การท่องเที่ยวชุมชน ที่ให้ชาวชุมชนมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของชุมชนเอง ถือเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยพันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า “การให้ความสำคัญกับชุมชนมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะชุมชนคือเจ้าของพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว”
ชุมชนบ้านไร่กองขิง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในชุมชนที่ อพท. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาชุมชนของตนเองควบคู่กับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งชุมชนนี้เน้นการพึ่งพาตนเองโดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ โดยชาวชุมชนต่างร่วมแรงร่วมใจกัน ช่วยกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นางสุพรรณ อินทะชัย ประธานกลุ่มออมทรัพย์พัฒนาบ้านไร่กองขิง กล่าวว่า ด้วยความห่วงสุขภาพของคนในชุมชน จึงเกิดความตระหนัก ในเรื่องนี้ จึงได้คิดโครงการ “เกษตรยามว่างอาหารปลอดภัย ปลูกผักปลอดสารพิษ” ในปีพ.ศ. 2552 เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของคนในชุมชนจากปัญหาสารพิษตกค้างในร่างกาย เน้นการพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและพึ่งพาตนเองได้
นางสุพรรณ กล่าวต่อว่า ชุมชนจึงได้ จัดตั้งพื้นที่ปลูกผัก ผลไม้ปลอดสารพิษ และนำมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และยังได้จัดตั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้นักท่องเที่ยวได้มาศึกษาดูงาน และยังมีการปลูกพืชผลทางการเกษตรเพื่อส่งจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์ให้แก่ทางสวนสัตว์เป็นการสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กันและกันระหว่างแหล่งชุมชนกับสถานที่ท่องเที่ยว แสดงให้เห็นถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ควบคู่ชุมชนเเละได้เป้นชุมชนต้นเเบบ
นอกจากนี้บ้านไร่กองขิงยังมีการนำภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพและเยียวยาการเจ็บป่วยของคนในชุมชน โดยเฉพาะวิธีการย่ำขาง
"ย่ำข่าง"เป็นวิธีการรักษาอาการเจ็บปวดทางร่างกาย เป็นภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพของชาวล้านนา วิธีการรักษา จะใช้เท้าชุบน้ำยา คือ สมุนไพรปูเลย หรือที่ภาคกลางเรียกว่า ไพล นำมาบดแล้วผสมกับน้ำในสัดส่วนที่เหมาะสม และน้ำมันงา แล้วย่ำบนขางที่เผาไฟร้อนจนเป็นสีแดง จากนั้นจึงย่ำบนร่างกายของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด กดด้วยความร้อน การย่ำข่างนอกจากจะช่วยฟื้นฟูสุขภาพของคนในชุมชนให้แข็งแรงแล้ว ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนอีกด้วย