xs
xsm
sm
md
lg

ตะลุยเกาะอันดามัน สิ่งมหัศจรรย์และประวัติศาสตร์ตะรุเตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พายุสงบลงแล้ว เที่ยวท่องล่องใต้สัปดาห์นี้ ไปล่องทะเลฝั่งอันดามันกันอีกสักครา กับเกาะน้อยใหญ่ น้ำทะเลสีเขียวเข้มดั่งมรกต จ.สตูล เป็นจังหวัดในภาคใต้ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลมากมายให้นักท่องเที่ยวทั้งไทย เทศ ได้เชยชมกัน นอกจากจะเป็นเกาะแก่งต่างๆ สำหรับพักผ่อนแล้ว ยังมีประวัติศาสตร์ให้คนไทยและชาวต่างชาติได้เรียนรู้กันอีกด้วย อีกทั้งบางเกาะคือสิ่งมหัศจรรย์ที่รังสรรค์โดยธรรมชาติอันเหลือเชื่อ

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์ และความสวยงาม ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน บริเวณช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย ในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล อุทยานแห่งนี้ อยู่ห่างจากตัวเมืองสตูล ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 40 กม. และห่างจากฝั่งที่ท่าเรือปากบาราประมาณ 22 กม. แนวเขตด้านใต้ของอุทยานฯ ติดกับเส้นเขตแดนใน ทะเล ระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย

 
ซึ่งประกอบไปด้วย หมู่เกาะใหญ่น้อย จำนวนถึง 51 เกาะ มีเนื้อที่ทั้งเกาะและทะเลรวมกันประมาณ 1,490 ตร.กม. แบ่งเป็นพื้นที่ทางทะเล 1,260 ตร.กม. พื้นที่เกาะ 230 ตร.กม. จัดแบ่งออกเป็น หมู่เกาะใหญ่ 2 หมู่เกาะ คือ หมู่เกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง-ราวี เกาะสำคัญขนาดใหญ่มี 7 เกาะ ได้แก่ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะดง เกาะหลีเป๊ะ เกาะเหล็ก เกาะกลาง เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ เกาะตะรุเตา ได้รับการประกาศ เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2517
สักการะศาลเจ้าพ่อตะรุเตา เพื่อความเป็นสิริมงคล
 
ประวัติศาสตร์เกาะตะรุเตา
พุทธศักราช 2479 มีการประกาศพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้าย กรมราชทัณฑ์จึงหาสถานที่ที่มีภูมิประเทศเหมาะสม ซึ่งในที่สุดได้เลือกเกาะตะรุเตาและจัดตั้งขึ้นเป็นทัณฑสถาน โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2480 กลุ่มบุกเบิกของกรมราชทัณฑ์ ภายใต้การนำของขุนพิธานทัณฑทัย ได้ขึ้นสำรวจเกาะตะรุเตาบริเวณอ่าวตะโละอุดังและอ่าวตะโละวาว เพื่อจัดทำเป็น “ทัณฑสถาน” โดยฟันฝ่าอุปสรรคทางธรรมชาตินานัปการเป็นเวลา 11 เดือน งานบุกเบิกจึงสิ้นสุดลง หลังจากเดือนมิถุนายน 2481 เกาะตะรุเตาก็เป็นทัณฑสถานและเป็นนิคมฝึกอาชีพของนักโทษเด็ดขาด และนักโทษผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบนเกาะนี้ เพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 หน้า 566 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2482 ปลายปี พ.ศ.2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมืองจากคดี กบฏบวรเดช (พ.ศ.2476) และกบฏนายสิบ (พ.ศ.2478) จำนวน 70 นาย มายังเกาะตะรุเตาซึ่งถูกกักบริเวณไว้ที่อ่าวตะโละอุดัง
เกาะไข่
 
สถานที่ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการราชทัณฑ์บนเกาะตะรุเตา

มี 3 แห่ง คือ บริเวณเรือนจำอ่าวตะโละอุดัง ซึ่งเป็นอ่าวใต้สุดของเกาะตะรุเตา และที่เรือนจำอ่าวตะโละวาว ซึ่งเป็นค่ายกักกันนักโทษการเมืองและนักโทษสามัญ ตั้งอยู่ทางทิศใต้และทางฝั่งตะวันออกของเกาะ นอกจากนี้ยังมีทางรถยนต์ประวัติศาสตร์ ขนาด 6 เมตร ที่นักโทษถางไว้เพื่อเชื่อมต่อระหว่างอ่าวตะโละวาวและอ่าวตะโละอุดัง ระยะทางประมาณ 12 กม.
(ขอบคุณข้อมูลจาก Thai-Tour.com)

 
เกาะน้อยใหญ่ที่รายล้อมตะรุเตา มีมากมาย พร้อมทั้งปะการังและปลาสวยงาม มีให้ได้ชื่นชมกันมิรู้อิ่ม อย่างเช่น เกาะไข่ อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไปทางทิศตะวันตก ใช้เวลาเดินทางจากเกาะตะรุเตาประมาณ 40 นาที สิ่งที่มีชื่อเสียงบนเกาะไข่ คือ ซุ้มประตูหินธรรมชาติเป็นสัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา อีกทั้งทะเลรอบๆ เกาะไข่มีแนวปะการังอยู่เป็นจำนวนมาก
ในวันแห่งความรักยังมีการจัดกิจกรรมงานวิวาห์บน เกาะไข่ โดยจะมีพิธีลอดซุ้มประตูหินและจดทะเบียนสมรส ซึ่งมีความเชื่อว่าคู่รักคู่ใดได้ลอดซุ้มประตูหินนี้ จะสมหวังในความรัก และครองคู่กันอย่างมีความสุข มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง


เกาะหินงาม
 
เกาะหินงาม
อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอาดัง เกาะนี้เป็นเกาะขนาดเล็ก หินที่พบบนชายหาดมีความกลมเกลี้ยงเป็นมัน มีลวดลายสวยงาม ยิ่งเมื่อกระทบกับแสงและน้ำทะเลยิ่งทำให้หินแวววาวสวยงามเป็นทวีคูณ นักท่องเที่ยวนิยมนำหินมาซ้อนกันตามความเชื่อ และเล่ากันว่าหินทุกก้อนที่นี่มีคำสาปของเจ้าพ่อตะรุเตา หากใครเก็บออกมา จะมีต้องมีอันเป็นไป



เกาะหลีเป๊ะ

 
เกาะหลีเป๊ะ
เกาะสิเป๊ะ หรือเกาะหลีเป๊ะ อยู่ทางใต้ของเกาะอาดัง 2 กม.มีชุมชนชาวเลอาศัยอยู่หลายครัวเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการประมง จุดเด่นของเกาะหลีเป๊ะ คือ ความเป็นธรรมชาติของปะการังรอบเกาะ มีเวิ้งอ่าวที่สวยงาม หาดทรายละเอียดนิ่มเหมือนแป้ง แต่แอบเสียดายนิดๆ ที่ปัจจุบันหลีเป๊ะมีความเป็นธุรกิจมากขึ้น ชุมชนเกาะเริ่มกลายเป็นชุมชนเมือง มีสีสันมากขึ้นในยามค่ำคืน เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ขอบความบันเทิง
ดำน้ำดูปะการัง และปลาสวยงาม

 
การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา

สามารถเดินทางไปยังท่าเรือปากบาราซึงห่างจาก จังหวัดสตูลประมาณ 60 กม.โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 406 ถึงบ้านฉลุง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 416 (สตูล-ละงู) ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 4052 ซึ่งแยกจาก อ.ละงู ตรงไปสู่ท่าเรือปากบารา

จากอ.หาดใหญ่ สามารถเดินทางไปยังท่าเรือปากบารา ซึ่งห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 120 กม.



กำลังโหลดความคิดเห็น