xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอนร่วมเป็นเจ้าภาพงานศพ “อังศุมาลินเมืองไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้าแก้ว หว่าละ ชาว อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน อดีตภรรยาทหารญี่ปุ่น ที่สร้างตำนานรัก “อังศุมาลินเมืองไทย” โด่งดังถึงแดนปลาดิบ
แม่ฮ่องสอน - ผู้ว่าฯ เมืองสามหมอกร่วมเป็นเจ้าภาพงานศพ “ยายแก้ว-อังศุมาลินเมืองไทย” ที่เคยเป็นผู้เล่าเรื่องกองทัพญี่ปุ่นยกทัพบุกพม่าผ่าน “ขุนยวม” ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีชื่อดังไกลถึงญี่ปุ่น จนองค์จักรพรรดิพระราชทาน “จอกสาเก” ให้ผู้แทนพระองค์นำมามอบให้ถึงบ้าน

รายงานข่าวจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนแจ้งว่า นางนฤมล ปาลวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เป็นเจ้าภาพและประธานในการสวดอภิธรรมศพคุณแม่แก้ว จันทสีมา หรือนางแก้ว หว่าละ ชาวอำเภอขุนยวม อดีตภรรยานายทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตำนานรักของอังศุมาลินเมืองไทย ที่ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคชราในวัย 86 ปี ที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อคืนวันที่ 18 ส.ค. 55 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้ศพตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดดอนเจดีย์ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน โดยทางญาติกำหนดทำการฌาปนกิจที่สุสานเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนในวันที่ 23 ส.ค. 55 นี้

สำหรับนางแก้วถือว่า เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังในอำเภอขุนยวม ซึ่งเป็นถิ่นฐานบ้านเกิด จนได้รับการขนานนามให้เป็นอังศุมาลินของเมืองไทย เพราะในอดีตสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อราวปี พ.ศ. 2484 ทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการในการที่จะบุกไปประเทศพม่า และผ่านเขต อ.ขุนยวม

ปรากฏว่ามีทหารญี่ปุ่นชื่อ สิบเอก ฟูคูดะ ฮิเตียว ได้รับบาดเจ็บจากภัยสงครามเข้ามารักษาตัวกับนายปั๋น จันทสีมา พ่อของนางแก้ว ที่มีความรู้ในด้านการรักษาด้วยสมุนไพร หรือหมอพื้นบ้าน ซึ่งขณะที่สิบเอก ฟูคูดะรักษาอาการบาดเจ็บอยู่นั้นมีนางแก้วคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อมีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติทั้งคู่จึงตกลงครองรักกัน จนมีพยานรักเป็นชายด้วยกัน 1 คน ชื่อนายบุญอาจ จันทะสีมา ปัจจุบันเป็นข้าราชการครูบำนาญ

แต่หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ญี่ปุ่นได้ส่งเครื่องบินมารับตัวสิบเอก ฟูคูดะกลับไป หลังจากนั้นนางแก้วก็ได้แต่รอคอยวันที่สามีทหารญี่ปุ่นจะกลับมา แต่ก็ไร้วี่แวว

จนภายหลังนางแก้วได้กลายเป็นบุคคลสำคัญของ อ.ขุนยวม เนื่องจากเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของอำเภอ โด่งดังไปถึงประเทศญี่ปุ่น มีสำนักข่าวทั้งในและต่างประเทศพากันมาสัมภาษณ์ เนื่องจากนางแก้วสามารถเล่าเรื่องราวความเป็นมาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีบริษัทถ่ายทำภาพยนตร์เดินทางมาถ่ายทำด้วย

ในช่วงที่มีชื่อเสียงโด่งดังในประเทศญี่ปุ่นนั้น ทางจักรพรรดิญี่ปุ่นได้พระราชทานถ้วย หรือจอกสาเกแก่นางแก้วไว้เป็นที่ระลึก โดยให้ผู้แทนพระองค์นำมามอบให้ถึงบ้าน

โดยก่อนจบชีวิตลง เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 54 นางแก้วได้ล้มป่วยด้วยโรคชรา ญาติส่งเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นระยะเวลารวม 9 เดือน จนเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 55 โดยทางญาติกำหนดทำการฌาปนกิจที่สุสานเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนในวันที่ 23 ส.ค. นี้

ขณะที่นางนฤมล ปาลวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้สั่งให้ทางอำเภอดูแลช่วยเหลือในการจัดการศพของนางแก้ว และกล่าวเสียดายเพราะตั้งใจจะเชิญนางแก้วไปร่วมเปิดอนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์ทหารญี่ปุ่นที่ดำเนินการก่อสร้างขึ้นใหม่ แต่นางแก้วก็มาด่วนจากไปเสียก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น