xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากช่วยยื้อชีวิตโลมาลายแถบ 2 แม่ลูกป่วยติดเชื้อ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน เฝ้ารักษาโลมาลายแถบ 2 แม่ลูก หลังถูกคลื่นซัดเข้ามาเกยตื้น ตรวจพบมีการติดเชื้อภายในอย่างรุนแรง ตัวแม่ถ่ายเป็นเลือด ขณะที่ลูกมีอาการติดเชื้อแต่ยังสามารถว่ายน้ำเองได้

วันนี้ (10 ม.ค.) นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กำลังช่วยกันดูแลรักษาโลมาลายแถบ 2 แม่ลูก ซึ่งถูกคลื่นซัดเข้ามาเกยตื้นที่บริเวณชายหาดบ้านทุ่งมะพร้าว ต.ทับละมุ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่รับมาดูแลรักษาอาการป่วยที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องช่วยกันพยุงให้แม่โลมาว่ายน้ำในบ่ออนุบาล เนื่องจากโลมาตัวแม่ไม่สามารถว่ายน้ำเองได้ โดยจะมีลูกโลมาคอยว่ายน้ำคลอเคลีย และพยายามดันลำตัวของแม่โลมาให้ว่ายน้ำ

สำหรับโลมาทั้ง 2 ตัวนั้น ทางกลุ่มสัตว์ทะเลได้รับแจ้งจากชาวบ้านให้รับมาดูแลรักษา หลังชาวบ้านไปพบถูกคลื่นซัดเข้ามาเกยตื้นที่บริเวณชายหาดทุ่งมะพร้าว จ.พังงา จากการตรวจสอบพบว่า แม่โลมามีอายุประมาณ 20-25 ปี ยาว 2.07 เมตร หนัก 70 กิโลกรัม สภาพในช่วงแรกที่รับเข้ามาดูแลมีอาการอ่อนแรง ไม่ว่ายน้ำ มีแผลเปื่อยตามผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณครีบหลัง รอบดวงตา รวมทั้งมีแผลในปาก ภายในกระเพาะไม่มีอาหาร คาดว่าไม่กินอาหารมาหลายวันแล้ว นอกจากนั้น ยังพบว่าอุจจาระเป็นเมือกสีเหลืองปนเขียว น่าจะมีอาการป่วยติดเชื้อภายในมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่ลูกโลมาจากการตรวจสอบคาดว่าน่าจะมีอายุประมาณ 1 ปี มีฟันขึ้นครบ เพศผู้ น้ำหนัก 16 กิโลกรัม ยาว 1.23 เมตร พบภายในปากมีแผล ยังสามารถว่ายน้ำได้ แต่ไม่ค่อยกินอาหาร

นายก้องเกียรติ กล่าวขณะเฝ้าติดตามการดูแลโลมา 2 แม่ลูกว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ต้องเฝ้าดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากอาการของโลมาทรุดลง โดยในส่วนของแม่นั้นพบว่ามีการถ่ายออกมาเป็นเลือด ขณะที่ลูกไม่ยอมกินอาหาร ซึ่งตั้งแต่วันที่รับมาจนถึงขณะนี้พบว่า ทั้ง 2 ตัวมีน้ำหนักลดลง ทางสัตวแพทย์ก็ได้ทำการรักษาไปตามอาการที่ตรวจพบ ซึ่งมีการเจาะเลือดไปตรวจเพื่อหาสาเหตุของการติดเชื้อ ในเบื้องต้น ให้ยาปฏิชีวนะในการรักษา รวมทั้งให้ยาบำรุงเพื่อฟื้นร่างกายให้โลมามีความแข็งแรงโดยเร็ว ถ้าร่างกายแข็งแรงก็จะสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ เพราะไวรัสที่พบในโลมาจะระบาดไปทั่วทั้งตัวและไม่มียารักษา

อย่างไรก็ตาม การรักษานั้นจะมีการประเมินตลอดเวลา ถ้าพบว่าโลมาไม่ยอมกินอาหารเอง หรืออาหารที่กินเข้าไปไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายก็จะต้องให้อาหารทางท่อด้วย ซึ่งขณะนี้ เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยให้โลมาทั้ง 2 ตัวอยู่ในบ่อเดียวกันเพื่อลดความกดดัน ซึ่งโลมาทั้ง 2 ตัวมีความผูกพันกันมาก ลูกโลมาจะพยายามเข้าไปช่วยดันลำตัวของแม่เพื่อให้ว่ายน้ำอยู่ตลอดเวลา และจะมีการเรียกหากันตลอด ส่วนช่วงกลางคืนนั้นจะแยกตัวแม่กับลูกออกจากกันเพื่อลดการติดเชื้อจากแม่ไปสู่ลูก ขณะที่การให้อาหารโลมานั้น จะให้วันละ 5 เวลา

สำหรับการดูแลรักษาโลมาทั้ง 2 ตัวนั้น ทางเจ้าหน้าที่พยายามอย่างเต็มที่ แต่จากสภาพของโลมาทั้ง 2 ตัว โดยเฉพาะตัวแม่พบว่าอาการแย่มาก เนื่องจากมีการติดเชื้อมาเป็นเวลานาน โอกาสที่จะหายนั้นมีน้อยมาก ขณะที่ตัวลูกก็มีการติดเชื้อเช่นกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด ถ้าโลมา 2 แม่ลูกหายเป็นปกติก็จะนำไปปล่อยในทะเลต่อไป ซึ่งขณะนี้ การดูแลต้องจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าดูแลตอลด 24 ชั่วโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น