เอเยนซี - ในขณะที่หลายต่อหลายเมืองบนแดนมังกรวางแผนลงทุนหลายแสนล้านหยวนในอุตสาหกรรมหลักเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายงานฯ ฉบับใหม่เอี่ยมขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนฯ ก็เผยว่า ตัวเลขการใช้จ่ายมหาศาลก็จริงอยู่ แต่รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นความสงบในสังคม พร้อมชี้การพัฒนาจะกระทบต่อความสงบสุขของสังคมอย่างแน่นอน
รายงานขององค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) เผย (11 ต.ค.) ให้เห็นการเพิ่มขึ้นของปัญหาการบังคับไล่ที่ชาวบ้านในจีน อันเป็นประเด็นร้อนแรง พร้อมกับได้วิเคราะห์เชื่อมโยงปัญหาดังกล่าวย้อนไปสู่ช่วงวิกฤติการเงินโลกที่ส่งผลรุนแรงทางสังคมจีนในช่วงปี 2551-2552
ปัญหาการบังคับไล่ที่เรื้อรังมานานและกลายเป็นปัญหาใหญ่ในจีน อันเนื่องมาจากรัฐบาลท้องถิ่นถูกบังคับทางอ้อมให้ต้องหาเงิน ซึ่งเงินส่วนใหญ่ที่หามาได้ก็มาจากการขายที่ดินให้ภาคเอกชนไปประกอบการ "โครงการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 ถูกกำหนดตั้งต้นไว้ที่เงินงบประมาณ 4 ล้านล้านหยวน รัฐบาลท้องถิ่นกู้เงินจากธนาคารของรัฐอย่างไม่ลืมหูลืมตา ครั้นเมื่อถึงเวลาจ่ายดอกเบี้ย รัฐบาลท้องถิ่นแก้ปัญหาด้วยการขายที่ดินมากกว่าแต่ก่อนอย่างมหาศาล ซึ่งก็ทำให้ท้องถิ่นต้องไล่ที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่แต่เดิม" องค์กรนิรโทษกรรมสากลไล่เรียงเหตุผลฯ
นอกจากนั้นรายงานฯ ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ไม่มีรายงานฉบับใดที่เชื่อถือได้ว่าจำนวนผู้ถูกบังคับไล่ที่ นับแต่ปี 2551 โอลิมปิกกรุงปักกิ่งเป็นต้นมา มีจำนวนกี่มากน้อย แต่ก็เชื่อถือได้ว่าการพัฒนาของจีนมีส่วนเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาการไล่ที่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา จีนแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวแต่กลับทำให้ปัญหายิ่งเลวร้าย เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นกู้เงินมหาศาลจากธนาคารรัฐ เพื่อกระตุ้นการลงทุนในโครงการยักษ์ใหญ่ และต้องพึ่งพิงรายได้จากการขายที่ดินเพื่อให้มีเงินพอจ่ายดอกเบี้ย
กระแสการปะท้วงจากประชาชนเห็นได้จากตัวอย่าง "บ้านตะปู" ในมหานครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นบ้านของประชาชนที่ไม่ยอมรื้อถอน หลังจากถูกทางการไล่ที่เพื่อนำผืนดินไปพัฒนาฯ คำว่าตะปู หมายถึงการตอกตรึงสิ่งก่อสร้างไว้ให้คงอยู่ ทำให้บ้านหลังดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ที่ยืนหยัดต่อสู่อำนาจการพัฒนาอันดำมืดของระบอบทุนนิยมโดยพรรคเดียวฯ หากบ้านหลังใดไม่ยอมรื้อถอน หรือรั้งรอการเจรจาต่อรอง สุดท้ายก็จะได้รับค่าตอบแทนรื้อถอนสูงมากกว่าใครเพื่อน
รายงานกว่า 16 หน้ากระดาษ ขององค์กรสิทธิมนุษยชนสากลฯ ยังเผยเรื่องราวเกี่ยวกับประชาชนผู้ถูกสังหาร ทุบตี กักบริเวณ และถูกขู่กรรโชก เนื่องจากไม่ยอมโยกย้ายออกจากบ้านของตนตามกระแสคลื่นการพัฒนา บางคนจุดไฟเผาตัวเป็นการประท้วง ซึ่งถือเป็นวิธีการที่สะเทือนอารมณ์ จากจำนวนผู้ถูกไล่ที่ 40 รายที่องค์กรได้ไปทำวิจัยฯ ในรายละเอียดนั้นพบว่า มีผู้ที่ต้องเสียชีวิตในท้ายที่สุดจากการประท้วงถึง 9 คน
รายงานฯ เน้นไปที่กรณีของนางหวัง ชุ่ยเหยียน วัย 70 ปี ในเมืองอู่ฮั่น ผู้ซึ่งถูกรถขุดดินฝังทั้งเป็นเมื่อยืนหยัดต่อต้านการไล่ที่ออกจากที่ที่เคยอยู่อาศัยมาแสนนาน นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ชายหลายร้อยคนเข้าโจมตีชาวนาและทำร้ายสตรีในหมู่บ้านลี่ฉัง มณฑลเจียงซู เพื่อบีบบังคับไล่ที่
เมื่อเดือนที่ผ่านมา เกิดกรณีสะเทือนขวัญและเป็นที่โกรธเกรี้ยวในบรรดาชาวเน็ต เมื่อชาวนาคนหนึ่งในมณฑลเหลียวหนิงนามหวัง ซูเจี๋ยเสียชีวิตหลังจากตำรวจยิงเข้าใส่ขณะที่เขากำลังประท้วงแผนการตัดถนนผ่านที่นาของเขา ตามโครงการของรัฐบาลท้องถิ่นเมืองผานจิ่น จากเนื้อข่าวของสื่อท้องถิ่นระบุว่า ตำรวจคนดังกล่าวเผยว่าเขาไม่ได้ตั้งใจเหนี่ยวไกปืนใส่นายหวัง หลังจากที่นัดแรกยิงขึ้นฟ้า ขณะที่สื่อรัฐบาลรายงานว่า เจ้าหน้าที่จำนวนแปดคนถูกสอบวินัยกรณีใช้อาวุธปืน แต่ก็ไม่ได้อธิบายรายละเอียด ขณะนี้สื่อมวลชนไม่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ในเมืองผานจิ่นคนใดเพื่อขอสัมภาษณ์ได้
เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ระดับสูงพยายามไกล่เกลี่ยปัญหาเหล่านี้ด้วยวิธีผู้ดี ดังเห็นได้จากเมื่อเดือนธ.ค. ปีที่ผ่านมา ผู้นำพรรคได้รับเสียงปรบมือยกย่องเกรียวกราวที่สามารถดับไฟโทสะของชาวบ้านในหมู่บ้านชาวประมงอูข่าน ทางใต้ของจีน ที่ลุกฮือไม่พอใจการกระทำของรัฐในปัญหาไล่ที่และคอร์รัปชั่น ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ยอมรับฟัง แถมยังลดแลกแจกแถม จัดให้มีการเลือกผู้นำหมู่บ้านด้วยการลงคะแนนเสียงนำร่องประชาธิปไตย และปล่อยตัวผู้ประท้วงฯ โดยไม่เอาผิด
องค์กรนิรโทษกรรมสากลฯ ย้ำว่า สิทธิมนุษยชนในจีนต้องก้าวไปไกลกว่านี้ รัฐบาลจีนต้องให้การรับรองความมั่นคงในสิทธิการครองที่ดินของประชาชนตลอดจนพิทักษ์สิทธิ์ในการส่งเสียงสะท้อนความพอใจหรือไม่พอใจ ตลอดจนกำหนดบทลงโทษการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนบีบบังคับไล่ที่