ปัญหารถแท็กซี่ป้ายดำ หรือรถยนต์รับจ้างผิดกฎหมายทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของภูเก็ต ด้วยการเรียกค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรม ขู่ กระชาก ทำร้ายนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพลตามหน้าโรงแรม และชายหาดต่างๆ ไม่ยอมให้รถจากที่อื่นเข้าไปรับนักท่องเที่ยว จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติร้องเรียนเข้ามามากที่สุด ยากต่อการแก้ไข ทำให้เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับการท่องเที่ยวของภูเก็ตช้านานแล้ว
ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ บางหาดถึงขั้นกระชากนักท่องเที่ยวลงจากรถตู้ รถยนต์ที่ไม่ใช่แท็กซี่ป้ายดำในบริเวณนั้น ทุบตีนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการรถจากที่อื่นๆ ให้มาส่งยังโรงแรม และอีกหลายพฤติกรรมที่ทำลายภาพลักษณ์ของนักท่องเที่ยว แต่ก็มีแท็กซี่ป้ายดำบางคิวที่บริการนักท่องเที่ยวด้วยดี
จังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะขนส่งจังหวัด พยายามที่จะแก้ปัญหามาโดยตลอดแต่ก็ไร้ผล เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้จริงจังกับการแก้ปัญหาดังกล่าว จนกลายเป็นปัญหารื้อรัง สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง
จนรัฐบาลได้สั่งการให้จังหวัดภูเก็ตแก้ปัญหาดังกล่าวให้หมดไป เพื่อดึงภาพลักษณ์การท่องเที่ยวกลับคืนมา ทางจังหวัดภูเก็ตจึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้ จนได้ข้อสรุปที่จะนำรถแท็กซี่ป้ายดำทั้งหมดเข้าระบบด้วยการจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมาย
พบแท็กซี้ป้ายดำมีมากกว่า 3,500 คัน
โดยนายธีรยุทธ์ ประเสริฐผล ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จังหวัดภูเก็ตประสบปัญหาการให้บริการของรถยนต์รับจ้างผิดกฎหมาย (แท็กซี่ป้ายดำ) ในเรื่องของการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว รวมทั้งปัญหาขาดความรับผิดชอบในความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้โดยสาร ทำให้นักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่นในความปลอดภัย ทางจังหวัดภูเก็ตจึงได้หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้ดำเนินการจัดระเบียบรถยนต์รับจ้างผิดกฎหมายให้เป็นรถรับจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมาย
จากผลการสำรวจพบว่า รถแท็กซี่ป้ายดำในภูเก็ตมีทั้งหมด 3,594 คน จำนวน 186 คิว กระจายอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวทั้ง 3 อำเภอ แบ่งเป็นอำเภอเมืองภูเก็ต จำนวน 1,293 คัน 81 คิว อำเภอกะทู้ จำนวน 1,372 คัน 59 คิว และอำเภอถลาง จำนวน 929 คัน 46 คิว ในจำนวน 3,594 คน แบ่งเป็นรถตู้โดยสาร 510 คัน และรถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคล (รถเก๋ง) จำนวน 3,084 คัน
หลังจากได้จำนวนรถรับจ้างผิดกฎหมายทั้งหมดแล้ว ทางขนส่งได้ร่วมกับท้องถิ่นและ 3 อำเภอ ลงไปทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการทั้ง 3,594 คัน ในการเข้าสู่ระบบที่ทางจังหวัดภูเก็ตกำหนดขึ้น และมีรถรับจ้างผิดกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบให้จดทะเบียนเป็นรถยนต์บริการ หรือรถป้ายเขียว จำนวน 2,882 คัน คิดเป็นร้อยละ 93 โดยรถเหล่านี้จะมีการติดสติกเกอร์ชื่อเจ้าของรถ และหมายเลขประจำรถทุกคัน รวมทั้งเบอร์โทรสายด่วน เพื่อเป็นข้อมูลหากเกิดปัญหาในการให้บริการนักท่องเที่ยว ทางจังหวัดภูเก็ตจะได้ตรวจสอบได้สะดวก และรวดเร็ว
นายธีรยุทธ์ กล่าวอีกว่า การนำรถรับจ้างผิดกฎหมายมาจดทะเบียนเป็นรถป้ายเขียว มีปัญหารถรับจ้างผิดกฎหมายประมาณ 1,500 คัน มียอดค้างชำระกับสถาบันการเงิน (ติดไฟแนนซ์) จำนวนเงินประมาณ 640 ล้านบาท หากจดทะเบียนเป็นรถยนต์บริการ (รถป้ายเขียว) ต้องชำระค่าค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนสัญญาประมาณ 30,000-50,000 บาท/คัน สร้างปัญหาให้แก่เจ้าของรถยนต์รับจ้างดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวทางขนส่งจังหวัดภูเก็ตได้เสนอไปยังกรมขนส่งทางบกในการประสานกับสถาบันการเงินในการพิจารณาลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนสัญญาดังกล่าว โดยส่วนของขนส่งจังหวัดภูเก็ตจะเชิญสถาบันการเงินในภูเก็ตมาหารือ และรับทราบนโยบายของแต่ละบริษัทว่ามีแนวทางในการที่จะเข้ามาสนับสนุนนโยบายของจังหวัดภูเก็ตได้อย่างไรบ้างในสัปดาห์หน้า
เพิ่มรถบริการนักท่องเที่ยวที่สนามบิน
นายธีรยุทธ์ ยังกล่าวถึงรถรับจ้างที่ให้ริการอยู่ที่สนามบินภูเก็ต ว่า ขณะนี้รถที่ให้บริการนักท่องเที่ยวอยู่ที่สนามบินภูเก็ตที่ได้รับสัมปทานจากท่าอากาศยานภูเก็ตมีอยู่ 3 บริษัท ประกอบด้วย สหกรณ์บริการรถยนต์บริการธุรกิจภูเก็ต จำนวน 180 คัน บริษัท ไม้ขาว สาคู จำกัด จำนวน 110 คัน และรถแท็กซี่มิเตอร์อีก 80 คัน รวมทั้งหมด 370 คัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซันที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทางผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย จึงได้ยื่นเรื่องขอเพิ่มจำนวนรถรับจ้างที่ให้บริการท่าอากาศยานภูเก็ตเพิ่มอีก 135 คัน แบ่งเป็นของสหกรณ์บริการรถยนต์บริการธุรกิจภูเก็ต 65 คัน บริษัท ไม้ขาว สาคู จำกัด 40 คัน และแท็กซี่มิเตอร์อีก 30 คัน ซึ่งจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างท่าอากาศยานภูเก็ต ขนส่งจังหวัดภูเก็ต และบริษัทที่ให้บริการทั้ง 3 บริษัท ในเร็วๆ นี้
สำหรับราคาค่าโดยสารนั้น จะมีการกำหนดราคาของแต่ละคิวขึ้นมาโดยผ่านการเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการแต่ละคิว ในการกำหนดราคาที่ชัดเจน พร้อมประกาศให้ผู้ใช้บริการเห็นชัดๆ
เปิดเดินรถโดยสารเชื่อมสนามบิน-แหล่งท่องเที่ยว 3 เส้นทาง
ส่วนรถรับจ้างประจำทางจากสนามบินภูเก็ตไปยังจุดท่องเที่ยวสำคัญๆ ของภูเก็ตนั้น นายธีรยุทธ์ กล่าวว่า ทางสำนักงานขนส่งภูเก็ตได้ประกาศรับคำขอจัดการเดินรถโดยสารประจำทาง หมวด 4 ในเส้นทางท่าอากาศยานภูเก็ต 3 เส้นทาง เมื่อวันที่ 12 พ.ย.-26 ธ.ค.2555 นี้ ประกอบด้วย เส้นทางท่าอากาศยานภูเก็ต-ราไวย์ ออกจากท่าอากาศยานภูเก็ต-อำเภอถลาง-โลตัส-เซ็นทรัล-ห้าแยกฉลอง-ราไวย์ เป็นรถบัสปรับอากาศ (Airport Bus) 30 ที่นั่ง จำนวน 8-10 คัน ออกทุกครึ่งชั่วโมง อัตราค่าโดยสารในเบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 72 บาท แต่คิดว่าไม่น่าจะคุ้มทุน
เส้นทางที่ 2 ท่าอากาศยานภูเก็ต-หาดกะตะ กะรน ผ่านอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร-เชิงทะเล-กมลา-ป่าตอง-หาดกะตะ กะรน ใช้รถบัสปรับอากาศ 32 ที่นั่ง จำนวน 8-10 คัน ค่าโดยสาร 72 บาท และเส้นทางที่ 3 ท่าอากาศยานภูเก็ต-กมลา โดยกำหนดเงื่อนไขเหมือนกัน ทั้งนี้ เพื่อสร้างทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยวและชาวภูเก็ต เพราะการใช้บริการรถโดยสารประจำทางราคาจะถูกกว่ารถลิมูซีนและรถแท็กซี่มิเตอร์
ส่วนรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างนั้น จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการจัดระเบียบมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเร็วๆ นี้เช่นกัน เพื่อจัดระเบียบมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่เพิ่มขึ้นมาก จากเดิมที่มีประมาณ 400 คิว ปัจจุบัน เพิ่มเป็น 800 คิว กว่า 5,000 คัน โดยจะมีการหารือถึงราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรม การแต่งกาย และการใช้วาจากับผู้โดยสาร เป็นต้น
การแก้ปัญหารถแท็กซี่ป้ายดำในภูเก็ต หน่วยงานภาครัฐเดินมาถูกทางแล้ว เพียงแต่จะต้องเข้มงวดในการควบคุมให้รถแท็กซี่เหล่านั้นปฏิบัติตามกฎหมาย และเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยว