xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสงขลายื่นหนังสือถึงกรมเจ้าท่า-ธนารักษ์ ค้านก่อสร้าง “กระเช้าลอยฟ้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวสงขลายื่นหนังสือคัดค้าน กระเช้าลอยฟ้า ถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ ผ่านธนารักษ์พื้นที่ จ.สงขลา
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายพลเมืองสงขลา ยื่นหนังสือคัดค้านกระเช้าลอยฟ้าถึงกรมเจ้าท่า และกรมธนารักษ์ในฐานะผู้มีอำนาจอนุญาตให้ใช้พื้นที่ดำเนินโครงการ พร้อมใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารขอดูเอกสารการใช้พื้นที่แหลมสนอ่อน ด้านธนารักษ์สงขลา ยันมูลนิธิมิราเคิลฯ ขอใช้เพียง 30 ไร่ อบจ.สงขลาใช้ 5 ไร่ ย้ำหน่วยงานที่เช่าที่ราชพัสดุต้องดำเนินตามกฎหมายเองทุกฉบับ
เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าสงขลา (ขวาสุด) เป็นผู้รับหนังสือคัดค้านฯ
 
เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (26 ธ.ค.) เครือข่ายพลเมืองสงขลา ภาคประชาสังคม และชาวบ้านในพื้นที่ อ.เมือง จ.สงขลา ได้รวมตัวกันที่สำนักงานกรมเจ้าท่า จ.สงขลา เพื่อยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจอนุญาตให้ก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าซึ่งถือเป็นสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ โดยขอคัดค้านการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา และการใช้พื้นที่แหลมสนอ่อนตามโครงการ “หนึ่งใจ... สืบสานวัฒนธรรมไทย” ของมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ ซึ่งจะใช้พื้นที่ป่าสนธรรมชาติบริเวณแหลมสนอ่อน ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา ในการก่อสร้าง จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังสำนักงานกรมธนารักษ์ จ.สงขลา ในฐานะเจ้าของพื้นที่ราชพัสดุที่เปิดให้ทั้ง 2 โครงการเช่าพื้นที่ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านฯ และขอใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ขอดูข้อมูลเอกสารการขอใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวเพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงที่ถูกต้อง และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

โดยระบุรายละเอียดในหนังสือคัดค้านดังกล่าวว่า การก่อสร้างโครงการกระเช้าลอยฟ้าและการใช้พื้นที่ป่าสนธรรมชาติบริเวณแหลมสนอ่อนทั้ง 2 โครงการนั้น ใช้พื้นที่ต่อเนื่องรวม 176 ไร่ ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อแหลมสนอ่อน และระบบนิเวศหาดสมิหลา โดยพื้นที่ดังกล่าวนั้น กฎหมายผังเมืองกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวอ่อน อนุญาตให้ใช้ประโยชนืเพื่อนันทนาการ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น และจัดเป็นพื้นที่ถอยร่นชายฝั่งตามธรรมชาติ (Setback) เพื่อป้องกันความเสียหายจากคลื่นลมและพายุด้วย

 
ทั้งนี้ เนื่องจากสำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดินภาค 15 ได้ออกหนังสือท้วงติง อบจ.สงขลา ลงวันที่ 13 ธ.ค.2555 เรื่องการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำว่า ต้องได้รับหนังสืออนุญาตให้ดำเนินการจากกรมเจ้าท่าเสียก่อน รวมทั้งสถานีกระเช้าลอยฟ้าฝั่งหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา จัดอยู่ในพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เข้าข่ายประเภทโครงการที่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย แต่ปรากฏว่า อบจ.สงขลา ยังไม่ได้จัดทำรายงานผลวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชน (HIA) รวมทั้งประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่

รวมทั้งศาลปกครองจังหวัดสงขลา ได้มีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2555 ให้ อบจ.สงขลา ระงับการประมูลจ้างโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าไว้ก่อน และนายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้มีคำสั่งลงวันที่ 11 ธ.ค.2555 ให้ อบจ.สงขลา ระงับโครงการกระเช้าลอยฟ้าไว้ก่อนชั่วคราวด้วย และตามที่ตำรวจตั้งข้อสันนิษฐาน กรณีดังกล่าวนี้ก็ยังมีส่วนพัวพันกับคดีการฆาตกรรมนายพีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมานตรีนครสงขลา อย่างอุกอาจกลางเมืองสงขลา ซึ่งขณะนี้คดีก็ยังไม่แล้วเสร็จ การเร่งดำเนินการก่อสร้างกระเช้าฯ จึงกระทบกับความรู้สึกของชาวสงขลาอย่างยิ่ง

สำหรับในส่วนของกรมเจ้าท่า นางประไพ บุญจันทร์ เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานธุรการ เป็นผู้มารับหนังสือคัดค้าน และแจ้งว่า จะนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อหัวหน้างานภายในวันนี้ เพื่อให้ดำเนินการตามลำดับขั้นตอนต่อไป
นายเฉลิมศักดิ์ ปาณศรี ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดสงขลา
 
ด้านกรมธนารักษ์ นายเฉลิมศักดิ์ ปาณศรี ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดสงขลา เป็นผู้มารับหนังสือคัดค้านฯ ด้วยตนเอง พร้อมกับเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ในฐานะเจ้าของพื้นที่ราชพัสดุมีอำนาจตัดสินใจในส่วนของการให้เช่าพื้นที่เท่านั้น ทั้งนี้ ในส่วนของการดำเนินการอื่นๆ ตามขั้นตอนกฎหมาย เช่น การทำประชาพิจารณ์ และ EIA หน่วยงานที่ขอเช่าพื้นที่จะต้องเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด

“ในส่วนของแหลมสนอ่อน อบจ.สงขลา ขอให้พื้นที่ 5 ไร่เพื่อดำเนินการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าจาก ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา ไปยังหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา กรมธนารักษ์ก็ไม่ขัดข้อง และพิจารณาแล้วว่าบริเวณ 5 ไร่ดังกล่าวเป็นพื้นที่โล่ง มีต้นสนอยู่เพียง 10 ต้น จึงพิจารณาอนุญาตให้เช่า ส่วนในกรณีของมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์นั้นมาขอให้พื้นที่เพียงแค่ 30 ไร่ เนื่องจากต้องการเปิดเป็นศูนย์พัฒนาศักยภาพเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอาคารหลักคือ อาคารศูนย์พัฒนาเยาวชน มีโรงพยาบาล ซึ่งคงไม่ใช่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ อาจจะเป็นเพียงอาคารเล็กๆ ไว้รักษาพยาบาลเด็กที่เจ็บป่วยเท่านั้น และการก่อสร้างทั้งหมดพิจารณาแล้วว่าอยู่ในส่วนของพื้นที่โล่งว่าง ไม่ได้กินพื้นที่ไปถึงแนวทิวสนด้านหลัง ทั้งนี้ พื้นที่โครงการทั้งหมดไม่ใช่ 176 ไร่ จำนวน 176 ไร่นั้น เป็นที่ดินราชพัสดุที่เหลือ หากหน่วยงานไหนจะขอใช้ประโยชน์ก็ต้องมาขออนุญาตจากกรมธนารักษ์” ธนารักษ์พื้นที่สงขลากล่าว
เอกสารการขอใช้ที่ราชพัสดุบริเวณแหลมสนอ่อนของกรมธนารักษ์
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น