หลังจากชาวโรฮิงญา กว่า 1,000 คน ถูกจับกุมตัวในจังหวัดต่างๆ ทางตอนใต้ของประเทศไทย เมื่อช่วงวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ก็ยังจับกุมชาวโรฮิงญาเพิ่มได้อย่างต่อเนื่อง เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ ได้เฝ้าติดตามมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชาวโรฮิงญาที่ถูกกักตัวไว้ในพื้นที่ อ.สะเดา อ.เมือง และอ.บางกล่ำ จ.สงขลา ซึ่งจากภาพที่เห็น พวกเขาน่าสงสาร อิดโรยและอดอยาก บางคนไม่ได้กินอะไรมาเป็น 10 วัน ในระหว่างช่วงเดินทาง ซึ่งโรฮิงญา ประมาณ 1,200 ชีวิต ได้ลงเรือใหญ่มาจากบ้านเกิดจุดหมายปลายทางคือประเทศมาเลเซีย แต่มาถูกจับในข้อหาลักลอบเข้าเมืองที่ประเทศไทยเสียก่อน โดยเป็นเหยื่อในขบวนการค้ามนุษย์ จากการได้พูดคุยกับชาวโรฮิงญาที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย และเป็นกลุ่มสมาคมโรฮิงญาแห่งประเทศไทย จึงได้รู้ว่าเหตุใดพวกเขาจึงต้องหลบหนีเข้าเมืองและไปประเทศที่สาม
นายโมฮัมหมัด นอร์ซีม เลขานุการสมาคมโรฮิงญาแห่งประเทศไทย เป็นชาวโรฮิงญาที่มาอยู่ประเทศไทยหลายสิบปีแล้ว ปัจจุบัน อาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ออกมาวิงวอน และขอความเห็นใจจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ให้เข้าใจถึงกรณีที่ชาวโรฮิงญาต้องอพยพเข้ามาในประเทศไทย และอีกหลายๆ ประเทศ เพื่อต้องการลี้ภัยจากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า หลังจากที่พี่น้องของเขา ต้องถูกรังแกถึงขนาดฆ่ากวาดล้างเผ่าพันธุ์ เนื่องจากที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญาไม่มีกระบอกเสียงในการเผยแพร่เรื่องราวที่โหดเหี้ยมที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวโรฮิงญา ที่ประเทศพม่า ออกสู่ภายนอก จึงวิงวอนไปยังรัฐบาลไทยอย่าผลักดันชาวโรฮิงญากลับประเทศเพราะนั่นหมายถึงว่าเป็นการส่งพวกเขาไปตาย
การหลบหนีของชาวโรฮิงญากว่าพันคนครั้งนี้ โดยสารกันมาอย่างไร?
ขึ้นเรือมา เป็นเรือประมง หรือเรือที่ผ่านมา คือ ถ้าใครเห็นเรือผ่านมาที่จุดไหนก็จะมีการรวมตัวกันขึ้นเรือที่จุดนั้น ให้ช่วยชีวิตตัวเอง ถ้าอยู่ตรงนั้นต่อไปต้องตายแน่นอน การที่ต้องออกมาจากประเทศ ไม่ใช่ว่าไม่มีอาหารกิน ไม่ใช่ธุรกิจไม่ดี เศรษฐกิจไม่ดี ไม่ใช่อยากมีบ้านหลังใหญ่ๆ มีรถมีอะไรแบบนั้น ที่หนีมาเป็นเพราะอยู่ที่นั่นต่อไปต้องตายแน่นอน ก็เลยต้องหนีมา
ที่รัฐอาระกันมีผู้นำไหม?
ที่รัฐอาระกัน มีทั้งตำรวจน้ำ ตำรวจในหมู่บ้าน ทหาร กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน มีกันครบครับ หากแต่พวกเขาไม่ร่วมมือในการไล่พวกเราออกจากแผ่นดิน พวกเราจะหนีออกประเทศมาได้อย่างไร เพียงแต่พวกเขาอยากให้ชาวโรฮิงญาหนีออกจากแผ่นดินนี้ให้หมดไป อีกอย่างโลกภายนอกไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับพี่น้องชาวโรฮิงญา เพราะไม่มีนักข่าว ไม่มีสื่อ ที่สามารถห้ามพวกพม่าให้หยุดกระทำเช่นนี้
ประชากรชาวโรฮิงญามีประมาณเท่าไร?
เมื่อประมาณ 10 ปี 5 ปีที่แล้วประชากรของโรฮิงญามีประมาณ 3 ล้านกว่าคน แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 1 ล้านคน ตอนนี้ชาวโรฮิงญาได้กระจายไปหลายประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย ประเทศไทย ประเทศอินโดนีเซีย ร่วมถึงประเทศซาอุดีอาระเบีย ใครที่มีญาติอยู่ที่ไหน ก็จะติดต่อไปเพื่อหลบหนีเอาชีวิตให้รอดจากการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้ ซึ่งล่าสุด ประชาชนประมาณ 6 หมื่นกว่าคนที่ถูกฆ่าไปแล้ว ฉะนั้น ตอนนี้อยากให้รัฐบาลไทยได้เข้าใจ และขอให้คำนึกถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เหตุการณ์ความรุนแรงแบบนี้เกิดในช่วงหลัง? แล้วต้องการให้ช่วยเหลือชาวโรฮิงญาอย่างไร?
เหตุการณ์ที่ชาวโรฮิงญาถูกกดขี่นี้เกิดขึ้นนานแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีเรื่อยๆ สิ่งที่ต้องการตอนนี้คือ ไม่ต้องส่งกลับประเทศพม่า ถ้าถูกส่งกลับไปพวกเราคงไม่รอด แม้ตอนแรกพวกเราอาจจะถูกขัง 10 ปี แต่ในที่สุดพวกเราก็ต้องถูกฆ่าอยู่ดี
ข้อ 2 อยากให้ชาวโรฮิงญาทุกคนรวมตัวกันเป็นจุดเดียวกัน ที่ไหนก็ได้ แล้วพวกเราจะประสานงานกับ UN และรัฐบาลไทย เมื่อดำเนินการประสานงานเสร็จสิ้นแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับการประชุมของทางหน่วยงานว่าจะส่งพวกเราไปที่ไหน เพียงแค่ขอให้ไม่ต้องส่งกลับพม่าอย่างเดียวเท่านั้นเอง ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีการผลักดัน และตั้งข้อหาหลบหนีเข้าเมืองอย่างเดียว ทั้งๆ ที่มีแคมป์อพยพถึง 3 แคมป์ ตั้งที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วทำไมต้องตั้งข้อหาหลบหนีเข้าเมืองด้วย อยากให้รัฐบาลไทยคำนึกถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เมื่อประมาณปี 2551 ก็มีชาวโรฮิงญาล่องเรือมาทางตอนใต้ของประเทศไทยมีทั้ง จ.พังงา ภูเก็ต สตูล และตรัง เราก็ถูกผลักดันกลับประเทศพม่า มันเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด อีกอย่างก็เป็นการแก้ปัญหาที่ซ้ำซาก ที่หนีมาไม่ใช่เพราะอดอยาก ไม่ใช่มาหาเงิน และไม่ใช่มาใช้ชีวิตที่ดีกว่า แต่ชาวโรฮิงญาที่รัฐอาระกันมีชนกลุ่มน้อยจากรัฐยะไข่ และชาวโรฮิงญามีปัญหากัน เมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้วชาวโรฮิงญาก็ถูกกดขี่มาโดยตลอด ซึ่งชาวยะไข่จะไม่มีบัตรประชาชนไม่มีแผ่นดินจะเป็นคนไร้สัญชาติ รัฐบาลพม่าใช้ชาวยะไข่เป็นผู้ล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ซึ่งรัฐบาลพม่าอยู่เบื้องหลัง ครั้งนี้ อยากให้ประเทศไทยเข้าใจชาวโรฮิงญาด้วย ถ้าประเทศพม่ากลับสู่สภาวะปกติ ชาวโรฮิงญาก็กลับประเทศ ใครๆ ก็รักบ้านเกิด
ความต้องการของชาวโรฮิงญา อยากไปอยู่ที่ไหนมากที่สุด?
อันดับแรก คือ คำนึงถึงการละเมิดสิทธิมนุษย์ชน ไม่ต้องผลักดันกลับประเทศพม่า ซึ่งไปไหนก็ได้ในโลกนี้ เพราะชาวโรฮิงญาชอบสันติสุข อันดับที่สอง ประสานงานกับกระทรวงระหว่างประเทศแล้ว ให้รัฐบาลรับชาวโรฮิงญาให้ได้ ไม่ต้องอ้างว่าไม่มีอนุสัญญาของผู้ลี้ภัย เป็นไปไม่ได้เพราะตามมาตร 64 บอกไว้ว่า รัฐบาลไทยมี ทั่วโลกก็ยังใช้กันเลย ซึ่งต้องคำนึงถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้น ถ้ายังแบ่งพวกแบ่งพรรคอย่างนั้น ก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาชาวโรฮิงญาได้ หรือไม่อาจให้ UN แก้ปัญหาจากที่ผิดเป็นถูกกฎหมายก่อน นอกจากนี้ ควรถามพวกเขาก่อนว่าสนใจที่จะไปอยู่ประเทศไหนด้วยความสมัครใจของตัวพวกเขาเอง ซึ่งผมไม่สามารถบังคับจิตใจพวกเขาได้
การกดขี่ครั้งนี้ไม่ใช่ทำเฉพาะกับชาวโรฮิงญา แต่ชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่ทั่วพม่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน ที่รัฐกะชิงเป็นชนกลุ่มน้อยที่ยอมรับเป็นประชากรของเขาแล้ว แต่ยังแย่งผลประโยชน์กับประชาชนธรรมดาตาดำๆ ไม่มีทางเลือก เพราะฉะนั้น นานาชาติควรแก้ปัญหาตรงนี้ด้วย โดยให้ประเทศพม่าประกาศให้ชาวโลกรับรู้ อย่าหลอกลวง ที่ผ่านมา หลอกมาตลอด และควรมีการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง ให้อาเซียนกดดัน ไม่ใช่ว่าทำเพื่อความมั่นคง เพื่อเศรษฐกิจ คำนึงถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ถ้าทำผิดภายในประประเทศไม่ควรให้ประเทศอื่นมาเกี่ยวด้วย แบบนี้ไม่ใช่ กฎหมายแบบนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ ถ้าจะร่วมกันแล้ว ก็ต้องคำนึกถึงเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย
นานาชาติไม่ควรอยู่นิ่งแบบนี้ ที่ผ่านมาก็รู้แล้วว่าประเทศพม่าทำกับรัฐยะไข่ รัฐกะชิงอย่างไรบ้าง นานาชาติควรเรียกร้องให้หยุดได้แล้ว ถ้าจะแก้ปัญหาตรงนี้ควรแก้ปัญหาที่ประเทศต้นทาง
ขณะที่ มอง จอ นุ ประธานสมาคมโรฮิงญาแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือพร้อมข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลไทย 5 ข้อ คือ
1.อย่าส่งชาวโรฮิงญาที่ถูกจับกลับประเทศพม่า
2.ให้จัดสถานที่สำหรับดูแลชาวโรฮิงญารวมไว้ในที่เดียวกันเพื่อความเป็นอิสระ และสะดวกต่อการประกอบศาสนกิจ อย่าควบคุมไว้ในห้องขัง
3.ให้รัฐบาลไทยประสานองค์การสหประชาชาติ (UN) ให้รับรองชาวโรฮิงญาให้อยู่ในข่ายของผู้ลี้ภัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้อยู่ในประเทศไทยได้ก่อนที่จะถูกผลักดันไปยังประเทศที่สาม
4.ให้อาเซียน และนานาประเทศ กดดันพม่าให้ปฏิรูปการเมือง และปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาด้วยมนุษยธรรม
5.หากพม่าไม่ยอมรับข้อเสนอ ให้จัดกองกำลังนานาชาติเข้าไปคุ้มครองดูแลชาวโรฮิงญาในพม่าเพื่อความปลอดภัย