xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการคิดค้นวิธีปลูกพืชไร้ดินแบบใหม่ ใช้กระบอกไม้ไฝ่แทนท่อพีวีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิทยบริการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระบี่ คิดค้นวิธีการปลูกผักไร้ดินแบบใหม่จากกระบอกไม้ไผ่แทนท่อพีวีซี ลดต้นทุนปลูกง่าย เหมาะในพื้นที่ชุมชนเมือง และเกาะแก่ง พร้อมให้ความรู้ผู้ที่สนใจ

นางจรรตกร รอดอยู่ นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิทยบริการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กระบี่ กล่าวถึงการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ (Hydroponics) ว่า ไฮโดรโปรนิกส์ เป็นคำมาจากภาษากรีก 2 คำ คำว่า ไฮโดร ซึ่งแปลว่า “น้ำ” และคำว่า โปโนส แปลว่า “ทำงาน” หรือ “แรงงาน” เมื่อรวมกันจึงแปลว่า การทำงานที่เกี่ยวกับน้ำ เนื่องจากเป็นการปลูกพืชในน้ำที่มีธาตุอาหารพืชละลายอยู่ทดแทนการปลูกพืชในดินที่เราใช้ในการปลูกพืชในเกษตรทั่วไป

ในปัจจุบัน การปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์มีเทคนิคที่คิดค้นพืชใหม่ๆ หลากหลายรูปแบบโดยตัวกลางที่ใช้ในการปลูกไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะใช้น้ำเท่านั้น แต่มีการพัฒนาให้ใช้ตัวกลาง หรือวัสดุในการปลูกทดแทนดินทั้งหมดแล้วรดด้วยสารละลายธาตุอาหารพืชซึ่งเรียกว่า สับสนเทรต คัลเจอร์ หรือแอกกรีเกต ไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวมานี้ทั้งหมดนิยมเรียกรวมๆ กันว่า การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน

ในปัจจุบัน ชุมชนต่างๆ เช่น ชุมชนเมือง พื้นที่ตามเกาะต่างๆ ที่มีพื้นที่ในการทำการเกษตรน้อย อีกทั้งสภาพดินในชุมชนค่อนข้างเสื่อมโทรม ขาดการบำรุงรักษา ไม่สามารถปลูกผักได้ นอกจากชุมชนเมืองแล้ว ยังมีชาวเกาะที่ประสบปัญหาการปลูกผักไว้รับประทานเองในครัวเรือนไม่ได้ เพราะพื้นที่เกาะส่วนใหญ่เป็นดินทรายไม่ค่อยมีธาตุอาหาร และแหล่งน้ำจืดมีน้อย เพื่อให้ประชาชนสามารถปลูกผักในครัวเรือนได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องอาศัยพื้นดิน จึงหาวิธีการใหม่ๆ เช่น การปลูกผักโดยไม่ต้องใช้ดิน คือ การปลูกผักด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์

แต่การปลูกผักด้วยไฮโดรโปนิกส์มีต้นทุนสูง จึงคิดหาวิธีปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ เปลี่ยนจากวัสดุอุปกรณ์พวก pvc ที่มีราคาแพง เป็นการใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น กระบอกไม้ไผ่ ทำให้ต้นทุนการผลิตน้อยลง ประชาชนทั่วไปสามารถประดิษฐ์ใช้เองในครัวเรือนได้

และการปลูกผักด้วยระบบนี้มีรอบปลูกสั้นกว่าการปลูกด้วยดิน สามารถปลูกผักเมืองหนาวได้ ประหยัดน้ำกว่าการใช้ดิน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งได้บริโภคผักปลอดจากสารพิษมีความปลอดภัยต่อสารเคมีอีกด้วย ส่วนสาเหตุที่เลือกใช้วัสดุปลูกพวกเส้นใยทะลายปาล์มน้ำมันเพราะในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มหลายแห่ง ซึ่งมีของเสียจากกระบวนการบีบน้ำมันปาล์มพวกเส้นใยจากทะลายปาล์มเป็นจำนวนมาก นอกจากจะนำไปทำปุ๋ยหมัก และเพาะเห็ดแล้ว ยังสามารถทดแทนวัสดุปลูกพวก พีต มอส ขุยมะพร้าว เม็ดโฟม ได้เป็นอย่างดี และเพื่อใช้วัสดุอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์วิทยบริการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กระบี่

กำลังโหลดความคิดเห็น