ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ปัญหาในช่อง 11 หาดใหญ่ยังจบยาก “ภาวิณี ศศานนท์” ติดต่อขอแจงข้อเท็จจริง แต่กลับให้ทีมข่าวเข้าไปนั่งฟังการประชุมประจำเดือนอันเป็นการภายในของหน่วยงานแทน แถมใช้เป็นเครื่องมือปราม และขอปิดข่าว เผยมีการท้าให้ผู้ใหญ่ลงมาสอบเรื่องทุจริตน้ำมันชนวนสั่งย้าย 4 ฝ่ายข่าว เพราะจะได้มีโอกาสเปิดเรื่องราวทุจริตอื่นๆ ตามมา เพื่อพิสูจน์ว่า “ผอ.สทท.สงขลา” มีพฤติกรรมตามข้อร้องเรียนจนนำไปสู่การเสนอย้ายหรือไม่
กรณีสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา (สทท.สงขลา) หรือช่อง 11 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีปัญหาภายในองค์กร เกิดการร้องเรียนว่า ผู้บริหารขาดธรรมาภิบาล ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่บุคลากร ทั้งยังส่อว่าจะใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางมิชอบ นอกจากนี้ นโยบายการบริหารงานบางอย่างยังส่งผลกระทบต่อภายนอก โดยเฉพาะการเรียกเก็บค่าเช่าเวลาแบบไม่ไว้หน้า ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือประชาชน จนผู้บังคับบัญชามีการทำเรื่องเสนออธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ให้ย้าย น.ส.ภาวิณี ศศานนท์ พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการ สทท.สงขลา ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงตามที่เป็นข่าวไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า ภายหลังตกเป็นข่าว น.ส.ภาวิณีได้ติดต่อ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ครั้งแรกนัดหมายจะให้คำชี้แจงในช่วงเวลา 14.00 น. ของวันศุกร์ที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงเช้าติดประชุมภายในองค์กรประจำเดือน แต่ภายหลังได้ขอเลื่อนเวลาขึ้นมาเป็น 10.00 น.วันเดียวกัน โดยเมื่อทีมข่าวไปถึงตามวันเวลานัดหมาย ปรากฏว่า ไม่ใช่เป็นการให้สัมภาษณ์เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และเปิดโอกาสให้มีการสอบถามแต่อย่างใด แต่กลับให้ผู้สื่อข่าวเข้าร่วมฟังคำชี้แจงของ น.ส.ภาวิณีต่อที่ประชุมบุคลากรภายในของ สทท.สงขลานั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว ในฐานะนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม ช่วงหนึ่ง น.ส.ภาวิณีได้ประกาศต่อที่ประชุมว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในองค์กรของ สทท.สงขลา ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนด้วยกัน อยากให้ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” หยุดรายงานในเรื่องนี้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ แหล่งข่าวใน สทท.สงขลา เปิดเผยว่า การกระทำในลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติของผู้บริหารอยู่แล้ว วันนั้น ในที่ประชุมส่วนใหญ่เข้าใจได้ทันทีว่าต้องการใช้ทีมข่าว “ASTVผู้จัดการภาคใต้” เป็นเครื่องมือทั้งในส่วนของที่ต้องการปรามบุคลkกรภายในองค์กร สทท.สงขลาเอง และชี้เห็นว่าตนพร้อมที่จะชี้แจงต่อหน้าสื่ออื่น อีกทั้งเพื่อแสดงให้เห็นว่า เรื่องนี้น่าจะขอกันได้ โดยอาจจะลืมไปว่า สทท.สงขลาแม้จะเป็นสื่อ แต่ก็ไม่ใช่เอกชน เพราะเป็นหน่วยราชการที่สังคมต้องตรวจสอบได้ และปัญหาก็ถึงกระทบภายนอกด้วย
นอกจากนี้ ภายหลัง ผอ.สทท.สงขลาตกเป็นข่าว มีคนที่ใกล้ชิดได้ยกกรณีมีการสอบสวนทุจริตค่าน้ำมัน และสั่งย้ายบุคลากรในฝ่ายข่าว 4 คนมาเพื่อการปราม แหล่งข่าวให้รายละเอียดในเรื่องนี้ว่า ในฝ่ายข่าวมีบุคลากร 16 คน ถูกสอบในเรื่องนี้ถึง 12 คน แล้วกลับมีการย้ายเพียง 4 คน ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการหาเรื่องเพื่อนำไปสู่การย้ายคนที่ใกล้ชิดมาคุม โดยผู้ที่ถูกสอบทั้งหมดต้องการให้กรมตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนโดยเร็ว เพราะทุกคนมีเหตุผลสามารถชี้แจงได้ เพื่อจะได้เกิดการอธิบายเรื่องราวทั้งหมดให้ผู้ใหญ่ทราบ
“เชื่อไหมว่าอีกไม่นานเรื่องราวอื่นๆ จะถูกเปิดออกมาด้วย ไม่ว่ากรณีการฮั้วประมูลปรับปรุงหลังถูกน้ำท่วม แล้วนำมาสู่การโอนเงินเข้าบัญชีคนขับรถ กรณีติดแอร์ใหม่ 2 ตัวที่บ้านพัก หรือกรณีซ่อมรั้วบ้านพัก ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าเรื่องยังไม่จบคิดว่าวันหนึ่งต้องมีกรณีที่คนบางคนชอบเอาใจนาย ประจบประแจงหวังผลบางอย่าง ซื้อของให้ที่ก็ในราคาที่เกินกว่าระเบียบกำหนด 3,000 บาท อย่างล่าสุด มีการยืนยันว่า ซื้อกระเป๋าใบละเป็นหมื่นก็มี”
จากการตรวจสอบข้อทีมข่าวยังพบด้วยว่า ปัจจุบันใน สทท.สงขลา มีบุคลากรที่เป็นทั้งข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างรวมแล้วกว่า 50 คน ในจำนวนมีเกิน 90% ที่ได้รับผลกระทบ หรือไม่พอใจการบริหารงานของ น.ส.ภาวิณี ตลอดกว่า 2 ปีที่นั่งอยู่ในตำแหน่ง และผลของการบริหารงานดังกล่าวไม่ใช่กระทบเพียงภายในหน่วยงานเท่านั้น แต่เวลานี้ได้บานปลายขยายวงสู่องค์กร และบุคคลภายนอกแล้วด้วย โดยเฉพาะในฝ่ายข่าว และฝ่ายรายการที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับข้างนอกตลอดเวลา
อีกทั้งยังพบด้วยว่า ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างคือ ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ต่างก็รู้สึกเหมือนๆ กันว่า เวลานี้ช่อง 11 หาดใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมหรือเรื่องราวที่เป็นสาธารณประโยชน์เท่าที่ควร ทั้งๆ ที่หลายครั้งเป็นงานของจังหวัด หรืองานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลก็ตาม ทั้งนี้ ก็เนื่องจากนโยบายเรียกเก็บค่าเช่าเวลาแบบเข้มข้นนั่นเอง
“เชื่อไหมว่าแม้ในแต่ละจังหวัดจะมีคนของกรมประชาสัมพันธ์ไปประจำคอยประสานให้อยู่ โดยเฉพาะตำแหน่งประชาสัมพันธ์จังหวัด แต่ปรากฏว่า มีการประสานไปยังช่อง 11 หาดใหญ่เพื่อขอให้รายการพิราบคาบข่าวช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมของจังหวัด ขนาดผู้ว่าฯ จะไปออกรายการเองก็ยังถูกเรียกเงิน เคยได้ยินประชาสัมพันธ์จังหวัดหลายคนบ่นแบบเดียวกันว่า ขอความร่วมมือไปยังช่องอื่นๆ ยังง่ายกว่าเยอะ” แหล่งข่าวผู้คร่ำหวอดงานประชาสัมพันธ์ในใต้ล่างให้ความเห็นก่อนเสริมว่า
“ที่น่าขำที่สุดคือ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นที่ยอมรับระดับประเทศ มีการเชิญเขาไปออกรายการ หรือสัมภาษณ์เพื่อทำข่าว ปรากฏว่า ผอ.ทราบเรื่องสั่งให้มีการเรียกเก็บค่าเช่าเวลา แล้วแบบนี้เขาจะไปเอาเงินที่ไหนมาให้เป็นหมื่นๆ ต่อครั้ง เพราะแม้จะเป็นปราชญ์ที่มีความคิดเห็นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน แต่ก็คือชาวบ้านธรรมดาๆ นี่แหละ บางครั้งไปอ้างไม่ได้ว่าใครอยากมาประชาสัมพันธ์อะไรจะต้องมีโครงการ และมีงบประมาณรองรับทุกเรื่องไป” แหล่งข่าวกล่าว