บ้านโงกน้ำ ต.นาขยาด อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นหมู่บ้านเล็กๆ และยังล้าหลังทั้งในด้านการศึกษา และการดำเนินชีวิต ชาวบ้านส่วนใหญ่มีรายได้น้อยจากการทำอาชีพสวนยาง ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และรับจ้าง แต่หลังจากที่ชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันทำ และยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการปลูกพืชหลากหลายชนิดในพื้นที่ทั้งไม้ผล ไม้ประดับ ผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์แล้ว
ชาวบ้านรู้จักนำวัตถุดิบที่เหลือใช้ในท้องถิ่นอย่างมูลสัตว์มาทำปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ในครัวเรือน เป็นการลดต้นทุนการผลิต จนเป็นที่ศึกษาดูงานของหน่วยงานภาครัฐเอกชนต่างๆ ในนามของปราชญ์ชาวบ้านในการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่แก่เกษตรกร สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่มีฐานการเรียนรู้ถึง 17 ฐาน อย่างเช่น การบริหารการจัดการ, กลุ่มออมทรัพย์, การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก, การทำปุ๋ยน้ำอีเอ็ม, ปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด, แก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์, การแปรรูปผลผลิตการเกษตร เป็นต้น
สำหรับการทำปลาดุกร้าจากปลาดุกเลี้ยงที่ชาวบ้านเลี้ยงครัวเรือนละ500-800 ตัวในบ่อพลาสติกข้างบ้านนั้น เมื่อเหลือจากการรับทานมาแปรรูปขายสร้างรายได้ และส่งไกลไปขายถึงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยแบรนด์ของความอร่อย หอมนิ่มน่ากิน ประกอบกับการบรรจุถุงไร้กลิ่นจนเป็นของฝากที่ประทับใจสำหรับผู้รับ
โดยนางเฉลา ด้วงเรือง ประธานกลุ่มผลิตปลาดุกร้าปราชญ์ชาวบ้านโงกน้ำ ต.นาขยาด อ.ควนขนุน จ.พัทลุงว่า กลุ่มชาวบ้านในหมู่บ้านได้ 174 ครัวเรือน ได้ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ และเลี้ยงปลาดุกไว้ข้างบ้านเพื่อไว้รับประทานเอง แต่เมื่อเลี้ยงกันทุกครอบครัว ทำให้มีปลาเป็นจำนวนมาก และพ่อค้าคนกลางก็เข้ามาชื้อกดราคา จึงทำให้ชาวบ้านได้รวมตัว และคิดที่จะทำปลาดุกร้าเพื่อเก็บไว้ขาย และเป็นการถนอมอาหารไว้กินนานๆ และนำไปขายจนเป็นที่ถูกใจของนักท่องเที่ยว และชาวบ้านทั่วไปที่มีรสชาติอร่อยและ ไร้สารเคมีเจือปน
สำหรับการทำปลาดุกร้านางเฉลาเล่าว่าเริ่มแรกมีส่วนผสมดังนี้
1.ปลาดุก 5 กิโลกรัม
2.น้ำตาลทราย 220 กรัม
3.เกลือ 220 กรัม
วิธีการทำ
นำปลาใส่กระสอบ และใส่เกลือเพื่อน็อกให้ปลาตาย แล้วตัดหัวควักเอาไส้ออกล้างให้สะอาดผึ่งให้สะเด็ดน้ำ ทิ้งไว้ 3 ชั่วโมง ผสมเกลือ และน้ำตาล ยัดเกลือที่ผสมแล้วในท้องปลา คลุกตัวปลาใส่โอ่งเคลือบทิ้งไว้ 2 คืน แล้วนำตากแดดประมาณ 3 วัน ก่อนนำมาห่อด้วยกระดาษซับน้ำน้ำมันปลาใส่ถังพลาสติกมีฝาเกลียว ปิดให้มิดชิดทิ้งไว้ 2 คืน แกะกระดาษออกตากแดดครั้งที่ 2 ประมาณ 2 วันปลาห่อกระดาษเหมือนเดิม เก็บไว้ในถังพลาสติก หมักไว้ 2 คืน ตากแดดอีก 5 ชั่วโมง เก็บไว้ในถัง 2 คืน แล้วนำมาแพกถุงสุญญากาศสามารถเก็บไว้ได้ 1 เดือน
นางเฉลายังกล่าวอีกว่า ถ้าหากเรานำตากแดดตามระยะเวลาจะทำให้มีกลิ่นหอมปลาสด ตัวแข็งดี และสามารถทำเป็นอาชีพเสริมสำหรับคนที่เลี้ยงปลาดุก และขายปลาสดในราคาไม่ดีได้ โดยปัจจุบัน ปลาดุกร้าของกลุ่มได้ส่งขายไปไกลถึงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ด้วยแบรนด์ของความออร่อย และสด
ทั้งนี้ เกษตรกร หรือประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้านบ้านโงกน้ำ หมู่ 8 ต.นาขยาด อ.ควนขนุน จ.พัทลุง โทรศัพท์ 0-7463-1616 หรือ 08-9297-0859