ประเด็นร้อนระอุที่สุดของ จ.สงขลา ในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่อง “กระเช้าลอยฟ้า” ซึ่งกลายเป็นมหากาพย์ประจำเมืองที่พัวพันกับการลอบสังหารนายพีระ ตันติเศรณี โดยมี “อุทิศ ชูช่วย” นายก อบจ.สงขลา เป็นตัวเอกเดินเกมผลักดันสิ่งที่เขานิยามว่า “การพัฒนา” ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาชนผู้ห่วงใยป่าสนผืนสุดท้ายของเมือง พร้อมๆ กับกังขาในความ “ไม่ซื่อ” ของโครงการ วันศุกร์สุดท้ายก่อนสิ้นปี 2555 คล้ายว่าฉากใหม่ของเรื่องได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว...
ที่แหลมสนอ่อน ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งเป็นจุดที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา จะดำเนินการก่อสร้างโครงการกระเช้าลอยฟ้าข้ามทะเลสาบสงขลาไปยังหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา และบริเวณใกล้เคียงกัน มูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์จะก่อสร้างศูนย์ประสานงานมูลนิธิฯ ประจำ จ.สงขลา โดยมอบหมายให้ อบจ.สงขลา เป็นผู้ดำเนินการ ท่ามกลางเสียงท้วงติงคัดค้านของชาวบ้าน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และหลายภาคส่วน
เนื่องจากที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสนธรรมชาติ การใช้พื้นที่ต่อเนื่องเพื่อก่อสร้างสถานีกระเช้าลอยฟ้า ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ตามที่ อบจ.สงขลา ระบุนั้น จะมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศโดยรวมทั้งบริเวณแหลมสนอ่อนต่อเนื่องไปถึงหาดสมิหลาซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมจนเรียกได้ว่า “ห้องรับแขกของเมือง” รวมทั้งพื้นที่แหลมสนอ่อนนั้นกฎหมายผังเมืองกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวอ่อน อนุญาตให้ใช้ประโยชน์เพื่อนันทนาการ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น ตลอดจนจัดเป็นพื้นที่ถอยร่นชายฝั่งตามธรรมชาติ (Setback) เพื่อป้องกันความเสียหายจากคลื่นลม และพายุ ทั้งนี้ การก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่นายพีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลา ซึ่งถูกลอบยิงเสียชีวิตอย่างอุกอาจเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา แสดงท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจน จนมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า เป็นชนวนเหตุของปมสังหารด้วย
ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 28 ธ.ค.2555 มูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ได้จัดกิจกรรมวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างศูนย์ประสานงานฯ จ.สงขลา ตามโครงการ “หนึ่งใจ...สืบสานวัฒนธรรมไทย” โดยมีนายนายมนัส โนนุช กรรมการและผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ ผู้แทนในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างศูนย์ประสานงานฯ โดยมี นายวิโรจน์ ทัฬหะวาสน์ ปลัดจังหวัดสงขลา กล่าวต้อนรับ และนายอุทิศ ชูช่วย นายก อบจ.สงขลา กล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงาน ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเกณฑ์ชาวบ้านจาก 16 อำเภอทั่วทั้ง จ.สงขลา มาเข้าร่วมงานวางศิลาฤกษ์ดังกล่าวอย่างคับคั่งด้วย
ในขณะเดียวกัน เครือข่ายพลเมืองสงขลาซึ่งเดินหน้าคัดค้านการก่อสร้างทั้ง 2 โครงการบริเวณแหลมสนอ่อนอย่างต่อเนื่อง ก็ได้เดินทางมายังแหลมสนอ่อน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่อ นายมนัส โนนุช กรรมการและผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ เนื่องจากทั้งกระเช้าลอยฟ้าถูกบรรจุให้เป็น 1 ในโครงการ “หนึ่งใจ...สืบสานวัฒนธรรมไทย” ของมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ และ อบจ.สงขลา เตรียมดำเนินการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าอย่างไม่ชอบมาพากล ทั้งเรื่องการเลี่ยงกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ทั้งการทำประชาพิจารณ์ และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชน (HIA) รวมทั้งการที่ อบจ.สงขลา ทำหนังสือแจ้งไปยังเทศบาลนครสงขลาหลังจากนายพีระ ตันติเศรณี เสียชีวิต ระบุว่ากระเช้าลอยฟ้าเป็น 1 ในโครงการ “หนึ่งใจ...สืบสานวัฒนธรรมไทย” ของมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เป็นการหมกเม็ด และดึงดันให้กระเช้าเกิดขึ้นโดยเร็ว ด้วยการนำเบื้องสูงมาเกี่ยวข้องเพื่อลดแรงต้านของภาคประชาชน
เครือข่ายพลเมืองสงขลา เปิดเผยว่า การมายื่นหนังสือคัดค้านในวันวางศิลาฤกษ์ศูนย์ประสานงานมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์เป็นการดำเนินการอย่างสันติ เพื่อทำการทักท้วงโครงการที่ภาครัฐเตรียมใช้เงินภาษีของประชาชนดำเนินโครงการ โดยโครงกระเช้าลอยฟ้านั้นจะใช้งบประมาณของ อบจ.สงขลา สูงถึง 459 ล้านบาท ซ้ำยังมองข้ามสิทธิพลเมืองของประชาชนในพื้นที่ ไม่ฟังความคิดเห็นของประชาชนว่าอยากได้โครงการดังกล่าวหรือไม่ และไม่เคยมีการชี้แจงรายละเอียดที่แท้จริงของโครงการให้ประชาชนทราบ โดยระบุแค่เพียงว่า จะนำนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
“เราขอผืนป่านี้ซึ่งอาจดูไร่ค่าไร้ราคาสำหรับหลายคน แต่ขอเถิด ขอให้ลูกหลานเราได้ใช้เป็นสถานที่พักผ่อน เป็นปอดของคนสงขลา และคนใกล้เคียง วันนี้เรามากัน 20 คน เป็นคนตัวเล็กตัวน้อย มาเพื่อขอบอกคนที่ถูกขนกันมาจำนวนมากในวันนี้ให้ทราบว่า พื้นที่ที่ท่านมาวางศิลาฤกษ์เป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการฆ่ากันกลางเมือง หากต้องการสร้างสำนักงานของมูลนิธิ สงขลามีสำนักงานของราชการ และพื้นที่สวยๆ อีกหลายแห่งให้ขอใช้” หนึ่งในเครือข่ายพลเมืองสงขลากล่าว
สำหรับรายละเอียดของหนังสือคัดค้าน ซึ่งนายนายมนัส โนนุช กรรมการและผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ เป็นผู้มารับมอบด้วยตนเองหลังทำพิธีวางศิลาฤกษ์เสร็จ ระบุรายละเอียด ดังนี้
1.การสร้างกระเช้าลอยฟ้า และการใช้พื้นที่ป่าสนธรรมชาติแหลมสนอ่อนตามโครงการหนึ่งใจสืบสานวัฒนธรรมไทย ซึ่งใช้พื้นที่รวม 176 ไร่ จากผืนป่าทั้งหมดประมาณ 500 ไร่ หรือกว่าร้อยละ 40 ของผืนป่า ในทางวิชาการชายหาด การตัดทำลายผืนป่าชายหาดดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายหาด และลดพี้นที่ป่าที่ใช้เป็นเครื่องกำบังคลื่นลม และพายุตามฤดูกาลทุกปี ซึ่งพื้นที่ลักษณะดังกล่าวควรจัดเป็นแนวกั้นเขตถอยร่นชายฝั่ง (setback) หรือห้ามการก่อสร้างใดๆ
2.พื้นที่แหลมสนอ่อนทั้งหมดประมาณ 500 ไร่นี้ เป็นผืนป่าที่ชาวเมืองสงขลาได้ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันพระราชสมภพ 5 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ 5 ธันวามหาราช อุทยานธรรมชาติป่าสนสมิหลาแหลมสนอ่อนนครสงขลา (Samira Beach Tine Forest Nature Park Sonon Cape Songkhla City) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และผ่านการอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาแล้ว
ทั้งนี้ เนื่องจากประชาชนสงขลาตระหนักถึงความสำคัญของป่าสนในฐานะระบบนิเวศที่สำคัญของลุ่มน้ำทะเลสาบ และปัจจุบัน ป่าสนยังเป็นพื้นที่เสริมสร้างการเรียนรู้ภาคพลเมือง และปลูกฝังจิตสำนึกเพื่อสิ่งแวดล้อมของของเยาวชน ในโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา 22 กิจกรรม ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำริที่จะอนุรักษ์ป่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระดำริของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในการพัฒนาเด็ก และเยาวชนด้วยการให้พื้นที่แสดงออกตามความสามารถและตามความสนใจ เพื่อเพิ่มศักยภาพ โดยจัดให้มีการรวมกลุ่มเพื่อทำประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และสังคม
3.การสร้างกระเช้าลอยฟ้า และการใช้พื้นที่ป่าสนธรรมชาติแหลมสนอ่อนตามโครงการหนึ่งใจสืบสานวัฒนธรรมไทย เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท และก่อสร้างใกล้พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของประชาชน โครงการลักษณะนี้จำเป็นจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment - EIA) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชน (Health Impact Assessment - HIA) ตลอดจนการประชาพิจารณ์ก่อนเริ่มทำโครงการระยะใดๆ
ดังนั้น การกระทำของ อบจ.สงขลา จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 อนึ่ง สำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดินภาค 15 ได้ดำเนินการท้วงติง อบจ.สงขลา ตามหนังสือที่ ตผ 0055 สข/403 วันที่ 13 ธันวาคม 2555 แล้ว 2 ประเด็น คือ อบจ.สงขลา ยังไม่ได้รับหนังสืออนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการกระเช้าลอยฟ้าซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำ จากกรมเจ้าท่า ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 63 พ.ศ.2537 ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 แต่นายอุทิศ ชูช่วย นายก อบจ.สงขลา กลับประกาศการประมูลจ้างโครงการดังกล่าวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2555
และประเด็นที่ 2 ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสถานีฝั่งเขาหัวแดงตั้งอยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เข้าข่ายประเภทโครงการ หรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมลำดับที่ 33 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ และขอให้ อบจ.สงขลา แจ้งผลการขอหนังสืออนุญาตจากกรมเจ้าท่าต่อคณะอนุกรรมการ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม และสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 15 ให้ทราบก่อนดำเนินโครงการ
4.การใช้พื้นที่ป่าสนธรรมชาติแหลมสนอ่อนนี้เพื่อโครงการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และจิตวิญญาณของชุมชนแล้ว ยังเป็นการเสียโอกาสของชุมชนที่จะใช้ประโยชน์พื้นที่ตามที่ชุมชนมีสิทธิ ละเมิดสิทธิอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน ปิดกั้นการมีส่วนร่วมจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืนของชุมชนเทศบาลนครสงขลา ตลอดจนสุขภาวะทางจิตวิญญาณของชุมชนอันเป็นการขัดกับมาตรา 66 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2540
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 อบจ.สงขลา ได้เปิดประมูลจ้างการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าซึ่งเป็นโครงการระยะที่ 1 ของโครงการทั้งหมด โดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ทั้งหมดของโครงการหนึ่งใจสืบสานวัฒนธรรมไทยในภาพรวมแต่อย่างใด นอกจากนั้น อบจ.สงขลา ได้ดำเนินการปรับพื้นที่บริเวณแหลมสนอ่อนจนขยายตัวเป็นปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างประชาชนและ อบจ.สงขลา
และเครือข่ายพลเมืองสงขลาได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองตามคดีหมายเลขดำที่ ส.1447/2555 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2555 ต่อมา ศาลปกครองได้มีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ให้ระงับการประมูลจ้างโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าของ อบจ.สงขลา ไว้ก่อน
การเปิดประมูลการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้า การโค่นต้นสน และการกำหนดการวางศิลาฤกษ์โครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนเมืองสงขลาอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า การไม่ยินยอมให้ อบจ.สงขลา เข้าใช้พื้นที่ก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงการระยะแรก เป็นสาเหตุของการลอบสังหารนายพีระ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา ที่ตำรวจตั้งข้อสันนิษฐาน และขณะนี้ตำรวจได้ออกหมายจับนายกิตติ ชูช่วย น้องชายของนายอุทิศ ชูช่วย นายก อบจ.สงขลา ในข้อหาจ้างวานผู้อื่นฆ่านายพีระ ตันติเศรณี และเรียกนายอุทิศ ชูช่วย มาสอบสวนให้ปากคำเนื่องจากผลการสอบสวนได้ขยายผลไปถึง
นอกจากนั้น กลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ต่างรู้สึกสะเทือนใจที่เส้นทางจราจรของกระเช้าลอยฟ้าดังกล่าวจะลอยข้ามเหนือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่เมือง อันจะเป็นสิ่งอัปมงคลต่อเมือง เนื่องจากประชาชนทั้งใน และนอก จ.สงขลา มีความเลื่อมใสศรัทธาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว เช่น ศาลปู่ทวดทวดหัวเขาแดง ศาลปู่ทวดทวดหัวเขาเขียว ศาลเจ้าแปะกง พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ทวดหุม ฯลฯ ซึ่งช่วยปกป้องคุ้มครองเมืองสงขลาให้เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน
ท่ามกลางความคลุมเครือของโครงการ “กระเช้าลอยฟ้า” ที่ดูเหมือนจะทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนายพีระ ตันติเศรณี ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมเลือดเย็น พื้นที่แหลมสนอ่อนตรงจุดที่จะมีการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าก็ให้ความรู้สึกเหมือน “พื้นที่อิทธิพล” ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่สาธารณะ เช่นเดียวกันกับคำว่า “กระเช้าลอยฟ้า” ที่มีสภาพไม่ต่างจากคำต้องห้ามในที่สาธารณะ และประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างอหิงสาปกป้องป่าสนผืนสุดท้ายในฐานะปอดของเมือง โดยคัดค้านท้วงติงการดำเนินงานของ อบจ.สงขลา ก็เหมือนยืนอยู่ในที่โล่งที่รายรอบด้วยความหวาดหวั่นพรั่งพรึง
“ศิลาฤกษ์” ที่ถือฤกษ์วันศุกร์สุดท้ายของเดือนธันวาคม 2555 เข้าดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่พิพาทเช่นแหลมสนอ่อน จะนับว่าการยื่นหนังสือคัดค้านโครงการของประชาชนตัวเล็กๆ ทำให้เสียฤกษ์จนพิจารณาใช้พื้นที่อื่นแทนหรือไม่ หรือจะกลายเป็นศิลาที่ช่วยให้ “กระเช้าลอยฟ้า” ลงหลักปักฐานบนแหลมสนอ่อนได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น
โปรดติดตามตอนต่อไป...