คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส
ยุทธวิธีทางการตลาดแบบ “ขายเหล้าพ่วงเบียร์” ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ที่นำโดย นายอุทิศ ชูช่วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ก็ต้องสะดุดหยุดลงชั่วคราว จากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสงขลา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ตามคำฟ้องขอการคุ้มครองจากศาลของภาคประชาชน ที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าข้ามทะเลสาบสงขลา เพราะเห็นว่าโครงการดังกล่าวจะทำลายป่าสนสันทรายชายหาดผืนสุดท้ายใจกลางเมือง และเห็นว่าโครงการดังกล่าวยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในอีกหลายประเด็น
และที่สำคัญ โครงการดังกล่าวคนสงขลามีความเชื่อกันว่าเป็นสาเหตุของการฆ่า นายพีระ ตันติเศรณี นายกเทศบาลนครสงขลาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา และต่างขนานนามโครงการนี้ว่า กระเช้าเปื้อนเลือด
แต่ความพยายามขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาก็หาได้ยุติลง เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการจัดงานวางศิลาฤกษ์ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเอิกเกริกใหญ่โตมโหฬาร มีการเกณฑ์ผู้คน นักเรียน มาเข้าร่วมงานกันอย่างคึกคัก รถบัส รถโดยสารในจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียงถูกเหมาจ้างจากนักการเมือง โดยเฉพาะเครือข่ายสมาชิกสภาจังหวัดที่ยืนอยู่ฝ่าย นายอุทิศ ชูช่วย ต่างระดมผู้คนกันเข้ามาร่วมในพิธีดังกล่าว ข่าวว่างานนี้ได้ใช้งบประมาณไปไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ในขณะที่ในพื้นที่ต่างๆ ก็มีป้ายขนาดใหญ่บอกว่าจะมีกิจกรรมปลูกต้นสน 1000 ต้น
โดยป้ายประกาศเชิญชวนของ อบจ.สงขลา ประกอบไปด้วย ด้านบนสุดเป็นโลโกของมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ จากนั้นตามด้วยข้อความว่า “มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ขอเชิญร่วมปลูกป่าสน 1,000 ต้น 28 ธันวาคม 2555 ณ บริเวณแหลมสนอ่อน อ.เมืองสงขลา” จากนั้น ด้านล่างสุด เป็นโลโกพร้อมข้อความกำกับว่า “อบจ.สงขลา” โดยทั้งป้ายเน้นพื้นสีเขียว และใช้ภาพป่าสนบริเวณแหลมสนอ่อนของเทศบาลนครสงขลาประกอบเป็นภาพขนาดใหญ่ เห็นได้เด่นชัด
ในช่วงที่ข่าวการเสียชีวิตของ นายพีระ ตันติเศรณี กำลังถูกสื่อมวลชนขุดคุ้ยว่า มีส่วนกับการที่เขาประกาศไม่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้า เพราะเขาอยากรักษาพื้นที่ป่าสนสันทรายชายหาดผืนนั้นไว้
ในขณะเดียวกัน เขาในฐานะนายกเทศบาลนครเมืองสงขลาก็ได้จัดทำโครงการใช้พื้นที่แหลมสนอ่อนทั้งหมดประมาณ 500 ไร่ เตรียมนำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวันพระราชสมภพ 5 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ตามโครงการ “เฉลิมพระเกียรติ 5 ธันวามหาราช อุทยานธรรมชาติป่าสนสมิหลาแหลมสนอ่อนนครสงขลา (Samira Beach Tine Forest Park Soson Cape Songkhla City) ซึ่งก็ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และได้ผ่านการอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาให้ดำเนินโครงการดังกล่าว ด้วยงบประมาณขั้นต้น จำนวน 15 ล้านบาท
ลักษณะขององค์ประกอบของโครงการที่นำเสนอโดยเทศบาลนครเมืองสงขลา ภายใต้การนำของนายพีระ ตันติเศรณี ในฐานะนายกเทศบาลนครเมืองสงขลา จะไม่มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่มาก และที่สำคัญ เขาไม่เห็นด้วยที่จะให้มีสิ่งก่อสร้างเช่น กระเช้าลอยฟ้า เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว
“ส่วนโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้า ซึ่ง อบจ.สงขลา ระบุว่า จะใช้พื้นที่ 5 ไร่ ได้รับการยืนยันจาก นายอนันต์ สาธุเสน เลขานุการมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ว่า ไม่ใช่โครงการของมูลนิธิฯ โดย อบจ.สงขลาเป็นผู้ดำเนินการ…
“ด้านนายอุทิศ ชูช่วย นายก อบจ.สงขลา เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ให้เป็นผู้ดำเนินการสร้างศูนย์ประสานงาน และมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการกระเช้าลอยฟ้า นายก อบจ.สงขลา กล่าวเสริมว่า พื้นที่ดำเนินโครงการของมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ และโครงการกระเช้าลอยฟ้า จะกำหนดพื้นที่แต่ละโครงการให้มีความชัดเจน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน”
ข่าวจากสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2555 ระบุ...
“มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา สำหรับพื้นที่แหลมสนอ่อน ซึ่งจะสร้างเป็นศูนย์ประสานงานมูลนิธิฯ เป็นพื้นที่ที่ทางมูลนิธิฯ เช่าจากกรมธนารักษ์ เพื่อพัฒนาตามโครงการพระราชดำริ”
คนสงขลาก็ถึงบางอ้อจากความสับสนของข้อมูลที่เป็นมาตลอด 2-3 เดือน ที่เรื่องราวดังกล่าวเข้ามาเกี่ยวพันกับการเสียชีวิตของ นายพีระ ตันติเศรณี วันนี้ ชาวสงขลาได้รู้ข้อมูลว่า พื้นที่แหลมสนอ่อน ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา อยู่ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ ที่ผ่านมา อยู่ระหว่างปรับพื้นที่เพื่อเตรียมพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารศูนย์ประสานงานมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นโครงการพระราชดำริ “หนึ่งในสืบสานวัฒนธรรมไทย”
ที่ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เพราะทางมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ได้เช่าพื้นที่แหลมสนอ่อนจากกรมธนารักษ์ 176 ไร่ เพื่อใช้ประโยชน์ในโครงการดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์ประสานงานมูลนิธิ โรงพยาบาล ศูนย์กู้ภัย โครงการปรับภูมิทัศน์แหลมสนอ่อนให้เป็นโรงละครกลางแจ้ง ฯลฯ ส่วนโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้า ซึ่ง อบจ.สงขลาระบุว่า จะใช้พื้นที่ 5 ไร่ ได้รับการยืนยันจากนายอนันต์ สาธุเสน เลขานุการมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ว่า ไม่ใช่โครงการของมูลนิธิฯ
คิดว่าคนสงขลา หรือคนไทยทั้งประเทศต่างก็เห็นประโยชน์ของงานที่มูลนิธิมิรา เคิล ออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่ได้ดำเนินการอยู่ เพราะเป็นการช่วยเหลือสังคมไทยในด้านต่างๆ เป็นที่ประจักษ์มาตลอด แต่พื้นที่แหลมสนอ่อน อ.เมืองสงขลา เป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางในทางธรรมชาติ เป็นป่าสนสันทรายชายหาดกลางใจเมืองเพียงแห่งเดียวที่มีอยู่ คนสงขลาอยากเก็บเอาไว้เพื่อให้เป็นปอดของเมือง เป็นแนวกันคลื่นลม หรือพายุ ตลอดจนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่แนบชิดกลมกลืนกับธรรมชาติ ซึ่งในปัจจุบัน หาได้ไม่ง่ายนักที่เมืองเก่าแก่อย่างเมืองสงขลาจะประกอบไปด้วยลักษณะที่เป็นธรรมชาติที่สวยงามเช่นนี้
ถ้าเป็นไปได้ อยากวิงวอนให้ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้โปรดพิจารณาการใช้พื้นที่ดังกล่าวอีกสักครั้ง และคิดว่าในจังหวัดสงขลายังมีพื้นที่ที่เหมาะสมอีกมาก ที่ไม่ใช่ป่าสนสันทราย ชายหาดผืนสุดท้ายของเมืองผืนนี้