมตตา” เพราะชาวโรฮิงญาที่อพยพมาในประเทศไทยมีเป็นจำนวนมาก และต้องการความช่วยเหลือ ทางเครือข่ายก็อยากให้การช่วยเหลือ จึงได้ประชุมก่อตั้งเครือข่าย และได้กระจายเจ้าหน้าที่เครือข่ายไปตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งใน จ.สงขลา ก็มีชาวโรฮิงญากระจายไปตามจุดต่างๆ มากมาย และยังมีกระจายอยู่ตามจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย ทางเครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงญา จ.สงขลา ก็จะช่วยเหลือด้วยการทำอาหารให้กิน ให้ยารักษาโรค ถ้าพบว่าคนไหนเป็นโรคก็ส่งไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้ก็พบชาวโรฮิงญาเป็นโรคมาลาเรียแล้วส่วนหนึ่ง

“เครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงญา จ.สงขลา เชื่อว่าจะพบชาวโรฮิงญาอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง แต่ดีที่มีคนมาคอยให้ความช่วยเหลือเยอะพอสมควร โดยงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือพวกเขาก็เป็นเงินจากการบริจาคของพี่น้องชาวไทย ตอนนี้ก็ยังมีใช้อยู่ แต่ประเทศไทยจะกักตัวชาวโรฮิงญาที่อพยพมาไม่เกิน 6 เดือน ตนก็ไม่รู้ว่างบประมาณที่มีอยู่จะใช้ช่วยเหลือพวกเขาพอหรือเปล่า ในเวลานี้ทางเครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงญา จ.สงขลา ทำได้แค่ให้พวกเขาไม่อดข้าว อดน้ำ แล้วไม่เจ็บป่วย” นายอิสมาแอล กล่าว
นพ.อนันต์ชัย ไทยประทาน (ซ้าย) และ ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ
 
ขณะเดียวกัน ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน สำนักจุฬาราชมนตรีภาคใต้ และกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า เมื่อเกิดความทุกข์ยากขึ้น เราก็ต้องให้ความช่วยเหลือ โรฮิงญาเป็นชาติที่อ่อนแอ เป็นชนชาติที่มีมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ เมื่อพวกเขาอพยพมาในประเทศไทย ทางเราก็ต้องให้ความช่วยเหลือ ให้ที่พักพิงตามหลักมนุษยชน ทางเราจะไม่ปล่อยให้โดนทำร้ายเด็ดขาด ชาวโรฮิงญาที่อพยพเข้ามามีเป็นจำนวนมาก มีทั้งผู้ชาย และผู้หญิง รวมทั้งเด็กด้วย พวกเขาน่าสงสารมาก

“สถานการณ์ชาวโรฮิงญาที่เป็นปัญหาใหญ่อยู่ในขณะนี้ คือ สถานที่ที่ใช้กักขังพวกเขามีความแออัดมาก อยู่กันด้วยความลำบาก ซึ่งเห็นแล้วสงสาร เราจะทำอย่างไรเกี่ยวกับปัญหานี้ ขณะนี้ทางสำนักจุฬาราชมนตรีได้รวบรวมเงินเป็นจำนวน 200,000 บาท เพื่อจะเอาไปช่วยเหลือในเรื่องของที่อยู่อาศัยให้มีความสะดวกสบาย ทั้งนี้ เราเห็นแก่ความเป็นมนุษย์ด้วยกัน อีกทั้ง สำนักจุฬาราชมนตรีได้รวบรวมเงินและของบริจาคไว้แล้ว รวม 3,000,000 บาท แต่ยังไม่มีวิธีการที่จะเอาเงินจำนวนนี้ไปช่วยเหลือชาวโรฮิงญา จึงได้จัดตั้งกรรมการช่วยเหลือชาวโรฮิงญาแต่ละจังหวัดขึ้น” ดร.วิสุทธิ์ กล่าว

ในส่วนของภาครัฐ ตอนนี้ก็ขออย่าส่งตัวชาวโรฮิงญากลับไปประเทศต้นทางเลย เพราะถ้าส่งพวกเขาไปก็เหมือนกับว่าส่งพวกเขาไปตาย ต้องขอบคุณภาครัฐที่ตอนนี้ยังไม่มีทีท่าจะส่งตัวชาวโรฮิงญากลับประเทศ รัฐมนตรีการต่างประเทศให้ชาวโรฮิงญาอยู่อาศัยในประเทศไทยไม่เกิน 6 เดือน ทางเราจึงต้องให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขาตลอดเวลาที่อยู่ในประเทศไทย องค์กรต่างประเทศก็เข้ามาช่วยเหลือ ตอนนี้เราทำได้เพียงผลักดันให้สมาคมมุสลิมให้ช่วยเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ รวมทั้งผลักดันให้ประเทศต้นทางของชาวโรฮิงญาเห็นความสำคัญในเรื่องหลักมนุษยชน ดร.วิสุทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น