xs
xsm
sm
md
lg

คนชายแดนใต้แห่บริจาคช่วยชาวโรฮิงญา ด้านหมอจันทร์เสี้ยวพร้อมส่งความช่วยเหลือถึงปาดังฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - ประชาชนจำนวนมากทยอยให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่พักอยู่ที่บ้านเด็กฯ ช่วงเช้ามีนักเรียน และนักศึกษามาเล่นกิจกรรมกับเด็กชาวโรฮิงญา รวมทั้งสอนภาษาไทยด้วย ชาวโรฮิงญาเผยขอบคุณน้ำใจคนปัตตานีที่ให้ความช่วยเหลือแก่พวกตน ย้ำไม่ต้องการกลับพม่า ด้านสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ร่วม สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์ รับบริจาคเงินสิ่งของพร้อมนำคณะแพทย์ไปดูแลที่สะเดา และปาดังเบซาร์

วันนี้ (18 ม.ค.) ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดปัตตานี กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อ.เมือง จ.ปัตตานี มีประชาชน นักเรียน นักศึกษา และหน่วยงานต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่พนักงานธนาคารอิสลามปัตตานี เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลรูสะมิ และประชาชนทั่วไปจำนวนมากได้เข้าไปเยี่ยมให้กำลังใจ รวมถึงบริจาคเงิน และมอบข้าวสารอาหารแห้ง ขนนปัง และสิ่งจำเป็นต่างๆ แก่ชาวโรงฮิงญาที่พักอายู่ที่บ้านพักเด็กฯ

โดยช่วงเช้า มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปัตตานี และนักเรียนจากโรงเรียนสาธิต ม.อ.ปัตตานี ประมาณ 15 คนได้เข้าไปเยี่ยมให้กำลัง และได้เล่นกิจกรรมเดาะลูกโป่งกับเด็กๆ ชาวโรฮิงญา และนักเรียนบางส่วนได้มีการสอนภาษาไทยแก่ชาวโรฮิงญาด้วย

นายทากร เหมวิเชียร หัวหน้าบ้านพักเด็กฯ เปิดเผยว่า ชาวโรฮิงญาที่อยู่ที่บ้านพักเด็กฯ ทั้งหมด จำนวน 22 คน ผู้ชาย 18 และผู้หญิง 4 คน โดยชาวโรฮิงญาเหล่านี้มาพักอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2556 โดยทางบ้านพักเด็กฯ รับมาจากบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา เนื่องจากทางบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา มีชาวโรฮิงญาเข้ามาพักอาศัยจำนวนเกินกว่าที่จะรับได้

“จะดำเนินการอย่างไรในอนาคตกับชาวโรงฮิงญาเหล่านี้ ผมไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะเป็นเรื่องของหน่วยงานในระดับสูงที่จะต้องมีดำเนินการต่อไป แต่สิ่งที่เราทำได้ในขณะนี้คือ ดูแลชาวโรฮิงญาเหล่านี้ให้ดีที่สุด” นายทากรกล่าว

นายนิมุ นตีมุง นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า จากการที่ได้เล่นเฟซบุ๊ก มีเพื่อนได้โพสต์ข้อความว่า มีชาวโรฮิงญาประมาณ 22 คนเข้ามาพักอาศัยอยู่ที่ที่บ้านพักเด็กฯ จึงได้ชวนอาจารย์ และเพื่อนๆ ในสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น เพื่อทีจะมาเยี่ยมให้กำลังใจแก่ชาวโรฮิงญา พร้อมกับการบริจาคข้าวสารจำนวนหนึ่งแก่ชาวโรฮิงญา ที่มาดูชาวโรฮิงญาในวันนี้ เพื่อที่จะมาสอบถามว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง เพื่อจะได้ช่วยกันระดมรับบริจาคจากประชาชนเพื่อนำมามอบแก่ชาวโรฮิงญาที่อยู่ที่นี่

มูฮำหมัด อุสมาน หนึ่งในชาวโรงฮิงญาที่พักอยู่ที่บ้านเด็กฯ เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจที่คนปัตตานีให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และต้องขอขอบคุณสำหรับน้ำใจของคนปัตตานีที่ช่วยบริจาคสิ่งของต่างๆ แก่พวกตน “สิ่งที่ผมต้องการอย่างเดียวคือ อย่าส่งผมกลับไปประเทศพม่า ให้ผมอยู่ประเทศไหนก็ได้ไม่ว่าประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ผมอยู่เพื่อที่จะทำงานส่งเงินให้แก่พ่อแม่ และญาติพี่น้องของผมที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่าอย่างยากลำบาก” มูฮำหมัดกล่าว

ส่วนของ จ.ยะลา เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) ถนนสิโรรส 6 ย่านตลาดเก่า เขตเทศบาลนครยะลา ได้มีบรรดาพี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่เดินทางมาร่วมกันบริจาคเงิน อาหาร สิ่งของ และเครื่องนุ่งห่ม เพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่อพยพ ซึ่งทางสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยจะรวบรวมเงิน และสิ่งของต่างๆ นำไปมอบให้ชาวโรฮิงญา ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ในวันที่ 19 มกราคมนี้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถบริจาคเงินช่วยเหลือได้ที่ กองทุนมนุษยธรรม เพื่อชาวโรฮิงญา ธนาคารกรุงไทย สาขาสิโรรส ชื่อบัญชี สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย เลขบัญชี 932-121000-8

นายอับดุล อซิซ ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) เปิดเผยว่า ทางสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการช่วยเหลือโรฮิงญามานานแล้ว ตั้งแต่รุ่นแรกที่หนีมาเรื่อยๆ มีการรับบริจาคเงินช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่ประเทศพม่าด้วย ซึ่งได้มอบไป 2 ครั้ง โดยครั้งที่ผ่านมาได้มอบเงินช่วยเหลือเป็นเงินกว่าล้านบาท ในครั้งนั้นทำร่วมกับองค์กรของมาเลเซีย และในเดือนหน้าทาง ยมท. ก็จะส่งตัวแทนไปที่พม่า

ในส่วนของโรฮิงญาที่มีปัญหาล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม ที่เข้าทางด่านสะเดา 800 กว่าคน ตอนนี้ก็เป็นพันแล้ว ในส่วนนี้ก็ได้ร่วมเปิดรับบริจาคเงินตั้งแต่ 5 วันที่แล้ว รวมทั้งรับบริจาคสิ่งของที่มัสยิดตลาดเมืองใหม่ มัสยิดญาดิส มัสยิดบางปู และสมาคมอิสลามของมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ซึ่งในส่วนนี้ก็ได้ทำร่วมกันมาโดยตลอด รณรงค์ร่วมกัน

“และในวันพรุ่งนี้ (20 ม.ค.) จะมีสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์ ที่จะนำหมอนายแพทย์ จนท.สาธารณสุข เดินทางไปตรวจสุขภาพให้แก่ชาวโรฮิงญาที่ อ.สะเดา และที่ปาดังเบซาร์ โดยได้ประสานงานกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองสงขลาเรียบร้อยแล้ว สมาคมจันทร์เสี้ยวก็จะไปตรวจสุขภาพ และดูแลเรื่องสุขภาพจิตด้วย จะไปพูดคุยแนะนำการเป็นอยู่ และเรื่องศาสนา จะมีผู้รู้เรื่องศาสนาโดยใช้พูดผ่านล่าม” นายอับดุลอซิซกล่าว

ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน ยมท. ยังกล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาโรฮิงญาเป็นปัญหาที่ยืดยาวมานานหลายสิบปี ก่อนหน้านี้ ทำงานอนุกรรมการสิทธิภาคใต้ ได้ประสานงานกัน และได้พูดคุยกันระหว่าง สมช. ดีเอสไอ องค์กรจุฬาราชมนตรี และ ยมท. ในเร็วๆ นี้ ที่กรุงเทพฯ และนำเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อที่จะออกนโยบายในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ในเบื้องต้น อยากจะเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่า ปัญหาโรฮิงญาจะต้องผลักดันในนามของอาเซียน ในนามของสามเชื้อชาติ ยูเอ็นเอสซีอาร์ ประเทศไทยจะต้องมีบทบาทเพราะเป็นทางผ่านไปสู่ประเทศที่ 3 อยากจะเรียกร้องว่าไม่น่าจะส่งกลับไปประเทศพม่า อยากให้เป็นเหมือนค่ายอพยพ และตอนนี้จุฬาราชมนตรีก็รับดูแลอยู่ และรอประเทศที่ 3 รับไป และทางเราก็ประสานงานกับทางประเทศมาเลเซียอยู่ และอินโดนีเซียเราก็ประสานอยู่ เขาพร้อมที่จะรับ แต่ต้องทยอยไป

แถลงการณ์ต่อกรณีชาวโรฮิงญา

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมออกแถลงการณ์ขอให้รัฐปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม

จากกรณีที่ปรากฏข่าวว่า ชาวโรฮิงญาได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวตามพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดภาคใต้ และมีแนวโน้มว่าอาจพบตัวกลุ่มชาวโรฮิงญาตามสถานที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลเบื้องต้นพบว่า กลุ่มคนเหล่านี้ได้หลบหนีภัยจากประเทศพม่า และต้องการแสวงหาความเป็นอยู่ และความปลอดภัยที่ดีกว่า เนื่องจากชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในประเทศพม่า อีกทั้งยังเป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชากรส่วนอื่นๆ ที่นับถือศาสนาที่แตกต่าง อันเป็นการละเมิดสิทธิในการนับถือศาสนา และรัฐไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมืองของรัฐ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทำให้กลายเป็นปัญหาของการไร้สัญชาติ จนนำมาสู่การเลือกปฏิบัติ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง

ชาวโรฮิงญาส่วนหนึ่งหนีภัยการสู้รบ และการปฏิบัติที่เลวร้ายไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย และหลายกรณีพบว่า ชาวโรฮิงญาเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ที่อาศัยความไร้สัญชาติของชาวโรฮิงญา มาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ ดังนี้ การส่งตัวชาวโรฮิงญากลับในขณะนี้โดยเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศไทย อาจทำให้ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ต้องเผชิญกับการประหัตประหาร มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายให้แก่ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน มีความรู้สึกเห็นใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา ที่ขณะนี้ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย และขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยที่ได้ปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาตามหลักมนุษยธรรม และประชาชนผู้มีจิตศรัทธาที่บริจาคเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ มูลนิธิขอเรียกร้องให้รัฐบาล รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาข้อเสนอดังต่อไปนี้

1.ขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาหลักการตามจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และข้อที่ 3 แห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ในการยุตินโยบายการผลักดันชาวโรฮิงญากลับประเทศพม่า หากยังมีข้อมูลปรากฏชัดเจนว่า การส่งกลุ่มคนดังกล่าวนี้กลับไปอาจจะมีความเสี่ยงต่อการถูกประหัตประหาร และการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาจต้องเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศพม่าอีก

2.ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักวิชาการ และภาคประชาชน ตระหนักกับปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในประเทศไทย โดยมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และการปฏิบัติของรัฐไทยต่อชาวโรฮิงญา โดยให้คำนึงถึงมนุษยธรรม ไม่แบ่งแยกเรื่องเชื้อชาติ และศาสนา

3.ในระหว่างการควบคุมตามสถานที่ต่างๆ นั้น ขอให้หน่วยงาน หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาในฐานะผู้นับถือศาสนาอิสลามโดยสามารถปฏิบัติศาสนกิจ และมีอาหารที่ถูกต้องตามหลักศาสนา รวมทั้งไม่มีการพันธนาการ และเอื้ออำนวยให้เข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ทั้งการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม

4.ขอให้รัฐบาลไทยมีมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจังต่อผู้กระทำผิด ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 รวมทั้งให้มีการรณรงค์ให้ยุติการค้ามนุษย์ในประเทศไทยสำหรับกรณีของชาวโรฮิงญาที่ตกเป็นเหยื่อในสถานการณ์นี้

5.ขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการหารืออย่างเร่งด่วนกับประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียน เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคร่วมกัน อันเป็นหลักการร่วมกันที่รัฐบาลในอาเซียนที่ต้องการเห็นสันติภาพความมั่นคง ปลอดภัย และเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น