ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ AI สำนักงานใหญ่ในลอนดอน เรียกร้องสมาชิกกว่า 2 ล้านคนทั่วโลก ส่งจดหมายกดดันรัฐบาลไทยให้ดูแลครูในชายแดนใต้ก่อน 9 ม.ค.ปีหน้า หลังเกิดเหตุฆ่าผู้อำนวยการโรงเรียนในปัตตานี พร้อมทั้งขอให้ความยุติธรรมทั้งคนผิด และเหยื่อ และยังเรียกร้องให้กลุ่มก่อความไม่สงบหยุดใช้ความรุนแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International : AI) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก ที่มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ออกเรียกร้องเมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.) ให้สมาชิกที่มีอยู่ทั่วโลกกว่า 2 ล้านคน เขียนจดหมายถึงรัฐบาลไทยให้จัดระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีกว่าแก่ครู และนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และเรียกร้องให้กลุ่มก่อความไม่สงบยุติการใช้ความรุนแรง
ข้อเรียกร้องดังกล่าว ออกมาในรูปเอกสารเลขที่ UA: 340/12 Index: ASA 39/004/2012 Thailand ระบุให้สมาชิกเขียนจดหมาย ชื่อเรื่องว่า URGENT ACTION : ครูและนักเรียนตกเป็นเป้าหมายในประเทศไทย โดยเนื้อหาระบุว่า ชีวิตของครูและนักเรียนในโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ยังอยู่ในภาวะเสี่ยง
“ครูอย่างน้อย 4 คนถูกฆ่าสังหาร และอีก 2 คนได้รับบาดเจ็บจากการลอบสังหารโดยกลุ่มผู้ต้องสงสัยว่า เป็นผู้ก่อความไม่สงบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยรายล่าสุด เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี เมื่อวัน 22 พฤศจิกายน 2555”
เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ประท้วงโดยการหยุดการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐจัดระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีกว่า และเรียกร้องให้กลุ่มก่อความไม่สงบยุติการใช้ความรุนแรง ที่ทำให้โรงเรียนกว่า 300 แห่งในจังหวัดปัตตานีปิดการเรียนการสอน
แอมเนสตี้ฯ ระบุว่า ตั้งแต่เกิดเหตุไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โรงเรียนของรัฐและครูของรัฐตกเป็นเป้าหมายของการใช้ความรุนแรง จากการรายงานของสื่อพบว่า ครู และบุคลากรทางการศึกษาเสียชีวิตกว่า 150 คน และบาดเจ็บกว่า 140 คน อีกทั้งมีการเผาโรงเรียน และโยนระเบิดใส่โรงเรียนหลายครั้ง
แอมเนสตี้ฯ ขอให้สมาชิกทั่วโลกเขียนจดหมายเป็นภาษาไทย และอังกฤษ หรือภาษาที่ตัวเองใช้ส่งถึงรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนวันที่ 9 มกราคม 2555 โดยเขียนข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ดังนี้
1.ให้รัฐจัดให้มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองความปลอดภัยครูในจังหวัดชายแดนใต้โดยทันที 2.รัฐต้องทำให้แน่ใจว่า ผู้กระทำความผิดจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และเหยื่อรวมทั้งญาติจะได้รับความเป็นยุติธรรม รวมทั้งการเยียวยาที่เหมาะสม และ 3.แม้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะมีข้อท้าทายต่างๆ เนื่องจากมีการปะทะอยู่ตลอดเวลา แต่พวกเราก็มีหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองประชาชนจากการละเมิดสิทธิของกลุ่มก่อความไม่สงบ และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการปราบปรามการก่อความไม่สงบโดยคำนึงถึงพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
น.ส.ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย เปิดเผยว่า Urgent Action เป็นกิจกรรมรณรงค์ขององค์กรแอมเนสตี้ฯ ในการเรียกร้องเพื่อกดดัน หรือเร่งรัดต่อรัฐบาลไทย ให้ดำเนินการปกป้องพลเรือน เพื่อไม่ให้พลเรือนตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดย...ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้(DSJ)