xs
xsm
sm
md
lg

กระเช้าลอยฟ้าฆ่าพีระ ปลุกคนสงขลาตื่นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

***หลังจากชายฉกรรจ์ 2 คนใช้อาวุธสงครามกระหน่ำยิง นายพีระ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา จนเสียชีวิตกลางเมืองที่เขาทำหน้าดูแลเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2555 ชื่อโครงการ “กระเช้าลอยฟ้า จังหวัดสงขลา” ก็กลายเป็นคำใหม่ ที่สังคมหันมาให้ความสนใจเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพียงเพราะความไม่ชอบมาพากลของโครงการที่เร่งรัดรวบหัวรวบหางอย่างออกนอกหน้าเพียงอย่างเดียว แต่เพราะมันเป็นเงื่อนงำหนึ่งที่เกี่ยวพันกับการสังหารโหดแบบไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมนี้ด้วย***

ในฐานะนายกเทศมนตรี “พีระ” เป็นนักการเมืองสายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่แสดงท่าทีคัดค้านโครงการกระเช้าลอยฟ้าขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ซึ่งจะก่อสร้างจากแหลมสนอ่อน อ.เมือง จ.สงขลา ข้ามทะเลสาบสงขลาไปยังหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา อย่างชัดเจน ด้วยเหตุผลหลักคือป่าสนที่ อบจ.สงขลา จะเนรมิตเป็นสถานีกระเช้าลอยฟ้านั้นเป็นป่าสนเพียงผืนเดียวของ จ.สงขลา ที่เป็นเสมือนปอดของเมือง และมีความสำคัญกับระบบนิเวศชายฝั่ง ถ้าเขาไม่ถูกสั่งเก็บเสียก่อน ป่าสนผืนเดียวกันนั้นจะถูกพัฒนาเป็น “อุทยานธรรมชาติป่าสนชายหาดสมิรา แหลมสนอ่อน นครสงขลา (SMIRA BEACH PINE FOREST NATURE PARK)”

ป่าสนธรรมชาติที่เป็นบ้านของคนสงขลา เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติของเด็ก และจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ แนวเดียวกับ Nami Island ของเกาหลีใต้ มีเส้นทางเดินเท้าอิงธรรมชาติ เส้นทางจักรยาน และระบบรักษาความปลอดภัย มีเต็นท์พักแรม มีแสงสว่าง มีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาตินครสงขลา ต้นไม้คือป่าสนธรรมชาติ ทำแค่แนวทางเดิน วิ่ง และเส้นทางจักรยาน ปัจจุบันที่เป็นตัวหนอนแข็งๆ รื้อออกครับ แล้วมีป้ายสื่อความหมายอธิบายพันธุ์ไม้รอบๆ จะมีที่จอดรถ และแนวกันชนที่กว้างมากกันจากพื้นที่อื่น และมุมหนึ่งจะเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาตินครสงขลา (Songkhla City's Natural History Museum) แนวกันชนที่ว่า จะเปิดสู่ชายหาด ที่ที่นั่งชมวิว แล้วมีวงเวียนริมทะเล ...มีระบบรักษาความปลอดภัย เต็นท์ จักรยาน ห้องน้ำสาธารณะ บริการ 24 ชม.” นี่คือคำอธิบายของ “พีระ” ว่าเขาจะสร้างบ้านแปลงเมืองตามแนวคิด “นิเวศน์นาคร” หรือ Ecopolis แบบไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมอย่างไร

***แต่ทุกอย่างก็สะดุดลงพร้อมกับกระสุนจากอาวุธปืนสงคราม 2 กระบอก!!***

จิ๊กซอว์ปมสังหาร “พีระ” ถูกต่อขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อพบรถคันที่ใช้ก่อเหตุจอดอยู่ที่สถานีวิทยุสมิหลาเรดิโอ ซึ่งเป็นของ “กิตติ ชูช่วย” น้องชายแท้ๆ ของนายอุทิศ ชูช่วย นายก อบจ.สงขลา ทั้งนี้ “กิตติ” เคยลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครสงขลาและพ่ายให้แก่ “พีระ” แต่เมื่อรวมกับหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และทีมมือปืนที่ถูกออกหมายจับแล้ว 3 คน การดำเนินคดีทางกฎหมายกลับเป็นไปอย่างล่าช้า จนเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจได้ออกหมายจับ “กิตติ” ในฐานะผู้จ้างวานฆ่า แต่ก็เหมือนนกรู้เมื่อเขาชิงมอบตัวและใช้เงิน 3,000,000 บาทประกันตัวออกไป
ในขณะที่การตามล่าตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการลอบฆ่า “พีระ ตันติเศรณี” รุดหน้าไปอย่างเชื่องช้า โครงการ “กระเช้าลอยฟ้า” ที่ผลักดันโดย “อุทิศ ชูช่วย” กลับเดินหน้าไปอย่างรีบเร่ง จนเป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุใดจึงลัดและละเลยขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ทั้งในส่วนของการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชน 16 อำเภอทั่วทั้งจังหวัด เนื่องจากโครงการนี้ อบจ.สงขลา มีภาระผูกพันต้องรับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายต่อเนื่องทั้งระบบ รวมค่าจ้างพนักงานและค่าบำรุงรักษา ไม่ใช่เพียงแค่ 459 ล้านบาทซึ่งเป็นงบประมาณในการก่อสร้างเท่านั้น
รวมถึงการขออนุญาตหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเทศบาลนครสงขลาในฐานะเจ้าของพื้นที่ และกรมเจ้าท่า เนื่องจากการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าถือได้ว่าเป็นสิ่งรุกล้ำลำน้ำและกระทบกับการสัญจรของประชาชนในพื้นที่ เพราะจะมีเรือขนส่งสินค้าลอดผ่านเส้นทางของกระเช้า นั่นคือคำตอบว่าทำไมสถานีกระเช้าลอยฟ้าจึงสูงถึง 80 เมตร และเกี่ยวเนื่องต่อไปถึงกฎหมายกำกับการก่อสร้างอาคารที่ควบคุมความสูงไว้ไม่เกิน 23 เมตร
นอกจากนี้ พื้นที่แหลมสนอ่อนซึ่งเป็นสถานีต้นทางของกระเช้าลอยฟ้า ยังเป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1A กำหนดห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นที่ป่าไม้เป็นรูปแบบอื่นอย่างเด็ดขาดทุกกรณี และเป็นพื้นที่สีเขียวในผังเมืองรวมของจังหวัดด้วย
ความไม่ชอบมาพากลของ “กระเช้าลอยฟ้า” ยังไม่จบแค่นี้ เมื่อ อบจ.สงขลา ทำหนังสือถึงเทศบาลนครสงขลาในฐานะเจ้าของบ้าน แจ้งว่าได้รับการติดต่อจากมูลนิธิมิราเคิล ออฟ ไลฟ์ ให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการ “หนึ่งใจสืบสานวัฒนธรรมไทย” พร้อมศูนย์ประสานงานมูลนิธิมิราเคิล ออฟ ไลฟ์ ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ต่อจากสถานีกระเช้าลอยฟ้าแหลมสนอ่อน ของ อบจ.สงขลา โดย “กระเช้าลอยฟ้า” ก็ถูกบรรจุเป็น 1 ในโครงการ “หนึ่งใจสืบสานวัฒนธรรมไทย” ด้วย รวมพื้นที่ใช้สอยบริเวณแหลมสนอ่อนทั้งสิ้นกว่า 176 ไร่ และท้ายที่สุดเลขานุการมูลนิธิมิราเคิล ออฟ ไลฟ์ ออกมาปฏิเสธว่า โครงการของมูลนิธิไม่เกี่ยวข้องกับกระเช้าลอยฟ้าของ อบจ.สงขลา แต่อย่างใด
เพียงแค่แหลมสนอ่อนซึ่งเป็นสถานีต้นทางของ “กระเช้าลอยฟ้า” ก็ยังมีปัญหาอีรุงตุงนังหมกเม็ดให้กังขามากมาย มิพักพูดถึง “หัวเขาแดง” จุดที่ อบจ.สงขลา ระบุว่าเป็นปลายทางเพื่อนำนักท่องเที่ยวไปศึกษา “โบราณสถานประวัติศาสตร์เมืองเก่าสงขลา” ซึ่งมีเจดีย์องค์ดำ-องค์ขาว เป็นตัวชูโรง ว่าการก่อสร้างสถานีกระเช้าลอยฟ้าบนเขาแดงนั้นเหมาะสมหรือไม่ และโบราณสถานดังกล่าวเหมาะสมกับการรองรับกรุ๊ปทัวร์ใหญ่ๆ ที่ไปแล้วต้องกินอาหาร ต้องเข้าห้องน้ำหรือไม่ ขยะจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก อบจ.สงขลา จะจัดการอย่างไร การสร้างร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และห้องน้ำบนหัวเขาแดง ต้องกินพื้นที่โดยรอบอีกเท่าไหร่ สภาพดินและภูมิศาสตร์โดยรอบเอื้อต่อการก่อสร้างเช่นนั้นหรือไม่ กระทบวิถีชาวบ้านในละแวกดังกล่าวซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงเพียงใด... คำถามเหล่านี้ อบจ.สงขลา ต้องรู้แจ้งเห็นจริงก่อนเดินหน้าลุยโครงการ

***แต่ปรากฏว่า... อบจ.สงขลา เดินหน้าเต็มสูบ เคลียร์พื้นที่แหลมสนอ่อนบางส่วนเพื่อวางศิลาฤกษ์โครงการแล้ว ทั้งที่ทุกคำถามยังไม่ได้คำตอบแน่ชัด จนเป็นที่มาของการยื่นหนังสือคัดค้านถึงศาลปกครองสงขลาให้ระงับโครงการ “กระเช้าลอยฟ้า” และศาลได้มีคำสั่งให้ อบจ.สงขลา ระงับโครงการก่อนชั่วคราวเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่าน แต่ อบจ.สงขลา ก็ยังเดินหน้าลุยปักป้ายชี้แจงข้อดี (แต่งดเว้นการพูดถึงข้อเสีย) ของ “กระเช้าลอยฟ้า” ทั่วทุกอำเภอ และกำหนดวางศิลาฤกษ์วันที่ 28 ธ.ค.***

สิ่งที่ “อุทิศ ชูช่วย” นายก อบจ.สงขลา มองข้ามคือหัวประชาชนผู้เสียภาษี ที่เข็ดหลาบและเจ็บจุกกับโครงการใหญ่ๆ ภายใต้ “การพัฒนา” ของเขา ทั้งอะควาเรียมแสดงพันธุ์สัตว์สัตว์น้ำ ซึ่งใช้เงินงบประมาณของ อบจ.สร้าง และทุกวันนี้มีสภาพคล้ายถูกทิ้งร้าง และลิฟต์ขึ้นเขาตังกวนที่จำนวนนักท่องเที่ยวไม่ได้หวือหวาเหมือนที่คาดคิด ในฐานะผู้เสียภาษีชาวสงขลาทุกคนจึงมีสิทธิรับทราบข้อมูลทั้งข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบที่จะตามมาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อตัดสินใจว่าอยากได้ “กระเช้าลอยฟ้า” หรือไม่
และไม่ใช่เพียง อบจ.สงขลา เพียงหน่วยงานเดียวเท่านั้นที่ต้องตอบคำถามต่างๆ กับประชาชนให้ชัดเจน ในฐานะหน่วยงานของรัฐซึ่งกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน กรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของพื้นที่แหลมสนอ่อนซึ่งอนุมัติให้ อบจ.สงขลา เช่าเป็นสถานีกระเช้าลอยฟ้า รวมทั้งกรมเจ้าท่า สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา เทศบาลนครสงขลาในฐานะเจ้าบ้าน ร่ายยาวไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กรมศิลปากรซึ่งดูแลโบราณสถานบนหัวเขาแดง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องมีคำตอบให้ได้ว่า “อนุมัติให้สร้าง หรือไม่สร้างกระเช้าลอยฟ้า ด้วยเหตุผลใด”

***วันนี้... กระสุนที่ทำให้ “พีระ ตันติเศรณี” ล้มตายกลางเมืองสงขลา ได้กลายเป็นแรงกระเพื่อมให้ประชาอีกจำนวนมากจับตามอง และรวมพลังตรวจสอบการใช้อำนาจของ “ผู้กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน” ว่าสิ่งต่างๆ ที่ทำนั้น “หวังดี” ต่อดีต่อท้องถิ่นและ “จริงใจ” ต่อชาวบ้านที่ไว้วางใจให้เขาเหล่านั้นดำรงตำแหน่งหรือไม่ หรือแค่เพียงผักชีโรยหน้าที่ซุกผลประโยชน์มหาศาลแก่คนบางกลุ่มไว้จนปิดไม่มิด ?!!***
กำลังโหลดความคิดเห็น