ระนอง - ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง รับชาวโรฮิงญา จำนวน 22 คน มาควบคุมตัว หลังควบคุมตัวได้ในพื้นที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ขณะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยก 1 ประชุมด่วนเพื่อร่วมวางมาตรการรับมือผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเล หลังพบ 3 เดือนที่ผ่านมา มีชาวโรฮิงญากว่า 2,000 คน หลบหนีเข้าเมือง
วันนี้ (19 ม.ค.) ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง ชายชาวโรฮิงญา จำนวน 22 คน ถูกส่งมาควบคุมตัว เพื่อลดการแออัดจากจำนวนชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัว ขณะที่ลอยเรือขึ้นฝั่งบริเวณทะเลอันดามันเขตพื้นที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2556 ที่ผ่านมา โดยมีนายสุรเชษฐ์ ประสงค์ผล ประธานอนุกรรมการอิสลามจังหวัดระนอง พร้อมคณะนำอาหาร และของใช้ เช่น ผ้าโสร่ง รวมทั้งอาหาร น้ำดื่ม ยาสีฟัน แปรงสีฟัน มาบริจาคให้ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมกล่าวเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาในจังหวัดร่วมกันบริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือพี่น้องชาวโรฮิงญาที่เหลือ
จากนั้น ทางเจ้าหน้าที่ ตม.ได้ให้นายซามิรูเซน ชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นตัวแทนลงมารับมอบสิ่งของเครื่องใช้ทั้งหมด และเล่าผ่านทางล่ามว่า สาเหตุที่ตนต้องหนีมาสืบเนื่องจากต้องสูญเสียพ่อแม่จากการขับไล่ของทางการทหารพม่า จึงทำการหลบหนีเข้ามายังประเทศไทย จริงๆ แล้วไปประเทศอะไรก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ประเทศพม่า และก็มีญาติพี่น้องบางส่วนยังพลัดหลงกับพ่อแม่ระหว่างทำการอพยพหลบหนีมากันทางทะเล
ส่วนทางเจ้าหน้าที่ ตม.ระนอง กล่าวว่า สำหรับชาวโรฮิงญาทั้ง 22 คน ที่ถูกกักตัวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนองนั้น เจ้าหน้าที่ ตม.ระนอง ขอให้อยู่กันอย่างแบบสบายๆ ไม่ต้องเครียด ทางรัฐบาลไทยกำลังเร่งจะหาทางออกให้โดยด่วน และจะไม่ส่งตัวไปให้แก่รัฐบาลพม่าแน่นอน ส่วนการช่วยเหลือในที่ควบคุมของทาง ตม.ระนอง เองก็ได้มีจัดตารางในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าด้วยการปฏิบัติศาสนกิจ ช่วยกันทำความสะอาด ออกกำลังกาย และร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน
ด้าน พล.ต.มนัส คงแป้น ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนแยก 1 เปิดเผยว่า จากกรณีปัญหาการทะลักเข้ามาของชาวโรฮิงญาที่ผ่านมา ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยก 1 ได้เรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมวางมาตรการรับมือผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเล ชาวโรฮิงญาที่ได้อพยพเข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมากหลังหมดช่วงฤดูมรสุม โดยพบว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงต้นเดือนธันวาคม มีผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองทางทะเลชาวโรฮิงญาลักลอบเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยแล้วรวม 2,817 คน
และกำลังที่จะทะลักเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าผิดปกติกว่าทุกปีที่ผ่านมา ที่ผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญาอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยเร็วกว่าทุกปี ทั้งยังมีจำนวนมาก จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจร่วมกันของทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองทางทะเล
ที่ผ่านมา ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยก 1 ได้เข้าดำเนินการสกัดกั้น ยับยั้ง ควบคุมผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเลของชาวโรฮิงญา โดยการปฏิเสธการเข้าเมือง และอำนวยความสะดวกในการเดินทาง โดยยึดถือแนวทางการปฏิบัติกับผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเล (SOP) อย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตามหลักการด้านมนุษยธรรม หลักศาสนา ต่อเพื่อนมนุษย์โดยละมุนละม่อม
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการ การปฏิบัติต่อผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเลของชาวโรฮิงญา แบ่งออกเป็น 3 ขั้นดังนี้ ขั้นที่ 1 ขั้นการสกัดกั้น ยับยั้ง และโน้มน้าว เป็นการดำเนินการเพื่อมิให้ชาวโรฮิงญาหลบหนีเข้ามาในประเทศ โดยจะทำการลาดตระเวนทางเรือ และใช้เครือข่ายกำลังภาคประชาชนแจ้งข่าวสาร ขั้นที่ 2 ขั้นการควบคุมตรวจสอบ ขั้นที่ 3 ขั้นปฏิเสธการเข้าเมือง และอำนวยความสะดวกในการเดินทาง
พล.ต.มนัส กล่าวต่อว่า แนวโน้มสถานการณ์ผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเลของชาวโรฮิงญา จากสถิติพบว่า ในปี 2556 จะมีการอพยพเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งสาเหตุมาจากการเกิดปัญหาจลาจลในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ซึ่งเป็นปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงในเมืองซิตตะเว รัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่า ระหว่างพม่าพุทธ กับพม่าอิสลาม ซึ่งเป็นการส่งผลให้ชาวโรฮิงญาที่นับถือศาสนาอิสลามมีการอพยพมากยิ่งขึ้น
โดยพื้นที่ในฝั่งทะเลอันดามันด้าน จ.ระนอง พบหลายพื้นที่ที่ชาวโรฮิงญามักใช้เป็นจุดที่ลักลอบขึ้นฝั่งเข้าสู่ประเทศไทย ประกอบด้วย บริเวณเกาะสินไน, เกาะช้าง, เกาะพยาม, เกาะกำใหญ่ และตามแนวชายฝั่งของ อ.กะเปอร์ และ อ.สุขสำราญ โดยในช่วงที่ผ่านมา ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยก 1 ได้ดำเนินการผลักดันจำนวน 21 ครั้ง จำนวนผู้อพยพ 2,276 คน ดำเนินการผลักดันโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยก ทร. จำนวน 7 ครั้ง ผู้อพยพ 541 คน