xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ศาสนาอินโดฯ ร่วมหารือเลขาฯ ศอ.บต.สร้างความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนา ประเทศอินโดนีเซีย นำคณะร่วมหารือเลขาธิการ ศอ.บต. สร้างความร่วมมือระหว่างไทย-อินโดนีเซีย แนะอยากให้ผู้นำศาสนาในภาคใต้ไปดูเรื่องความเป็นอยู่ การศึกษา ศาสนา สังคมต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย

เมื่อเวลา 17.00 น.วันนี้ (14 ม.ค.) ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลาม จ.ปัตตานี ผู้นำศาสนา เจ้าหน้าที่ของ ศอ.บต. ได้ให้การต้อนรับ His Excellency Drs.Suryadharma Ali MSi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนา ประเทศอินโดนีเซีย และคณะ ประกอบด้วย อดีตเอกอัครราชทูตประจำกรุงเทพฯ กงสุลใหญ่ เมืองสงขลา อดีตอธิบดีกรมศาสนาพุทธ อธิบดีศาสนาพุทธ ผู้นำศาสนาพุทธ ในโอกาสที่ทางคณะได้มาพบปะเยี่ยมเยียนพร้อมพูดคุยเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศไทย กับประเทศอินโดนีเซีย ในด้านสังคม ศาสนา การศึกษา และปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

Drs.Suryadharma Ali MSi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนา ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวขอบคุณทาง ศอ.บต. ที่ได้เชิญทางตน และคณะมาร่วมสัมมนานานาชาติ และได้มีโอกาสพบผู้นำศาสนา ผู้นำด้านการศึกษาในครั้งนี้ด้วย โดยหลังจากที่ได้พูดคุยได้ทราบว่า สถานการณ์ของคนมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีความแตกต่างกับคนมุสลิมในประเทศอินโดนีเซีย จากข่าวที่นำเสนอออกไป ทั้งจากภาครัฐ และประชาชนจะแตกต่างกับที่ได้รับทราบ ซึ่งวันนี้ก็ได้มารับทราบข้อเท็จจริง ได้มาเห็นความเป็นอยู่ที่ไม่ได้เป็นไปตามข่าว และอยากให้ชาวมุสลิมในประเทศอินโดนีเซียได้ทราบความจริงด้วย

สำหรับประเทศอินโดนีเซีย และประเทศไทย มีความเหมือนกันในเรื่องของศาสนา ที่อินโดนีเซีย ส่วนใหญ่ 87-90 เปอร์เซ็นต์ จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ประเทศไทยจะนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งประเทศอินโดนีเซียมีความสลับซับซ้อนในการปกครองประเทศ อินโดนีเซียมีหนึ่งหมื่นกว่าเกาะ ร้อยกว่าภาษา การนับถือศาสนาก็มากมาย แต่ก็ยังรวมกันเป็นหนึ่ง เป็นสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้ สิ่งสำคัญที่ทำให้ประเทศอินโดนีเซียรวมกันเป็นหนึ่งก็คงเป็นหลักของอิสลาม และศาสนาอื่นๆ เช่น ฮินดู พุทธ ซึ่งผู้นับถือศาสนาในประเทศอินโดนีเซียมีความเชื่อมั่นในแต่ละศาสนาที่เข้มแข็ง และสามารถรวมเป็นหนึ่งได้ ความแตกต่างเป็นเรื่องปกติ หลากหลายมากมาย เป็นเรื่องที่องค์อัลเลาะห์กำหนดขึ้นมา อิสลามในอินโดนีเซีย ยึดหลักความเป็นพี่น้องระหว่างมุสลิมด้วยกัน ความเป็นพี่น้องในเรื่องประชาชาติ ความเป็นพี่น้องในเรื่องมนุษยชาติ ความเป็นพี่น้องไม่ใช่เฉพาะชาติพันธุ์ การนับถือศาสนา ความเชื่อ แต่จะเป็นพี่น้องระหว่างมนุษยชาติ นี่คือปรัชญาของชาวอินโดนีเซียที่สร้างความเป็นประชาชาติได้

“ที่ประเทศอินโดนีเซียเอง ในอดีตเคยประสบปัญหาทั้งเรื่องสังคม ศาสนา และชาติพันธุ์เช่นกัน รวมทั้งเคยประสบปัญหาเกี่ยวกับแนวคิดสุดโต่งมาแล้ว แต่ก็สามารถคลี่คลายปัญหาได้ สถานะของอิสลามในประเทศอินโดนีเซียเราก็อยู่ร่วมกับศาสนาทุกศาสนาอย่างสันติสุขได้ ที่กล่าวมานั้น ชาว 3 จชต. ภาครัฐ และประชาชน สามารถมองประเทศอินโดนีเซียได้ว่า ศาสนาทุกศาสนาอยู่กันอย่างสันติสุขตลอดมา ความสัมพันธ์ที่ดีของอินโดนีเซีย และประเทศไทย มุสลิมใต้ มุสลิมอินโดฯ ก็สามารถร่วมกันเผยแพร่ศาสนา วัฒนธรรมได้ ซึ่งตนเองอยากให้ผู้นำศาสนาในภาคใต้ไปดูเรื่องความเป็นอยู่ การศึกษา ศาสนา สังคมต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซียด้วย ถ้ามีตัวแทนจากภาครัฐ ผู้นำศาสนาเข้าร่วม ในรัฐมนตรีศาสนาก็จะเป็นการดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะส่งผู้นำศาสนาไปร่วม ซึ่งตนอยากเสนอเรื่องนี้ผ่านท่านเลขาฯ ไปถึงรัฐบาลไทย เรื่องอื่นๆ ก็อยากให้มีความร่วมมือระหว่างประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านต่างๆ อีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนา ประเทศอินโดนีเซียกล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น