ผลลัพธ์จากการคำนวณ ความมั่งคั่งสุทธิ (Net worth) ที่ออกมา นั่นคือความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้สำหรับคุณ แต่คำถามก็คือ อะไรจะเป็นตัวตัดสินว่า ตัวเลขที่ออกมาอยู่ในเกณฑ์ต่ำหรือสูงกว่ามาตรฐานทั่วไปที่ควรจะเป็น
มีสูตรในการหามูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ควรจะมีในแต่ละช่วงอายุเอาไว้เป็นตัวเปรียบเทียบ บนหลักการพื้นฐานง่ายๆว่า ยิ่งคุณมีอายุมากขึ้นเท่าไร ตำแหน่งหน้าที่การงานของคุณก็ควรจะสูงขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้รายได้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และหากในแต่ละปีคุณมีรายรับมากกว่ารายจ่าย คุณก็ควรจะมีเงินออมเหลือพอที่จะช่วยสะสมความั่งคั่งอย่างต่ำสัก 10% ให้กับตัวเองได้
ตามสูตรที่ใช้กันในแวดวงการบริหารเงินส่วนบุคคล เขาจะใช้อายุเป็นตัวตั้งคูณด้วยรายได้ต่อปีในปัจจุบัน แล้วหารด้วย 10
ยกตัวอย่าง ถ้าคุณมีอายุ 35 ปีมีรายได้เฉลี่ยปีละ 600,000 บาท (50,000 x12) คุณก็ควรจะต้องมีความมั่งคั่งสุทธิ ณ ปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 2.1 ล้านบาท
หลายคนเห็นตัวเลขแบบนี้อาจจะเข่าอ่อน แต่ใจเย็นๆครับ อย่าเพิ่งยอมจำนนกับความจริงที่อยู่ตรงหน้า
ในทัศนะของผมการคำนวณโดยใช้สูตรนี้ น่าจะใช้เป็นกรณีที่ดีที่สุดที่ควรจะเป็น (Best case) ซึ่งมันอาจจะดูโหดร้ายไปหน่อย ลองใช้สูตรใหม่ไหมครับโดยใช้อายุงานเป็นตัวตั้งแทนอายุปัจจุบัน
ในกรณีเดียวกัน สมมุติว่าคุณทำงานมาแล้ว 10 ปี คุณก็ควรจะมีความมั่งคั่งสุทธิประมาณ 600,000 บาท
เมื่อใช้ทั้ง 2 สูตรคำนวณดูแล้ว ลองเปรียบเทียบกับ ความมั่งคั่งสุทธิที่คุณมีอยู่จริง ผลลัพธืเป็นอย่างไรบ้างครับ บางคนอาจกำลังจะยิ้มแก้มปริ แต่ส่วนใหญ่อาจจะกำลังใจเสียกับตัวเลขที่ปรากฏตรงหน้า
สภาพของคุณตอนนี้ก็เหมือน คุณกำลังยืนอยู่หน้ากระจก และใช้เวลาพินิจดูตัวเอง จะดีมากขึ้นเมื่อคุณใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นที่สุด และลองตอบคำถามตัวเองคุณชอบสิ่งที่คุณเห็นหรือไม่
ถ้าคำตอบคือ “ไม่” ถามต่อไปว่า คุณเต็มใจที่จะยอมรับผิดว่า “คุณ” คือคนที่ปล่อยให้ตัวเองอ้วนและเผละหรือไม่?
ตรงกันข้าม หากคุณยังเลือกที่จะโกหกตัวเอง ทำตัวเป็นคนสายตาสั้น มีชีวิตแบบเดิมๆ และหวังว่าจะทำให้ทุกสิ่งจะดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจ เชื่อเถอะครับอีกไม่นานคุณจะรับรู้ด้วยความเจ็บปวด “นรกนั้นมีจริง”
ถ้าคุณทิ้งกบลงในน้ำเดือดๆในหม้อ มันจะรู้ได้ถึงความเจ็บปวดและจะกระโดดหนีขึ้นมาทันที แต่ถ้าคุณจับมันใส่ไว้ในน้ำที่อุณหภูมิห้อง ปล่อยให้มันจะว่ายน้ำไปรอบๆอย่างมีความสุข จากนั้นคุณค่อยๆปรับความร้อนของน้ำไปถึงจุดเดือด เจ้ากบตัวน้อยจะไม่รู้สึกถึงความเปลียนแปลงที่จะทำให้มันตอบโต้ และในท้ายที่สุด...มันก็จะถูกต้มจนตายอย่างสยดสยองไปอย่างช้าๆ
ไม่ต่างอะไรกับ คนที่มีสุขภาพทางการเงินย่ำแย่ แต่ก็ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง แต่เลือกที่จะภาวนาหวังว่าชีวิตจะมีปาฏิหารย์ โดยไม่ระวังว่ายิ่งนานวัน “อุณหภูมิ” ของหนี้สินก็จะร้อนขึ้น และ ร้อนขึ้น จนทำให้คุณมีสภาพไม่ต่างอะไรกับ “กบในหม้อน้ำร้อน”
ก่อนที่คุณจะโดนต้มจนเปื่อยในหม้อเดือดๆ ผมมี ข่าวดี มาบอก
ข่าวดี ก็คือ คุณสามารถ “เปลี่ยนแปลง” ได้ ถ้าคุณเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงมัน เพียงแค่หาวิธีที่จะลบช่องว่างระหว่างหนี้สินและทรัพย์สิน
แต่ทั้งหมดมันย้อนกลับไปที่ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คุณสามารถเปลี่ยนแปลงตัวคุณเองให้ดีขึ้นได้ สิ่งนั้นคือ “จิตวิญญาณของผู้ไม่แพ้” ที่คุณต้องใช้เป็นแรงกระตุ้นสำคัญ
I am the master of my fate
I am the captain of my soul
ขณะเดียวกัน Spend less and invest more คือ คาถาเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่คุณต้องใช้ ซึ่งอยู่บนหลักการพื้นฐาน 3 ข้อของ “ฟิตเนส” คือ “กินน้อยกว่า กินอาหารให้ถูกหลัก และออกกำลังกายให้มากขึ้น” ที่ไม่ได้ยากเกินกว่าจะเข้าใจ เพราะแม้แต่เด็กๆก็เข้าใจเรื่องนี้ได้ จริงไหมครับ