ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ศุลกากรภูเก็ตทำลายของกลางสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า ในรอบปีงบประมาณ 2555 หลังคดีสิ้นสุดแล้ว กว่า 10,000 ชิ้น มูลค่าของกลาง 29 ล้านบาท
เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (12 ธ.ค.) ที่ด่านศุลกากรภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร พร้อมด้วย นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมเป็นประธานในพิธีทำลายของกลางสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า หลังจากคดีได้สิ้นสุดแล้ว ซึ่งมีทั้งเสื้อผ้า กระเป๋าเดินทาง และกระเป๋าสะพาย โทรศัพท์มือถือ รองเท้ากีฬา แว่นตากันแดด และของกลางอื่นๆ อีกหลายรายการ รวมจำนวน 9,762 ชิ้น ที่ทางด่านศุลกากรภูเก็ต สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 และหน่วยสืบสวนปราบปรามภูเก็ต สามารถจับกุมสินค้าละเมิดดังกล่าวได้ในรอบปีงบประมาณ 2555 จำนวน 44 คดี มูลค่าความเสียหายประมาณ 29 ล้านบาท
โดยการทุบทำลายของกลางในครั้งนี้ ได้ใช้วิธีด้วยการทุบ บด ทำให้แตกหัก และใช้มีดตัดกรีดให้ฉีกขาด ก่อนนำไปเผาไฟที่เตาเผาขยะเทศบาลนครภูเก็ตต่อไป ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากร่วมเป็นสักขีพยาน และร่วมทำลายของกลางสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้าดังกล่าว
นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า จากนโยบายของทางกรมศุลกากรที่เราจะปกป้องสังคม ก็ได้สั่งการให้หน่วยงานของกรมศุลกากรที่ประจำการอยู่ในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคทั่วประเทศเร่งรัดปราบปรามสินค้าที่ลักลอบ หลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อกำกัด สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และปกป้องสังคม รวมทั้งปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า ซึ่งในรอบปีงบประมาณ 2555 เฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เราสามารถจับกุมสินค้าประเภทละเมิดลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า จำนวน 44 คดี มูลค่าความเสียหาย 28,938,665 บาท และคดีได้สิ้นสุดแล้ว
และการจัดให้มีพิธีทำลายของกลางหลังจากคดีได้สิ้นสุดแล้วนั้น เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้เจ้าของสิทธิทราบถึงนโยบายของกรมศุลกากร ที่เร่งรัดปราบปรามอย่างเข้มงวด และแสดงให้เห็นถึงการคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของการค้าที่สุจริต อันจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ ของประเทศไทย ต่อสังคมการค้าโลก ซึ่งนอกเหนือจากภูเก็ตที่เป็นพื้นที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว ยังมีที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ทั้งพัทยา เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่มีสินค้าจำหน่ายมากขึ้น แต่ว่าเป้าหมายในการเร่งรัดปราบปรามก็จะมีทุกจุด
นางเบญจา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กระทำผิดฐานลักลอบนำสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้าเข้ามาในราชอาณาจักร จะถูกดำเนินคดี ตามมาตรา 27, 27 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ประกอบมาตรา 16, 17 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2428 ซึ่งมีโทษปรับเป็นเงิน 4 เท่าราคาของรวมค่าอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และมาตรา 27, 28, 29 ประกอบมาตรา 31(4) แห่ง พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และมาตรา 108, 109 ประกอบมาตรา 110 แห่ง พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกรมศุลกากร และตามความตกลง TRIPs (Agreement on Trade-Related Aspect of Intellctual Property Rights) ที่ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก