xs
xsm
sm
md
lg

“กอ.รมน.ภาค 4 สน.” ชี้แจงวันครบรอบเหตุปล้นปืนค่ายทหารที่นราฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “กอ.รมน.ภาค 4 สน.” ร่อนแถลงการณ์ชี้แจงช่วงวันครบรอบ 9 ปีเหตุปล้นปืนค่ายทหารที่นราธิวาส อันถือเป็นไม้ขีดก้านแรกที่จุดไฟใต้ระลอกใหม่
 
วันนี้ (4 ม.ค.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า 1.คำชี้แจงจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มีความเห็นต่อสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน ประกอบด้วย
 
1.1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มีความเห็นต่อสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน และขอยืนยันว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรัฐบาล และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ ฝ่ายความมั่นคง คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และฝ่ายพัฒนา คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปัจจุบันคือ ยึดถือแนวทางสันติ หลักสิทธิมนุษยชน และความมีมนุษยธรรม ซึ่งพร้อมที่จะมีการพิสูจน์ หรือรับการตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เหตุความรุนแรงที่ยังคงปรากฏอยู่ ประชาชนทั่วไปควรใช้ดุลยพินิจว่า ผู้ที่ยังไม่หยุดการกระทำ จนเป็นเหตุให้เด็ก เยาวชน และประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องได้รับบาดเจ็บ สูญเสียชีวิต และพิการก็คือ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงโดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม กฎหมาย และคำเรียกร้องจากสาธารณชนทั่วโลก 
 
1.2 ปัจจุบัน รัฐบาลไทยโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติสู่สันติภาพแล้วโดยการ  เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือเรียกว่าผู้มีความเห็นต่างจากรัฐ อันรวมถึงประชาชนผู้มีข้อสงสัยว่าตนเองมีรายชื่อที่ทางราชการต้องการตัว ได้ออกมาแสดงตน พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ด้วยความสมัครใจ ไม่มีการขู่เข็ญ บังคับ หรือทำทารุณกรรมใดๆ ทั้งสิ้น เรียกว่า “โครงการสานใจสู่สันติ” ซึ่งปัจจุบันได้มีผู้มีความเห็นต่างจากรัฐได้สมัครใจออกมาแสดงตัวต่อทางราชการจำนวนหลายรายแล้ว สำหรับกระบวนการสันติภาพ ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอยู่แล้ว โดยกระทำบนพื้นฐานของความสมัครใจและเปิดเผย แต่หากจะกำหนดความหมายของกระบวนการสันติภาพหมายถึง การเจรจาอย่างเป็นทางการ และมีตัวกลางซึ่งอาจเป็นบุคคล คณะ หรือประเทศนั้น ขอชี้แจงว่ากระบวนการดังกล่าวยังไม่เหมาะสมที่จะกระทำสำหรับปัญหาความไม่สงบพื้นที่จังหวัดชายแดนของประเทศไทยในขณะนี้ได้ เนื่องจาก
 
ประการที่ 1 รัฐบาลไทยถือว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือผู้มีความเห็นต่างจากรัฐ ล้วนเป็นประชาชนไทยที่อาจมีความหลากหลายด้านเชื้อชาติเช่นเดียวกับประชาชนชาวไทยในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคใต้ตอนบน ที่มีประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีน อินเดีย ลาว กัมพูชา กระเหรี่ยง ม้ง เย้า ลีซอ มลายู และอื่นๆ พักอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยความหมายก็คือ เป็นปัญหาภายในของประชาชนชาวไทยเอง
 
ประการที่ 2 การเจรจาอย่างเป็นทางการในรูปแบบสากล มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่งที่ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงจำเป็นต้องมีผู้ได้รับฉันทานุมัติเป็นผู้แทนซึ่งมีอำนาจตกลงใจ และเป็นผู้แทนแท้จริงมาเป็นคู่เจรจา แต่จนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีบทพิสูจน์อันใดที่แสดงว่ากลุ่มหนึ่ง กลุ่มใด จะเป็นผู้แทนที่มีอำนาจตกลงใจ หรือผู้แทนแท้จริงของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงแต่ประการใด และในทางตรงกันข้าม กลับมีบางกลุ่มของผู้ก่อเหตุรุนแรง  ที่ได้ประกาศชัดเจนว่าไม่ต้องการแนวทางสันติ แต่จะยึดแนวทางการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนต่อไป
 
ประการที่ 3 รูปแบบการตกลงสันติภาพที่จะถือเป็นแบบอย่างได้ควรเป็นรูปแบบที่ได้รับฉันทานุมัติจากทุกฝ่าย ไม่มีเงื่อนไข หรือปัญหาภายในแอบแฝง สำหรับการที่มีบางฝ่ายพยายามโน้มน้าวให้รัฐบาลไทยได้ยอมรับรูปแบบการเจรจาตกลงระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ และขบวนการแบ่งแยกดินแดนโมโร (MILF) กรณีพื้นที่บนเกาะมินดาเนา ซึ่งหากจะมีการวิเคราะห์และตรวจสอบด้านการข่าวแท้จริงแล้ว ขบวนการแบ่งแยกดินแดนโมโร (MILF) และชาวฟิลิปปินส์ มีภูมิหลังด้านประวัติศาสตร์แตกต่างจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น การที่รัฐบาลไทยจะนำรูปแบบการตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ และขบวนการแบ่งแยกดินแดนโมโร (MILF) มาเป็นมาตรฐานจึงต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง ประกอบกับในปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้กำหนดนโยบายที่เอื้อในการสร้างสภาวะแวดล้อมต่อการพูดคุย ในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และการให้หลักประกันต่อการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ ซึ่งอยู่ในยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ที่ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2555
 
1.3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ขอแสดงความชื่นชมในนามรัฐบาลไทย และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่องค์กรเพื่อสันติภาพทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับชาติ และระดับสากลได้ช่วยประสานการจัดตั้งเครือข่ายร่วมกันเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ถือว่าความร่วมมือร่วมใจ จากทุกภาคส่วนคือ ภาคเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรเพื่อสันติภาพหากเกิดขึ้นจริง และถาวรจะเป็นพลังที่สามารถผลักดันให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้รับทราบ และตระหนักถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และยินยอมปรับแนวความคิดของกลุ่มหรือบุคคลสู่การใคร่ครวญ พิจารณาถึงหลักการแห่งสันติภาพ ความมีมนุษยธรรม เคารพในหลักสิทธิมนุษยชน และมุ่งสู่การสร้างความสงบสันติด้วยตัวของตัวเองเป็นสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น