xs
xsm
sm
md
lg

“มหาวิทยาลัยหมู่บ้านหัวลำภู” มีอยู่มีกิน ไม่เสี่ยงตามทุนนิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บ้านหัวลำภู หมู่ที่ 4 ต.หัวไทร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช หนึ่งในนับพันชุมชนของนครศรีธรรมราช ที่มีประวัติศาสตร์เป็นมายาวนานกว่า 300 ปี เป็นชุมชนดั้งเดิมขนาดใหญ่ มีการดำรงชีวิต ค่านิยมในการครองชีพปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่นเดียวกับเกือบทุกชุมชนในประเทศไทยที่อยู่ในวิถีชีวิตแบบทุนนิยม และแน่นอนว่า ปัญหาได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตามมาเยือนแต่ละครอบครัวของชุมชนไม่เว้นหลังคาเรือนใด มากน้อยแตกต่างกันไป


ชุมชนแห่งนี้จึงได้ริเริ่มรวมตัวกันจัดการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนชุมชนเพื่อจัดการกับปัญหา โดยแบ่งออกเป็นมิติของปัญหาที่สำคัญคือ มิติด้านสุขภาพ ด้านจิตใจ และด้านสังคม ได้ถูกกำหนดออกมาเป็นยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาตามลำดับ จนนำไปสู่ทางออกของปัญหาคือ “สังคมดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องช่วยกันสร้าง” ทุกครอบครัวจึงช่วยกันริเริ่มแก้ปัญหาด้านสุขภาพด้วยการเริ่มจากการบริโภคอาหารที่ปลอดจากสารพิษ ถูกสุขลักษณะ แก้ปัญหาจิตใจด้วยการละเลิกอบายมุขส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามประถิ่น และด้านสังคมด้วยการสร้างศูนย์เรียนรู้ รวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างความเข้มแข็ง เชื่อมโยงทั้งชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนกลายเป็นชุมชนชนต้นแบบ ด้วยวิธีคิดที่ว่า “มีอยู่ มีกิน มีใช้” โดยไม่เป็นหนี้ เป็นสิน และด้วยวิธีคิดแบบนี้ทำให้ลูกหลานของครอบครัวในชุมชนแห่งนี้หลายคนกลับบ้านมาเพื่อดำรงชีวิตด้วยวิถีที่พอเพียง และมีความสุขที่ล้นเหลือ โดยยอมทิ้งเงินเดือนหลายหมื่นบาทต่อเดือน มาทำงานของครอบครัวที่บ้านด้วยวิถีชีวิตที่เป็นสุข

นายวันเฉลิม คงเล่ห์ อายุ 28 ปี หนึ่งในลูกหลานของครอบครัวในชุมชนนี้ เมื่อกว่า 1 ปีก่อน เคยเป็นพนักงานบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรชื่อดัง ซึ่งมีเงินเดือนสูงถึงเกือบ 50,000 บาทต่อเดือน ได้ตัดสินใจทิ้งเงินเดือน และลาออกมาใช้ชีวิตที่บ้านท่ามกลางครอบครัวที่อบอุ่น และเริ่มใช้วิถีชีวิตแบบพอเพียงบนเนื้อที่เพียง 4 ไร่เศษ สามารถร้างสร้างรายได้ให้กว่า 800 บาทต่อวัน

“ผมคิดว่าสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นของเราเองคือ สิ่งที่มีคุณค่า เมื่อดึงเอามาใช้ย่อมที่จะได้ประโยชน์สูงสุด ยิ่งได้เอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ความคิด วางแผน และจัดการตามขั้นตอน มีปัญหาก็เอามาเป็นโจทย์ในการปรับปรุงแก้ไข”เป็นวิธีคิดที่วันเฉลิมได้นำมาจัดการพื้นที่ดินของเขาเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ส่วนหนึ่งนอกจากเขตบ้านแล้ว ได้ถูกแบ่งสร้างเล้าเลี้ยงหมู ทำบ่อปลา ทำบ่อกบ และธนาคารกุ้งนา ทำแปลงปลูกผัก ทุกอย่างหมุนเวียนสามารถนำมาบริโภคในครัวเรือนได้อย่างสบาย และยังนำไปขายได้ทุกวัน วันนี้ ชีวิตของคนที่มีมีลักษณะเช่นเดียวกันกับผมคือ มีอยู่ มีกิน มีใช้ ไม่มีหนี้ไม่ต้องไปห่วงเศรษฐกิจที่มันขึ้นๆ ลงๆ วันเฉลิมอธิบาย

เช่นเดียวกับ บุญธรรม สังผอม ในวัย 50 ปี บอกว่า ชีวิตของเขาต้องระเหเร่ร่อนไปนอกภูมิลำเนาหาเช้ากินค่ำ ถึงขั้นไม่มีกิน ต้องตระเวนขอข้าวเขากิน วันหนึ่งตัดสินใจกลับมาบ้านจัดการที่ดินของบรรพบุรุษ โดยเริ่มจากการขุดบ่อ ยกแปลงแล้วไปรับจ้างด้านนอกมาซื้อพันธุ์ปลา พันธุ์หมู ปลูกผัก เลี้ยงกบ เพาะเห็ด ปลูกข้าว จนมีผลผลิตออกมากินเองได้อย่างปลอดภัยไร้สารพิษ ที่เหลือส่งขายสร้างรายได้ให้ทุกวันจนมีเงินเหลือเก็บ

นายวีรพงศ์ เกรียงสินยศ
นายวีรพงศ์ เกรียงสินยศ กรรมการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. บอกว่าชุมชนแห่งนี้ได้เริ่มจากการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ แต่ได้ลึกซึ้งไปกว่านั้นคือ การรวมกลุ่มกันทำให้เกิดการทำงานร่วมกันจากสุขภาพ และพัฒนาไปสู่การเกษตร และการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข

อันนี้เป็นวิธีสำคัญที่ทำให้คนละเลิกเหล้าบุหรี่ได้ ด้วยความพร้อมของชุมชน คนมีความสุข สสส.ได้เข้ามาสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มกัน ทำข้อมูล จัดการวางแผน และเมื่อทำขั้นตอนเหล่านี้จะเกิดการมีส่วนร่วมกัน ปัญหาทุกปัญหาจะถูกคลี่คลายเกิดการมีส่วนร่วม นำไปสู่เศรษฐกิจที่ดีตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ควบคุมรายจ่ายที่จำเป็น มีอาหารปลอดสารพิษมีสุขภาพทำให้ชุมชนน่าอยู่ได้ ชุมชนแห่งนี้เป็นต้นแบบของชุมชนรอบข้าง เริ่มเข้ามามีส่วนร่วม และนำไปเป็นแบบอย่าง พื้นที่ข้างเคียงหากมีความพร้อมเราสามารถเข้าไปหนุนได้ และแนวคิดชุมชนน่าอยู่พร้อมที่จะนำไปสู่การขยายผล

“แนวคิดในการพึ่งพาตนเองแบบนี้ผมเชื่อว่าจะเป็นหนทางรอดในยุคปัจจุบัน คิดเล่นๆ ดูว่า หากทุนขนาดใหญ่ล้มลงมาเมื่อไหร่ วิถีเช่นนี้จะเป็นทางรอดของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง” วีรพงศ์กล่าวทิ้งท้าย




กำลังโหลดความคิดเห็น