ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เกิดเรื่องวุ่นๆ ใน “สทท.สงขลา” อันเป็นผลจากการบริหารงานของ “ภาวิณี ศศานนท์” จนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของทีวีช่อง 11 และกรมประชาสัมพันธ์ เผยมีกฎเหล็กเรียกเก็บเงินขั้นต่ำนับหมื่นบาทต่อครั้งจากผู้ร่วมรายการ “พิราบคาบข่าว” ทำเอาเรตติ้งวูบ ชี้วงการธุรกิจ รัฐ เอกชน และภาคประชาชนต่างส่ายหน้าให้เป็นทิวแถว ถึงขั้นผู้ว่าฯ 7 จังหวัดใต้ล่างก็เจอด้วยตัวเอง ด้าน ผอ.สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 ต้องตัดใจชงเรื่องให้อธิบดีย้ายแล้ว
แหล่งข่าวในกรมประชาสัมพันธ์เปิดเผย “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ว่า ตนทราบมาว่า เมื่อไม่กี่วันมานี้มีเอกสารถูกส่งจากผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 เสนออธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ให้ย้าย น.ส.ภาวิณี ศศานนท์ พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา (สทท.สงขลา) เนื่องจากมีการบริหารงานที่หย่อนประสิทธิภาพ ขาดธรรมาภิบาล ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่บุคลากร อีกทั้งยังส่อว่าจะใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางมิชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรอย่างหนัก
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบไปยัง สทท.สงขลา หรือช่อง 11 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้รับการยืนยันกลับมาว่า การบริหารงานของ ผอ.สทท.สงขลาคนปัจจุบันทำให้มีปัญหาภายในเกิดขึ้นจริง มีการเลือกปฏิบัติ เล่นพรรคเล่นพวก จนกระทบถึงประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรโดยรวม ไม่เพียงเท่านั้น หลายกรณียังส่งผลกระทบไปยังบุคคล และองค์กรภายนอกด้วย โดยเฉพาะกรณีเรียกเก็บค่าเช่าเวลาแบบไม่ไว้หน้า ไม่เฉพาะแขกของรายการที่ สทท.สงขลาจัดทำขึ้นเท่านั้น แม้แต่หน่วยงาน หรือองค์กรภาครัฐก็ไม่มียกเว้น และปัญหาดังกล่าวเคยมีการร้องเรียนเกิดขึ้นด้วย
สิ่งที่ยืนยันได้ดีกรณีการบริหารที่ทำให้เกิดปัญหาภายในคือ เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา น.ส.ภาวิณีได้มีคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวรวดเดียวถึง 4 คน ตั้งแต่ระดับบรรณาธิการข่าวภาคใต้ คือ นายเกชา โสภาวะนัส บรรณาธิการข่าวประจำวันคือ น.ส.ปิยาณี พินสุวรรณ และพนักงานขับรถยนต์ที่ทำหน้าที่ผู้ช่วยช่างภาพอีก 2 คนคือ นายเกียรติศักดิ์ ทองเพ็ง กับ นายบุรินทร์ พงษ์รัตน์ โดยให้ทั้งหมดไปปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายรายการ แล้วได้ย้ายบุคลากรจากฝ่ายอื่นมาทดแทนให้เพียงพนักงานขับรถยนต์ 2 คนที่ไม่มีความรู้ ความสามารถด้านการถ่ายภาพวิดีโอข่าว จึงไม่สามารถช่วยงานข่าวได้เต็มที่
ส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนในฝ่ายข่าวอย่างหนัก ถึงขั้นที่ในเวลาต่อมา นายเกชาต้องของย้ายตัวเองพ้นไปจาก สทท.สงขลา เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานอื่น แต่ยังคงสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ ส่วนคนที่เหลือในฝ่ายข่าวต่างต้องรับผิดชอบงานในลักษณะแบกภาระเกินตัวไปตามๆ กัน เพราะนอกจากฝ่ายข่าวจะทำหน้าที่ผลิตข่าว และสกู๊ปตามโครงการที่ได้รับมอบหมายแล้ว ยังต้องรับผิดชอบผลิตรายการข่าวที่ออกอากาศแบบสดๆ ในทุกวันแบบไม่มีวันหยุดอีกด้วย นี่ยังไม่นับเรื่องต้องรองรับการล้วงลูกของผู้บริหารที่ต้องการเอื้อประโยชน์ด้านข่าวให้แก่พวกพ้อง รวมถึงสั่งแก้ไข หรือระงับข่าวที่ไม่ถูกใจ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
ไม่เพียงเท่านั้น การบริหารงานของ น.ส.ภาวิณียังมีนโยบายแปลกๆ ที่ให้บุคลากรเน้นปฏิบัติงานสนับสนุนมากกว่างานหลักของหน่วยงาน ซึ่งหน่วยงานรัฐอื่นๆ เขาไม่ทำกัน เช่น มีคำสั่งให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของ สทท.สงขลาต้องสลับกันเข้าเวรยามประจำตู้รับโทรศัพท์ที่สร้างขึ้นใหม่ที่ปากทางเข้า-ออก โดยทำงานคู่กับยามเฝ้าประตู ผู้ชายที่มีตำแหน่งระดับชำนาญการ และผู้หญิงให้ประจำตู้ระหว่าง 08.30-16.30 น. ส่วนผู้ชายที่ต่ำกว่าระดับชำนาญการให้เข้าประจำตู้ 16.30-20.00 น. ก่อนขึ้นไปนอนเวร รปภ.ต่อได้ ใครที่เข้าเวรเฝ้าตู้ยามให้ละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นงานผลิตข่าว หรือผลิตรายการ และจะมีการโทร.เช็กตลอดบ่อยๆ เพื่อเอาผิดพวกหนีเวร
สำหรับกรณีที่กระทบไปถึงภายนอก เวลานี้มีเรื่องที่กล่าวขานกันหนาหูใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี ยันนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สทท.สงขลา คือ น.ส.ภาวิณีได้ใช้กฎเหล็กในการเรียกเก็บค่าเช่าเวลาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากบุคคล หรือองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะรายการพิราบคาบข่าวที่ถือเป็นไฮไลต์ของ สทท.สงขลา ออกอากาศ 08.00-09.00 น. ใครจะไปออกรายการ หรือองค์กรไหนต้องการเผยแพร่กิจกรรมต้องเสียค่าเช่าเวลาครั้งละ 12,305 บาท/30 นาทีเป็นอย่างน้อย โดยไม่มีข้อยกเว้นว่าเป็นเรื่องส่วนรวม ปรากฏว่า เวลานี้ทั้งวงการธุรกิจ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรภาคเอกชน และภาคประชาชนต่างส่ายหน้าให้เป็นทิวแถว ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้ว่าฯ ก็ถึงกับสะอึกด้วยตัวเองมาแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่แสดงถึงผลงานของ น.ส.ภาวิณีชัดเจนมากอีกประการคือ ภายหลังนั่งบริหาร สทท.สงขลา มาเกือบ 3 ปี ปรากฏว่า เรตติ้งของผู้ชมรายการของ สทท.สงขลา ลดฮวบอย่างน่าตกใจ โดยยืนยันได้จากผู้ประเมินอิสระที่มี รศ.ไพบูลย์ คะเชนทรพรรค์ จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นหัวหน้าทำการสำรวจความนิยมของประชาชนใน 7 จังหวัดใต้ล่าง ที่มีต่อรายการพิราบคาบข่าวที่เคยฮิตที่สุด ปรากฏว่า ในปี 2554 ผลการประเมินเคยอยู่ที่ 73.18% พอมาปี 2555 นี้ลดลงเหลือแค่ 60.33% ซึ่งถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายเรียกเก็บเงินทำให้ผู้คนจำนวนมากหันหลังให้ และเวลานี้ถือว่ารายการพิราบคาบข่าวขาดสีสันไปมาก