ศูนย์ข่าวขอนแก่น - คดีเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าว สวท.กาฬสินธุ์ยื่นฟ้อง 2 ผู้บริหารกรมกร๊วก ศาลปกครองขอนแก่น พิพากษาแล้ว โดยสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการระดับ 8 จำนวน 15 ราย ระบุออกคำสั่งกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และให้ผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบกลับสู่ตำแหน่งในระดับ 7 เดิม ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษา 15 พ.ย.55
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา นายประสาท พงษ์สุวรรณ์ อธิบดีศาลปกครองขอนแก่น ตุลาการเจ้าของสำนวน ได้ขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดีพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ ที่ 885/2551 เรื่องเลื่อนข้าราชการ จำนวน 15 ราย ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2551 โดยมีนายเผชิญ ขำโพธิ์ อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในสมัยนั้นเป็นผู้ลงนามออกคำสั่ง โดยให้มีผลเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุดเป็นต้นไป
คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากนายปฤศณา ธนะสินไพบูลย์ ตำแหน่งผู้สื่อข่าว ระดับ 7 ในขณะนั้น สังกัดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) จ.กาฬสินธุ์ ได้ยื่นฟ้องนายเผชิญ ขำโพธิ์ อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ (เกษียณอายุราชการ เมื่อ 30 ก.ย.2552) และนายธีระพงศ์ โสดาศรี อดีตผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 ขอนแก่น (ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์) ต่อศาลปกครองขอนแก่น เนื่องจากเห็นว่าบุคคลทั้งสองพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตามคำสั่งที่ 885/2552 เลื่อนข้าราชการ จำนวน 15 ราย ไม่โปร่งใส โดยไม่เปิดโอกาสให้ข้าราชการในกรมประชาสัมพันธ์ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนได้มีโอกาสเข้าแข่งขัน และรับการประเมินอย่างเป็นธรรม
ซึ่งผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเลี่อนตำแหน่งล้วนแต่เป็นบุคคลใกล้ชิดผู้บริหารทั้งสองคน เป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมในราชการเป็นที่ตั้ง หลายคนมีลำดับอาวุโสที่ 100-200 ขึ้นไป ผู้ฟ้องคดีได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผ่านผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 ขอนแก่น ในฐานะผู้บังคับบัญชาชั้นต้นตามขั้นตอนขอให้ทบทวนคำสั่งดังกล่าว แต่กรมประชาสัมพันธ์ได้ปฏิเสธโดย อ้างว่าได้ดำเนินการหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดทุกประการแล้ว
ผู้ฟ้องคดีจึงได้ร้องทุกข์คำสั่งดังกล่าวไปยังปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผลการพิจารณามีคำตอบว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ผู้ฟ้องคดีทราบ และรายงานผลการดำเนินการ ซึ่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ก็ได้ชี้แจงให้ผู้ฟ้องคดีทราบ แต่ยังไม่เป็นที่พอใจของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ทบทวน หรือยกเลิกคำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ ที่ 885/2551 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2551 ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากกรมประชาสัมพันธ์ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ ก.พ. กำหนดทุกประการ และการรับสมัครเพื่อคัดเลือกก็ได้ขยายระยะเวลาถึง 2 ครั้ง ทั้งการพิจารณาของคณะกรรมการก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ โปร่งใส และเป็นธรรม ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแล้ว
ต่อมา เมื่อวันที่ 23 มี.ค.52 ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอนแก่น โดยเห็นว่าการดำเนินการของกรมประชาสัมพันธ์ ไม่โปร่งใส หมกเม็ด และฉวยโอกาส โดยอ้างว่า ยิ่งพิจารณาในภาพรวมยิ่งต้องโปร่งใส จะต้องมีการประกาศแจ้งเวียนให้ข้าราชการในสังกัดได้ทราบ ให้เหมือนประเพณีปฏิบัติที่เคยกระทำกันมาเพื่อให้ข้าราชการที่มีสิทธิได้แสดงความจำนงว่าจะสมัครหรือไม่ก็ได้ และยังเป็นการคัดกรองผู้สมัครได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย
นายปฤศณา ธนะสินไพบูลย์ ผู้ฟ้องคดีกล่าวว่า การที่กรมประชาสัมพันธ์อ้างว่าต้องดำเนินการแต่งตั้งภายใต้ข้อจำกัดของเวลาที่ ก.พ. กำหนดปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบการกำหนดตำแหน่งใหม่ ภายในวันที่ 24 ต.ค.51 ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มีผลบังคับตั้งแต่ 11 ธ.ค.51 ก็ไม่สมเหตุผลเพราะการที่ ก.พ. ระบุเงื่อนไขเวลาเอาไว้เป็นการกำหนดให้แก่ทุกส่วนราชการในภาพรวม และหากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในเวลากำหนด 24 ต.ค.51 ก็สามารถแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนไปพลางก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรีบเร่งแต่งตั้ง
ทั้งนี้ นายปฤศณาเห็นว่า กรมประชาสัมพันธ์มีเจตนาช่วยเหลือพวกพ้องก่อนที่ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 จะมีผลบังคับใช้ และเป็นการทิ้งทวนเนื่องจากอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2552 จึงได้นำเรื่องขึ้นสู่ศาลปกครองขอนแก่น โดยศาลวินิจฉัยเห็นว่า ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก และประเมินบุคคลเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับ 8 ทั้ง 3 ครั้ง ของกรมประชาสัมพันธ์ ที่ประชุมได้กำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนข้าราชการขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับ 8
โดยจะต้องพิจารณาความรู้ ความสามารถ ความประพฤติ ประวัติการรับราชการ ซึ่ง ก.พ. กำหนดให้หน่วยงานพิจารณาโดยใช้เกณฑ์วัด อาจให้เป็นคะแนน หรือระดับก็ได้
แต่จากข้อเท็จจริงในสำนวนคดีไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการได้นำข้อมูลของผู้สมัครแต่ละรายมาพิจารณาประเมินให้คะแนน หรือระดับ แล้วนำมาเปรียบเทียบผลการประเมินระหว่างผู้สมัครแต่ละรายเพื่อพิจารณาให้คะแนนผู้สมัครแต่ละคนแล้วนำคะแนนมาเรียงลำดับจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด แล้วค่อยนำเสนอผู้มีอำนาจสั่งบรรจุเป็นผู้พิจารณา
ข้อเท็จจริงปรากฏแต่เพียงว่า คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกผู้สมัคร จำนวน 17 คน โดยได้ระบุเหตุผลในการคัดเลือกผู้สมัครแต่ละรายว่า มีคุณสมบัติอย่างไรไว้ในบัญชีแนบท้ายการประชุม จากเหตุผลดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าคณะกรรมการมิได้ทำการประเมินผู้สมัครทุกรายเปรียบเทียบกันตามเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนด
แต่คณะกรรมการได้คัดเลือกบางรายที่เห็นว่าควรจะได้รับการแต่งตั้งแล้วให้เหตุผลประกอบในการคัดเลือก ดังนั้น กระบวนการคัดเลือกของคณะกรรมการฯ จึงเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบดังกล่าว
กล่าวโดยสรุป เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าขั้นตอนในการแจ้งการขอขยายระยะเวลาการใช้ข้อมูลผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเลื่อนตำแหน่งตามหนังสือด่วนมาก ที่ นร 0203.04/2440 ลงวันที่ 24 กันยายน 2551 กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระบวนการในการพิจารณา และประเมินบุคคลเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับ 8 มิได้กระทำไปตามขั้นตอนที่ชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบ
จึงทำให้คำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ ที่ 885/2551 เรื่องเลื่อนข้าราชการ ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2551 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้กระทำตามขั้นตอน และวิธีการที่กฎหมายกำหนด จึงพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ดังกล่าว โดยให้มีผลเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุดเป็นต้นไป
สำหรับคำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ที่ 885/2551 เรื่อง เลื่อนข้าราชการ ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2551 มีข้าราชการระดับ 7 ที่ได้รับการเลื่อนเป็นระดับ 8 และได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าว ปัจจุบัน บางคนเป็นประชาสัมพันธ์จังหวัด บางคนเป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประจำจังหวัด จำนวน 15 ราย
ได้แก่ 1.นายอิสรีย์ ศีลเตชะ (ถึงแก่กรรม) 2.นายเชาว์ วิสุทธิ์ธนากร (เกษียณอายุราชการเมื่อ 30 ก.ย.55) 3. นายพินิจ วงษ์โสภา 4.นายอนุสรณ์ กรานจรูญ 5.น.ส.เรณุมาศ สละชีพ 6.น.ส.กนกพร ณ พิกุล 7.นายบุญเลิศ บุญเขื่อง 8.นายพรพิทักษ์ แม้นศิริ 9.น.ส.พิจิตรา ทรงฤกษ์ 10.นายวีระพงษ์ ไวทยวงศ์สกุล 11.น.ส.นิตยา อรุณวงศ์ 12.น.ส.โสมอุษา บูรณะเหตุ 13.นายวุฒิไกร พุฒธรรม 14. นางทิพย์สุคนธ์ แสนจิตร และ 15.นายสืบพงศ์ นุตริยทัศน์
รายงานข่าวระบุว่า หลังจากศาลปกครองขอนแก่นพิพากษาสั่งให้เพิกถอนคำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ดังกล่าวตามที่นายปฤศณาได้ยื่นฟ้องขอความเป็นธรรมจากศาลปกครอง และใช้ความอดทนต่อสู้คดีนี้นานเกือบ 4 ปีแพร่กระจายออกไป ทำให้ข้าราชการในกรมประชาสัมพันธ์จำนวนไม่น้อยรู้สึกดีใจ เพราะผลจากคดีนี้จะเป็นบทเรียนให้ผู้บริหารของกรมประชาสัมพันธ์ระมัดระวังการใช้อำนาจพิจารณาความดีความชอบข้าราชการในกรมฯ มากขึ้นในอนาคต
เนื่องจากอดีตที่ผ่านมา สิ่งที่กรมประชาสัมพันธ์ถือปฏิบัติจนเป็นวัฒนธรรมองค์กรคือไม่สนใจคำว่าอาวุโส เลือกที่จะให้คุณให้โทษข้าราชการในสังกัดโดยพิจารณาจากความใกล้ชิด ความเป็นพวกพ้องเป็นเกณฑ์มากกว่า จนกลายเป็นช่องว่างให้ผู้มีอำนาจเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ญาติ และพวกพ้องเป็นหลัก