xs
xsm
sm
md
lg

คาดโลมาเกยตื้นที่ภูเก็ตกลับเข้าฝูงแล้วหลังไม่พบตั้งแต่ปล่อยลงทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากยังเฝ้าติดตามลูกโลมาเพศผู้ที่ถูกคลื่นซัดเกยตื้นที่หาดกะรน เผยล่าสุดยังไม่พบตัว คาดว่าน่าจะกลับเข้าฝูงได้แล้วหลังปล่อยกลับสู่ทะเล เร่งศึกษาทำคอกล้อมในทะเลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ลดความเครียดของสัตว์
ลูกโลมาขณะเกยตื้นที่หาดกะรน
นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเล สถาบันวิจัยพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง และป่าชายเลย กล่าวถึงการติดตามช่วยเหลือลูกโลมากระโดดเพศผู้ อายุประมาณ 1-2 ปี หนัก 15 กิโลกรัม ซึ่งถูกคลื่นซัดเข้ามาเกยตื้นที่บริเวณหาดกะรน เมื่อวันเสาร์ที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลเข้าช่วยเหลือนำตัวมารักษาในเบื้องต้นก่อนนำปล่อยกลับสู่ทะเลในช่วงบ่ายวันเดียวกันที่บริเวณเกาะแก้ว หน้าหาดกะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ว่า หลังจากที่ทางกลุ่มสัตว์ทะเลหายากร่วมกับทางศูนย์อนุรักษ์ที่ 5 ภูเก็ต นำลูกโลมาที่ช่วยเหลือมาได้ไปปล่อยกลับสู่ทะเลระหว่างเกาะแก้วกับหาดกะรน ก็ได้มีการติดตามพฤติกรรมของลูกโลมามาโดยตลอด

แต่จนถึงขณะนี้ ไม่พบลูกโลมาอยู่ในจุดที่เจ้าหน้าที่นำไปปล่อยแต่อย่างใด รวมทั้งจากการติดตามข่าวจากเครือข่ายก็เป็นที่น่ายินดีว่า ยังไม่มีการแจ้งเรื่องของโลมาเกยตื้นกลับเข้ามา ซึ่งเป็นความหวังที่สำคัญว่า ลูกโลมาอาจจะกลับเข้าฝูงได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการเฝ้าติดตามต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่าลูกโลมาจะสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ ซึ่งในส่วนของโลมาตัวดังกล่าวก็ยังเป็นห่วงในเรื่องของการติดเชื้อภายใน แต่จากการดูสภาพร่างกายพบว่า ยังมีร่างกายที่แข็งแรง และหวังให้รอดชีวิตต่อไป
นำกลับมารักษาก่อนปล่อยกลับสู่ทะเล
นายก้องเกียรติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับสาเหตุที่ไม่นำลูกโลมาตัวดังกล่าวมารักษาที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากก็เนื่องจากต้องการที่จะให้โลมาซึ่งดูแล้วว่ายังมีร่างกายที่แข็งแรงได้อยู่ในแหล่งอาศัยที่เป็นธรรมชาติ เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่นำมารักษา หรือเลี้ยงในบ่ออนุบาลจะทำให้โลมาเกิดความเครียด เมื่อเครียดก็จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา คือ กล้ามเนื้ออักเสบ ภูมิคุ้มกันต่ำลง และโอกาสที่จะหายมีน้อยมากซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ไขปัญหาในการดูแลสัตว์ทะเลหายาก และเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพขึ้น ขณะนี้กำลังมองหาวิธีที่จะทำคอกล้อมในทะเลเพื่อนำสัตว์ที่ป่วยไปรักษาในพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของเขาเอง โดยเฉพาะโลมา และพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสัตว์ที่มีความฉลาด และเป็นสัตว์ที่มีสังคม สัตว์เหล่านี้เมื่อมีการจับมาอยู่ในที่ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยของมันจะมีอาการเครียดทันที ซึ่งเรื่องของการทำคอกนั้นขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ แต่ถ้าทำได้ก็จะเพิ่มศักยภาพในการรักษา และโอกาสรอดชีวิตของสัตว์ทะเลเหล่านี้มากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น