xs
xsm
sm
md
lg

ลูกโลมาถูกคลื่นซัดเกยตื้นที่ภูเก็ตอาการดีขึ้นโอกาสรอด 50-50

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เผยอาการลูกโลมาเพศเมียถูกคลื่นซัดเกยตื้นหาดไม้ขาวเริ่มกินอาหารเองได้ แต่ยังต้องเฝ้าดูอาการใกล้ชิด โอกาสรอด 50-50 ขณะที่เต่าทะเลที่ถูกคลื่นซัดเกยตื้นสรุปยอดล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 50 ตัว ส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บจากถูกเศษอวนบาด

สำหรับความคืบหน้าการรักษาลูกโลมาเพศเมียซึ่งถูกคลื่นซัดเข้ามาเกยตื้นที่หาดไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุด วันนี้ (6 ต.ค.) เจ้าหน้าที่ได้ทำการรักษา และเฝ้าติดตามอาการของลูกโลมาเพศเมียตัวดังกล่าวอย่างใกล้ชิดมาเป็นเวลากว่า 10 วันแล้ว โดยทางกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ภูเก็ต ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามอาการตลอด 24 ชั่วโมง

น.ส.พัชราภรณ์ แก้วโม่ง สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กล่าวว่า จากการเฝ้าติดตามอาการให้การรักษาลูกโลมาซึ่งมีอาการป่วยติดเชื้อภายใน และถูกคลื่นซัดเข้ามาที่บริเวณชายหาดไม้ขาวนั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด ล่าสุดตอนนี้อาการดีขึ้นบ้างเล็กน้อยเนื่องจากลูกโลมาสามารถกินอาหารปลาเป็นชิ้นได้ และระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี แต่โอกาสรอดก็ขึ้นอยู่กับตัวลูกโลมาเองด้วยว่าจะฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้ามองในแนวทางการรักษาตอนนี้โอกาสรอดก็อยู่ที่ประมาณ 50-50

สำหรับการเฝ้าดูอาการของลูกโลมานั้นยังต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ว่าขณะนี้โลมาเริ่มกินอาหารได้เองแล้ว แต่ก็ต้องให้อาหารเสริมทางสายยางควบคู่ เนื่องจากสภาพร่างกายยังอ่อนแอมาก นอกจากนั้น อาการกล้ามเนื้ออักเสบก็ยังมีอยู่ ส่วนอาการติดเชื้อภายในก็ยังต้องให้ยารักษา เพราะฉะนั้น โอกาสรอดยังไม่แน่นอน เพราะที่ผ่านมา โลมาที่เข้ามาเกยตื้นส่วนใหญ่จะมีอาการติดเชื้อรุนแรงมาแล้ว การรักษาทำได้เพียงพยุง และรักษาตามอาการเท่านั้น

น.ส.พัชราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโลมาตัวล่าสุดที่นำมาดูแลรักษานั้นได้มีการตรวจเลือด พบว่า ลูกโลมามีการตอบสนองของร่างกาย และมีภูมิคุ้มกันดีขึ้น ส่วนกล้ามเนื้อที่อักเสบทางเจ้าหน้าที่ได้กายภาพบำบัดด้วยการพยายามให้ลูกโลมาว่ายน้ำได้เองโอกาสจะหายเป็นปกติหรือไม่นั้นก็ต้องรอดูอาการต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมาหลังจากนี้ โดยทางเจ้าหน้าที่จะต้องดูแลควบคุมไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และพยายามรักษาอาการติดเชื้อเดิมให้ดีขึ้น

ส่วนการดูแลรักษาเต่าทะเลที่ได้รับบาดเจ็บจากถูกเศษอวนบาด และถูกคลื่นซัดเข้ามาเกยตื้นนั้น นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ กล่าวว่า จากการสำรวจตัวเลขล่าสุดพบว่า ในช่วงมรสุมนี้มีเต่าทะเลที่ได้รับบาดเจ็บและถูกคลื่นซัดเข้ามาเกยตื้นแล้วกว่า 50 ตัว อาการส่วนใหญ่มาจากสาเหตุเดียวกัน คือ ถูกเศษอวนจากการทำประมงรัดตัวได้รับบาดเจ็บ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ก็ต้องดูแลอนุบาลรักษาบาดแผลภายนอกทุกวัน บางตัวอาการหนักต้องผ่าตัด และตัดขาที่ถูกอวดรัดจนแผลเน่าทิ้งเพื่อรักษาชีวิตเต่าทะเลไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น