xs
xsm
sm
md
lg

รักจางที่บางปะกง แต่สารปรอทเข้มข้นที่ต้นน้ำ / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
ผมเขียนบทความนี้ด้วยวัตถุประสงค์ 2 อย่าง คือ
 
(1) เล่าเรื่องการลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากคำร้องเรียนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาในลุ่มน้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และปราจีนบุรี ในฐานะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อ 24-25 มกราคม 56
 
(2) เพื่อเตรียมปิดต้นฉบับหนังสือรวมบทความเรื่อง ถอดรหัสแผนพัฒนา : หนึ่งล้างสมองสองปล้น โดยเฉพาะในบทที่เกี่ยวกับตัวชี้วัดด้านสุขภาพตามข้อเสนอของผู้สนับสนุนการพิมพ์
 
ผมจำเป็นต้องร้อยสองสิ่งนี้เข้ามาอยู่ในบทความเดียวกัน ดังต่อไปนี้ครับ
 
หลังจากได้ดูแผนที่ลุ่มน้ำที่ผู้ร้องนำมาอธิบาย ผมก็นึกถึงเพลงลูกทุ่งแต่จำชื่อเพลงไม่ได้ ค้นภายหลังได้ความว่าคือ รักจางที่บางปะกง ของสดใส รุ่งโพธิ์ทอง ที่ว่า “ใจนารีสวยสดคงคดดั่งลำน้ำ พี่ขืนพายจ้ำคงต้องช้ำแน่นอน” เพราะแม่น้ำบางปะกงมีความคดเคี้ยวและยาวมาก
 
ผู้ร้องเรียนที่แปดริ้วได้เล่าให้ฟังว่า มีบริษัทมาสร้างท่าเรือขนสินค้าจำนวน 6 ท่าติดต่อกันเป็นพืดเดียวกันพร้อมโกดังเก็บสินค้า แต่ละท่ามีพื้นที่ประมาณเกือบๆ หนึ่งพันตารางเมตร เพราะกฎหมายกำหนดว่า ถ้ามีขนาดไม่ถึงหนึ่งพันตารางเมตรก็ไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม แบบเดียวกับโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ พี่เขาก็สร้างแค่ 9.9 เมกะวัตต์
 
อ้าว! ระหว่างใจนารีกับใจของผู้ประกอบการรายนี้ใครคดกว่ากัน หน้าที่ของคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ต้องไต่สวนหาข้อเท็จจริงโดยการขอเอกสารและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้ แจงด้วยวาจารวมถึงชาวบ้านที่ร้องเรียนด้วย ประเด็นที่ตรวจสอบมักจะเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิ์ในกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดด้วย
 
นอกจากชาวบ้านเกรงกลัวผลกระทบจากการมีท่าเรือขนาดใหญ่จำนวนมากแล้ว พวกเขายังเกรงว่าสินค้าที่จะเข้ามาก็น่าจะไม่ใช่สินค้าธรรมดา แต่น่าจะเป็นถ่านหินเพื่อป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อใช้แทนน้ำมันเตา ที่มีราคาแพงและใช้ในโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วย
 
เสร็จจากจังหวัดฉะเชิงเทราก็มีเรื่องร้องเรียนการสร้างเขื่อนที่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรีเพื่อนำน้ำจืดไปป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรม เขื่อนดังกล่าวกำลังก่อสร้างทั้งๆ ที่ยังไม่ผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะเกรงว่าโลหะหนักจะไหลออกมากับน้ำ นอกจากนี้ผู้ร้องได้นำไปดูสถานที่ที่มีการนำสารพิษมาแอบทิ้งในที่ดินรกๆ ของเอกชนด้วย
 
สิ่งที่ผมนำมาเล่านี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับชื่อหนังสือที่ผมกำลังจะจัดพิมพ์อยู่พอดี คืออ้าง “การพัฒนา” ที่ ฟังดูดี แต่ผู้ประกอบการไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ไม่ตรงไปตรงมาใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย และความไม่มีธรรมาภิบาล ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ถูกแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นฐานชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นน้ำจืดเพื่อการเกษตรที่มีจำกัดแต่ถูกภาคอุตสาหกรรมแย่งชิงไปใช้ ก่อน แหล่งน้ำในลำธารที่เป็นที่อยู่ของกุ้ง หอย ปู ปลา ก็ถูกทำลายจากการปล่อยน้ำเสียของภาคอุตสาหกรรม
 
สิ่งที่น่าตกใจมากก็คือ ข้อมูลของ Nationmaster.com จากการสำรวจ 141 ประเทศทั่วโลก พบว่าแหล่งน้ำจืดของประเทศไทยมีค่าออกซิเจนละลายในน้ำต่ำที่สุดในโลก (ข้อมูลปี 1994-1996) การที่น้ำมีค่าออกซิเจนน้อยทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำซึ่งเคยเป็นอาหารโปรตีนของ ชาวบ้านอยู่ได้ลำบาก ประเทศไทยเรามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.98 พีพีเอ็ม ถ้าต่ำกว่า 2.0 ปลาจะหนี ถ้าหนีไม่ได้ก็จะตาย ปลาจะขยายพันธุ์ที่ระดับ 5 พีพีเอ็ม ผมได้แนบลำดับของ 10 ประเทศต่ำสุดมาให้ดูด้วย
 

 
หลังเสร็จงาน เราสั่งอาหารประเภทปลาจากร้านอาหารค่อนข้างหรูริมแม่น้ำบางปะกง เช่น ปลาราหู (ซึ่งผู้ร้องเรียนบอกว่าเคยมีมากในแถบนี้) ปลากด ปลาดุกทะเล ปลาเนื้ออ่อน สุดท้ายเราได้กินปลาช่อน คะน้าปลาเค็มและไข่เจียว
 
ในวันรุ่งขึ้น คณะอนุกรรมการสิทธิฯ ได้ลงพื้นที่ตำบลบ่อทอง จังหวัดปราจีนบุรี ชาวบ้านร้องเรียนเรื่องน้ำเสีย ปลาตายและกลิ่นเหม็นจากโรงงานอุตสาหกรรม ชาวบ้านได้ทำเป็นเอกสารที่ชื่อว่า “สุขภาวะ คนพระปรง” ความตอนหนึ่งในเอกสารสรุปได้ชัดเจนว่า
 
“เราเห็นว่า วันนี้คนตัวเล็กตัวน้อย กลับไม่สามารถเข้าถึงและใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พวกเขาถูกคนที่มีกำลังเหนือกว่าแย่งชิงพื้นที่ และตักตวงเอาทรัพยากรธรรมชาติไป หากบ้านเมืองปล่อยเช่นนี้แล้วอะไรคือความเป็นธรรม การร้องขอน่าจะไม่ใช่ทางออกทางเดียว แต่ทุกคนต้องมาดูความจริงและตัดสินใจร่วมกัน”
 
ในระหว่างที่กำลังพูดคุยกับกลุ่มชาวบ้านบ่อทอง (ซึ่งมีร่องรอยของการทำเหมืองทองคำตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5) ตัวแทนชาวบ้านจากตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรีก็มาร้องเรียนอีกเรื่อง คราวนี้ยิ่งน่าตกใจมากขึ้นอีก คือพบสารปรอททั้งในเส้นผมของคนและในปลาช่อนที่ชาวบ้านใช้เป็นอาหาร
 
ข้อมูลนี้เป็นการศึกษาของมูลนิธิบูรณะนิเวศ โดยความร่วมมือขององค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ ทางมูลนิธิฯ ได้เก็บตัวอย่างเส้นผมของคนจำนวน 20 คนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 2 กิโลเมตรรอบๆ พื้นที่อุตสาหกรรม 304 และปลาช่อนที่จับได้ในคลองชลองแวงซึ่งอยู่ใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหิน (ขนาด 400 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินปีละ 9 แสนตันต่อปี) และโรงผลิตเยื่อกระดาษ (กำลังผลิต 5 แสนตันต่อปี) จำนวน 20 ตัว พบว่า (1) ปลาช่อนทุกตัวมีสารปรอทเกินมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขไทย โดยค่าเฉลี่ยเกินไปถึง 17 เท่าตัว (2) เส้นผมของทุกคนก็มีสารปรอทเกินมาตรฐาน (ของสหรัฐอเมริกาเพราะของไทยยังไม่ได้กำหนด) เช่นกันตั้งแต่ 1.6 ถึง 13 เท่า สิ่งที่น่าแปลกใจคือ แทนที่ปริมาณสารปรอทจะมีมากในคนที่มีอายุมากที่สุด แต่กลับเป็นว่ามีมากที่สุดในคนที่กินปลาช่อนบ่อยที่สุด
 
จากเอกสารของมูลนิธิฯ ระบุว่า สารปรอทจะถูกส่งผ่านจากแม่สู่ลูกโดยอาจก่ออันตรายต่อพัฒนาการทางสมอง
 
ผมนึกถึงโรคมินามาตะที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อได้ ค้นข้อมูลพบว่า “โรคนี้ค้นพบครั้งแรกที่เมืองมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 โดยเกิดจากการทิ้งน้ำเสียที่มีสารปรอทเจือปนออกมา กว่าที่โรคนี้จะเป็นที่ยอมรับทั้งสาเหตุ และโรคนี้ก็มีการต่อสู้ทางศาลระหว่างกลุ่มธุรกิจกับผู้ป่วยมาเป็นเวลานาน”
 
กลับมาถึงบ้านผมเปิดคลิปข่าวย้อนหลังดูพบว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจซึ่งจะรู้ผลภายใน 2 สัปดาห์ ข้อสังเกตของผมก็คือ ความเข้มข้นของสารปรอทในน้ำนั้นโดยปกติแล้วจะอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ต่ำกว่าในตะกอนหน้าดินท้องคลอง และต่ำกว่าในปลามาก คำถามก็คือ ทำไมเจ้าหน้าที่จึงเก็บเฉพาะตัวอย่างน้ำเท่านั้น ทำไม่จับปลาไปตรวจด้วย
 
ดังนั้น จึงเป็นคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่า ผลการตรวจจะออกมาเช่นไร ทำไมประเทศเราจะต้องเดินทางผิดพลาดซ้ำรอยประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 50-60 ปีที่แล้วด้วยเล่า
 
ผมชอบบทสรุปของชาวบ้านที่ยังไม่สิ้นหวังที่ว่า “แต่ทุกคนต้องมาดูความจริงและตัดสินใจร่วมกัน” ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ แต่ดูเหมือนว่าข้อเรียกร้องนี้จะไม่ได้รับการพิจารณาจากทั้งหน่วยงานของรัฐและผู้ประกอบการ
 
สังคมไทยได้ให้ความสนใจกับปัญหามลพิษของพี่น้องมาบตาพุด จังหวัดระยอง แต่ปรากฏว่าปัญหาเดียวกัน (แต่รุนแรงกว่า) กลับไปโผล่ที่จังหวัดปราจีนบุรีและลุ่มน้ำบางปะกงที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ รับรู้
 
เมื่อ 10 ปีก่อนชาวจังหวัดปราจีนบุรีมีรายได้เฉลี่ย (ตัวชี้วัดที่เกิดจากการทุจริตทางวิชาการ) พอๆ กับค่าเฉลี่ยของคนทั้งประเทศ แต่จู่ๆ ก็เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า (ดูกราฟที่ผม plot จากข้อมูลของสภาพัฒน์)
 

 
เสียงเพลงรักจางที่บางปะกงยังคงแว่วเข้าหูผม “บางปะกงน้ำคงขึ้นๆ ลงๆ ใจอนงค์ก็คงเลอะเลือนกะล่อน ปากน้ำเค็มไหลขึ้นก็จืดก็จาง ใจน้องนางรักจาง เลยจางจากจร…” ไม่ทราบว่าตอนนี้ คุณสดใส รุ่งโพธิ์ทองพอจะมีเวลาแต่งเพลงใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก คราวนี้เอาให้ชัดว่า ใครคด ใครกะล่อน ใครปล้น ใครถูกปล้นกันแน่ และหากเรายังเร่งการพัฒนาไปในทิศทางเดิม (พี่ขืนพายจ้ำคงต้องช้ำแน่นอน) คงต้องตกนรกแน่นอน
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น