xs
xsm
sm
md
lg

ปักกิ่งห้ามนกพิราบบินระหว่างประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมคอมมิวนิสต์จีนในวันที่ 8 พ.ย.นี้ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจตรารายการสิ่งที่อาจเป้นภัยคุกคามอำนาจปกครอง และหนึ่งในนั้น ก็มี นกพิราบ ด้วย (ภาพ รอยเตอร์ส)
รอยเตอร์--ขณะนี้สิ่งที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้อันตธานหายไปจาก “กรง” ตามตรอกซอยทั่วกรุงปักกิ่ง... มิใช่หมายถึง “กลุ่มที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาล” หากเป็น “นกพิราบ” ต่างหาก...

ก่อนการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์เต็มคณะครั้งที่ 18 เริ่มการประชุมในวันที่ 8 พ.ย.นี้ ซึ่งในที่ประชุมจะรับรองกลุ่มผู้นำใหม่ที่จะปกครองแผ่นดินจีนในสิบปีข้างหน้า หน่วยรักษาความมั่นคงของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่สุดแสนจะระแวดระวังเรื่องเสถียรภาพ ได้ตรวจตรารายการสิ่งที่อาจเป็นภัยคุกคามทั้งหลายทั้งปวง ทั้งคน ทั้งสัตว์ และอื่นๆ

สิ่งที่อยู่ในความคิดสงสัยของผู้นำคอมมิวนิสต์แดนมังกร มิใช่เพียงกลุ่มนักรณรงค์สิทธิหรือการปฏิรูปประชาธิปไตยเท่านั้น หากยังได้รวมถึงหูจับหน้าต่างด้านหลังของรถแท็กซี่ เพื่อที่จะปกป้องการโปรยแจกใบปลิวที่อาจบ่อนทำลายอำนาจปกครองบนท้องถนน บอลลูน และเครื่องบินจำลอง เครื่องบินเล็ก การกระทำทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างภาพลักษณ์สมานฉันท์ในช่วงที่จะมีการถ่ายโอนอำนาจผู้นำประเทศจากประธานาธิบดีหู จิ่นเทา สู่ทายาทผู้นำรองประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่กำลังเปิดฉากในสองวันนี้แล้ว

ผู้ต้องสงสัยตัวเอ้ที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อการประชุมสมัชชาพรรคฯ คือ นกพิราบ

หลี่ จงเหอ วัย 65 ปี คนงานก่อสร้างที่เกษียณอายุงานแล้ว บอกกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า เขาต้องเก็บนกพิราบที่เลี้ยงไว้ 40 ถึง 50 ตัว ไว้ในตาข่ายที่ล้อมเป็นเขตปิด ระหว่างการประชุมสมัชชาพรรคฯ

“ผมชินเสียแล้ว ทุกครั้งที่จะมีประชุมใหญ่พรรคฯ ก็จะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ มากมาย แต่คราวนี้มีมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งห้ามมิให้นกออกมาบิน”

ชาวปักกิ่งนิยมเลี้ยงนกพิราบเป็นงานอดิเรก แต่ก็มักมีคนใช้นกพิราบเป็นสื่อในการเคลื่อนไหวรณรงค์ อาทิ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 กลุ่มที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลได้ปล่อยฝูงนกพิราบ ที่มีริบบิ้นเขียนข้อความรณรงค์ผูกติดที่เท้าของพวกมัน โบยบินไปเหนือท้องฟ้าในภาคใต้ของจีน

สมาคมนกพิราบแห่งปักกิ่ง (Beijing Carrier Pigeon Association) ก็ได้ประกาศทางออนไลน์ เลื่อนการแข่งขันประจำฤดูใบไม้ร่วง ที่ปกติจะเปิดการแข่งขันระหว่างที่มีการประชุมสมัชชาพรรคฯ ไปจนเดือน ธ.ค. โดยในประกาศฯ มิได้ระบุเหตุผลใด นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ได้แฟกซ์สอบถามถึงเหตุผลฯ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใด

หู เจี่ย หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาล ซึ่งได้เดินทางออกจากปักกิ่งไปอยู่ที่บ้านเกิดของพ่อที่มณฑลอันฮุยก่อนการประชุมสมัชชาพรรคฯ กล่าวว่ามาตรการความปลอดภัยระหว่างการประชุมพรรคฯครั้งนี้ เข้มงวดมากมากกว่าครั้งใดๆ เข้าขั้น "ประสาทวิตกจริต" ทีเดียว
คนงานกำลังติดตั้งป้ายโฆษณาชวนเชื่อ เชิดชูสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ นอกวัดตงเย่ว์ อันเก่าแก่ถึง 700 ปี กลางกรุงปักกิ่ง วันที่ 5 พ.ย. 2555 (ภาพ รอยเตอร์ส)
ห้ามคำไม่เป็นมงคล เช่น “ตาย”

บรรดาคนขับรถแท็กซี่ในปักกิ่ง ได้รับคำสั่งจากบริษัทของพวกเขาว่า ให้เอาหูจับออกจากหน้าต่างด้านหลัง คนขับแท็กซี่ แซ่สีว์ บอกว่า ข้อความจากบริษัทของเขายังได้แจ้ง ห้ามเปิดหน้าต่างระหว่างที่รถแล่นผ่านจัตุรัสเทียนอันเหมิน และยังมีคำสั่งห้ามรับผู้โดยสารที่จะเดินทางเข้ามาร้องทุกข์บริเวณตึกที่ทำการรัฐบาล แต่ให้พาพวกนี้ไปยังสถานีตำรวจแทน คนขับแท็กซี่อีกคนแซ่หาน บอกว่า เขาได้รับคำสั่งให้หลีกเลี่ยงรับผู้โดยสารที่มีกระเป๋าหลายใบด้วยเหตุผลความมั่นคงปลอดภัย

ทั้งนี้ระหว่างการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์เต็มคณะที่จัดทุก 5 ปี มักมีผู้ร้องทุกข์จากทั่วประเทศ เดินทางมายังเมืองหลวงเพื่อร้องทุกข์หรือประท้วง

หนังสือพิมพ์เป่ยจิง นิวส์ รายงานว่า ทางการได้ระดมกำลังมากกว่า 1.4 ล้านคน คอยจับตาดูแลทั่วกรุงปักกิ่ง เพื่อเสริมมาตรการความมั่นคง

ระหว่างนี้ ประชาชนต่างบ่นกันระงมเรื่องความช้าสปีดหอยทากของอินเทอร์เน็ต อันเป็นผลมาจากเจ้าหน้าที่หน่วยเซ็นเซอร์กำลังปฏิบัติการตรวจสอบเว็บไซต์ต่างๆเพื่อลบเนื้อหาที่อาจบ่อนทำลายอำนาจรัฐ ตำรวจในปักกิ่งยังห้ามประชาชนเล่นเครื่องบินจำลองที่ควบคุมด้วยรีโมท รถประจำทางต่างๆ ที่แล่นไปในทิศทางบริเวณ “ศูนย์การเมือง” จะต้องปิดสนิท เพื่อป้องกันการ “โปรยใบปลิวหรือข้อความต่างๆ” ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยของนิตยสารชั้นนำจีน "ไฉจิง"

นอกไปจากนี้ ระหว่างการประชุมสมัชชาพรรคฯ เพื่อถ่ายโอนอำนาจผู้นำนี้ เจ้าหน้าที่ยังห้ามแม้กระทั่ง คำอันไม่เป็นมงคลหรืออับโชคต่างๆ เช่น “ตาย” หรือ คำว่า “ลง” จากเพลงต่างๆ ที่ออกอากาศทางรายการโทรทัศน์

จากรายงานองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ในสหราชอาณาจักรเผยว่า นับตั้งแต่เดือน ก.ย.เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ได้จับกุม หรือกักบริเวณประชาชน อย่างน้อย 130 คน ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่มักเกิดขึ้นก่อนการประชุมทางการเมืองครั้งสำคัญๆ ของจีน

หลิว ชาชา นักรณรงค์สิทธิในปักกิ่ง บอกว่าเธอถูกบังคับให้เดินทางออกจากปักกิ่งไปอยู่ที่บ้านเกิดที่มณฑลเหอหนันเมื่อวันที่ 22 ต.ค.

“ทีแรกพวกเขาก็เข้ามาด้วยท่าทีดี พอฉันเข้าไปในรถยนต์ พวกเขาก็เอาถุงผ้าสีดำมาคลุมหัวของฉันไว้ เมื่อฉันพยายามที่ดึงมันออกเพื่อจะได้หายใจได้สะดวก พวกเขาก็มัดมือฉันไว้ ฉันโกรธมาก” หลิวบอกกับผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์

ผู้ที่ต้องออกจากกรุงปักกิ่งอีกคนก็คือ Woeser นักเขียนชาวทิเบตชื่อดัง เธอได้รับคำสั่งให้ออกจากปักกิ่งตั้งแต่เดือน ส.ค. “พวกเขาบอกว่าฉันสามารถกลับมาที่ปักกิ่งได้เมื่อการประชุมฯเลิกแล้ว”

Woeser บอกกับผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์จากบ้านเกิดที่ลาซา ซึ่งขณะนี้ลาซาก็อยู่ภายใต้การคุมเข้มความมั่นคง

มาตรการความมั่นคงที่ทางการะดมออกมาใช้อย่างสุดโต่งนี้ สร้างความอึดอัดคับข้องใจแก่ชาวเน็ต พวกเขาได้แต่บ่นกันทางไมโครบล็อก ชาวเน็ตผู้หนึ่งได้เปรียบเทียบการสอดส่องดูแลนี้ กับนวนิยายดังที่เสียดสีอำนาจเบ็ดเสร็จ "1984" ของจอร์จ ออเวลล์ (George Orwell) เป็นเรื่องราวแนวเสียดสีของชีวิตของผู้คนที่ตกอยู่ภายใต้การติดตามสอดส่องของรัฐอย่างน่าขนลุก
กำลังโหลดความคิดเห็น