พัทลุง - ลุงวัย 52 ยังยึดอาชีพทำน้ำตาลโตนด แม้ว่าจะเป็นคนสุดท้ายของหมู่บ้านแหลมดิน อ.ปากพะยูน ที่ทำอาชีพนี้ เผยรายได้ดีถึงเดือนละประมาณ 20,000 บาท
ที่บ้านแหลมดิน ม.1 ต.เกาะนางคำ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่ติดริมทะเลสาบพัทลุง-สงขลา ลักษณะดินส่วนใหญ่จะเป็นดินเปรี้ยว เพาะปลูกอะไรไม่ค่อยได้ผล และในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นใช้เป็นเส้นทางผ่าน และนำเมล็ดตาลโตนดมาปลูกไว้ โชคดีตาลโตนดดังกล่าวอายุยืนยาวตกทอดมาถึงปัจจุบัน แต่กลับเป็นที่น่าเสียดายยิ่งนักเมื่ออาชีพทำน้ำตาลโตนดกลับไร้การสืบทอด ทั้งที่สร้างรายได้มหาศาลในแต่ละปี
มีแต่เพียง ลุงมานพ แดงสว่าง อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 35/1 ม.1 ต.เกาะนางคำ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง เท่านั้นที่ยังยึดอาชีพขึ้นตาลโตนดขาย โดยลุงมานพเป็นคนรุ่นสุดท้ายของหมู่บ้านที่ยึดอาชีพนี้ และปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดสืบทอดต่อ
ลุงมานพ เปิดเผยว่า ต้นตาลในหมู่บ้านมีประมาณกว่า 3,000 ต้น เมื่อก่อนชาวบ้านร้อยละ 80 ประกอบอาชีพขึ้นตาลโตนด แต่ปัจจุบัน เหลือตนเพียงคนเดียว เพราะส่วนใหญ่เลือกที่จะทำงานที่สบาย และมีความเสี่ยงน้อยกว่า ทั้งนี้ ต้นตาลของตนมีประมาณ 200 ต้น ปัจจุบัน ที่ตนเก็บเกี่ยวผลผลิตน้ำตาลสดอยู่เพียง 18 ต้นเท่านั้น เนื่องจากด้วยความชรา และสายตาที่พร่ามัว ประกอบกับสุขภาพไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน
ลุงมานพ ยังกล่าวอีกว่า คนขึ้นตาลต้องมีใจรัก เพราะเคล็ดลับที่ทำให้ได้ผลผลิตน้ำตาลสดออกมาเยอะนั้นต้องผ่านกรรมวิธีหลายกระบวนการ การเก็บเกี่ยวต้องตื่นแต่เช้าตรู่ คือตั้งแต่ 04.30 น. ส่วนช่วงบ่ายก็ประมาณ 14.00 น. หลังจากนั้นก็จะนำน้ำตาลสดมาเคี่ยวประมาณ 6-8 ชม. จนเป็นน้ำตาลเหลว จำหน่ายในราคาปี๊บละ 1,000 บาท โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ ส่วนรายได้โดยประมาณอยู่ที่ 20,000 บาท/เดือน สามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำแก่ครอบครัว
ทั้งนี้ อาชีพขึ้นตาลโตนดเป็นอาชีพที่เหนื่อยกว่าการกรีดยางพาราซึ่งเป็นอาชีพยอดนิยมของชาวใต้ และเสี่ยงตายมากกว่า ส่วนช่วงเดือนที่เก็บเกี่ยวผลผลิตคือ ช่วงกุมภาพันธ์-กรกฎาคมของทุกปี และช่วงที่ให้ผลผลิตน้ำตาลสดมากสุด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ช่วงชุมช่อของตาลโตนด” คือ ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และในขณะที่ช่วงฤดูฝนจะหยุดการเก็บเกี่ยวเช่นเดียวกับยางพารา
และแม้ว่าวันนี้บรรดาหนุ่มสาวในหมู่บ้านเลือกที่จะทำงานในเมืองหลังจากเรียนหนังสือจบ เนื่องจากสบายกว่า แต่ลุงมานพยังหวังลึกๆ ว่า วันหนึ่งคงจะมีใครสักคนที่เต็มใจจะมาสืบทอดภูมิปัญญาการทำน้ำตาลโตนดของบรรพบุรุษที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้คงอยู่คู่กับบ้านแหลมดินสืบไป